อยากลองก็ออกมาดู จะจับให้ดู "พล.อ.ประยุทธ์-พระเมธีธรรมจารย์"

อยากลองก็ออกมาดู จะจับให้ดู "พล.อ.ประยุทธ์-พระเมธีธรรมจารย์"

หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันอย่างหนักแน่งจะยังไม่มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากว่ายังมีความเห็นต่างและความขัดแย้ง

ขณะที่ล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมายก็ออกมายืนยันว่าท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะทำการพิจารณาว่าจะแต่งตั้งสังฆราชหรือไม่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ตรวจฯถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่ขัดมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ว่า ทางผู้ตรวจการฯ ได้มีการหารือกันและเห็นว่าขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชว่าต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี และให้ มส. เห็นชอบก่อนที่นายกฯ จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้า ซึ่งการพิจารณาของผู้ตรวจการฯ ไม่ได้ดูว่าใครจะเป็นผู้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ดูเฉพาะกระบวนการ ดังนั้น ยืนยันว่าสิ่งที่ผู้ตรวจการฯดำเนินการไปถูกต้องแล้ว เพราะได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลด้วยความรอบคอบ

ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว นายกฯย่อมต้องมีความรับผิดชอบในการกลั่นกรองบุคคลที่ได้รับการนำเสนอด้วย โดยที่มาตรา 7 กำหนดไว้ว่าต้องทูลเกล้าฯบุคคลที่สามารถดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งกินความหมายกว้างมาก ทั้งกรณีสุขภาพ และกรณีอื่น ๆ ด้วย จึงต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของนายกฯที่จะพิจารณา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเสนอรายนาม สมเด็จพระสังฆราช ตามมติของมหาเถรสมาคม เป็นไปตามขั้นตอนของมาตรา 7 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 พร้อมย้ำว่า ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณะศักดิ์ รวมถึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่า การเสนอรายนามเป็นหน้าที่ของใคร นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า สามารถทำได้ทั้ง 2 ฝ่าย คือ รัฐบาล และ มส. แต่ต้องเป็นไปตามมติของ มส. เท่านั้น พร้อมยืนยันว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจสั่งการให้รัฐบาลปฏิบัติตาม เป็นเพียงข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าข้อกฏหมายได้ระบุเอาไว้ว่าอำนาจในการแต่งตั้งสังฆราชอยู่ที่นายกรัฐมนตรีแต่ว่า ฝ่ายของคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งซึ่งนำโดย พระเมธีธรรมาจารย์ก็ยังออกมากดดันถึงขนาดออกเป็นแถลงการณ์ให้เวลานายกรัฐมนตรีดำเนินการ 7 วัน ในการดำเนินการแต่งตั้งสมเด็จสังฆราช

พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า

 

1.ขออนุโมทนาต่อจิตอันประกอบไปด้วยกุศลของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความกระจ่าง ตรงไปตรงมา ไม่มีการเมืองแอบแฝง เป็นที่พึ่งของสังคมได้ในภาวะที่กระบวนการยุติธรรมถูกมองด้วยความเคลือบแคลง สงสัย

 

 2.ขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ตามมติอันถูกต้องนั้นดำเนินการไปตามกระบวนการดังที่ควรจะเป็น

 

 3.ขอให้รัฐบาลฟังความเห็นให้รอบด้าน รอบคอบ คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยอันดีงามในหมู่สงฆ์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

 

 4.ขอให้กลุ่มบุคคลที่สร้างเรื่อง สร้างสถานการณ์เพื่อร้อยรัดข้อกฎหมายและเจตนาจะสร้างมลทินให้เกิดขึ้น ได้ตระหนักถึง บาป บุญ คุณโทษ กลับใจและเลิกปฏิบัติก่อเวรเสีย

 

5.องค์กรพุทธพร้อมภาคีเครือข่ายจะรอดูท่าทีทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้องภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะกำหนดท่าทีร่วมกันในการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ

สืบเนื่องจากพระเมธีธรรมาจารย์ออกมากดดันให้นายกรัฐมนตรี เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ตามมติของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะรอดูท่าทีภายใน 1 สัปดาห์  จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่ายังไงก็ต้องจับอยู่ดี เพราะผิดกฎหมาย ผมไม่ปล่อยปละละเลย

การสร้างเงื่อนไขของพระเมธีธรรมาจารย์ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองต่อจากนี้อีก 7 วันต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด แต่ในครั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศออกมาอย่างแข็งกร้าวว่าหากพระเมธีธรรมาจารย์ ออกมาเคลื่อนไหวที่ผิดกฏหมายจำนำไปสู่การจับกุมทันที เพราะฉะนั้นต้องติดตามกันว่าพระเมธีธรรมาจารย์จะออกมาเคลื่อนไหวท้าทายอำนาจรัฐหรือไม่

ขณะที่อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในวันนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวันยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์คัดค้านการเสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นสมเด็จพระสังฆราช คนที่ 20

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อม นพ.มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์เอกวัดพระธรรมกาย      กล่าวว่า เหตุที่ต้องคัดค้านนั้น เนื่องจากสมเด็จช่วงยังมีคดีความติดตัว มีการล่วงละเมิดพระธรรมวินัย จึงขอให้ตรวจสอบก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏ สมเด็จช่วงมีการครอบครองรถเบนซ์ผิดกฎหมาย คดีอยู่ในการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยพบว่า มีการจ่ายเงินค่ารถเบนซ์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการผิดพระธรรมวินัย ที่ห้ามพระนำเงินทองไปซื้อขายแลกเปลี่ยน ประเด็นนี้เห็นว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบเพื่อความสง่างาม

 

 นอกจากนี้ ตนยังได้ยื่นให้ดีเอสไอตรวจสอบสมเด็จช่วง กรณีให้การช่วยเหลือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เรื่องพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เข้าข่ายกระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ที่สำคัญ ในวันที่ 9 มิ.ย.2559 ที่วัดพระแก้ว สมเด็จช่วง ในฐานะประธานในพิธีต้องนำสวดบทถวายพระพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 บทก่อน แต่กลับข้าม ไม่นำสวดบทถวายพระพร ซึ่งได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ตรวจสอบสาเหตุและข้อเท็จจริงแล้ว