คนไทยแห่ชื่นชม "พล.อ.ประยุทธ์"ใช้มาตรา44 ทวงคืนที่ดินสปก.

คนไทยแห่ชื่นชม "พล.อ.ประยุทธ์"ใช้มาตรา44 ทวงคืนที่ดินสปก.

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือที่ดิน สปก. โดยมิชอบกฎหมาย ซึ่งคำสั่งดังกล่าวประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 59 ที่ผ่าน

 

ตลอดระยะเวลาหลงจากที่ออกคำสั่งมาพบว่ามีปฏิบัติการเชิงรุกซึ่งเกิดขึ้นจริงมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับเสียงชื่นชมมาอย่างต่อเนื่อง

13 กรกฎาคม พื้นที่ ต.ระเริง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  จำนวนพื้นที่กว่า 600 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ถูกนายทุนซื้อทิ้งไว้ และผู้ถือครองไม่ยอมให้ความร่วมมือกับ ส.ป.ก.ในการเข้าไปยึดคืนเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร แต่อยู่ในแผนที่ที่เข้าข่ายถือครองโดยมิชอบตามกฎหมาย ที่ต้องปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่ง ม.44 ของ คสช.

 

นอกจากนี้จะปักป้ายปิดประกาศ 4 จุด ตามคำสั่งของ คสช. ได้แก่ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ใช่การประกาศยึดทันที แต่เป็นการประกาศให้ผู้ที่ถือครองที่ดินดังกล่าว มายื่นเอกสารและหลักฐานการถือครองภายใน 15 วัน ตามกรอบกฎหมาย หากมายื่นเอกสารแล้วก็ต้องมีกรอบระยะเวลาตรวจสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน ถ้าตรวจสอบแล้วปรากฏว่าถือครองโดยมิชอบตามกฎหมาย ก็จะยึดคืนมาทันที เพื่อนำไปจัดสรรให้เกษตรกรต่อไป

ขณะที่ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางมาเป็นประธานในการปิดป้ายประกาศ โดยมีเป้าหมายตามแผนที่ 1 แปลงกว่า 600 ไร่ ที่ ต.ระเริง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

8 กรกฎาคม ส.ป.ก.กาญจนบุรี ดำเนินการตามมาตรา 44 ด้วยการยึดคืนที่ดินในเขตพื้นที่ อ.ไทรโยค และแปลงแรกมีพื้นที่จำนวน 931-0-83 ไร่ ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ผู้ที่บุกรุกคือ วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในอดีต ส่วนแปลงเป้าหมายที่พบเพิ่มอยู่ติดกับวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน มีเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่

ซึ่งในพื้นที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี ได้ตรวจยึดที่ดิน ส.ป.ก.ที่นางเพียงใจ หาญพาณิชย์ อายุ 92 ปี มารดาของ นายอนันต์ อัศวโภคิน  ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ครอบครอง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ล่าสุดนางเพียงใจ ได้ส่งมอบที่ดิน 1,263 ไร่ ที่ หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยก จ.กาญจนบุรี คืนให้ ส.ป.ก.

 

โดยนางเพียงใจ ได้เดินทางไปยังขอพบ นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กาญจนบุรี จากนั้นเปิดเผยถึงการได้มาของที่ดินแปลงดังกล่าวว่า ซื้อมาเมื่อปี 2532 ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งนั้นมีกลุ่มนายหน้ามาเสนอขายที่ดินให้ ที่จริงแล้วไม่ใช่เนื้อที่ 1,263 ไร่ แต่เนื้อที่จริงที่ซื้อ คือ 3,000 ไร่ โดยซื้อมาในราคาไร่ละ 120,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36 ล้านบาท ต่อมากลุ่มนายหน้า รวมทั้งกลุ่มผู้กว้างขวางในพื้นที่ยุคสมัยนั้น ได้ข่มขู่จะเอาชีวิต และเข้ามาโกงเอาที่ดินไปเป็นจำนวนมาก จนเหลือแค่ 1,263 ไร่ จึงตัดสินใจนำป้ายมาปักเป็นที่ส่วนบุคคลเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาบุกรุกที่ดินอีก

7 กรกฎาคม พ.อ.ธวัชชัย รักอาชีพ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดตรัง (ฝ่ายทหาร) สนธิกำลังประมาณ 150 นาย เข้าดำเนินการตรวจสอบยึดคืนพื้นที่ป่าในพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.วังมะปรางเหนือ และ ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนชี-ทอนแจ้ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประบางคราม พื้นที่รอยต่อตรัง-กระบี่-นครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นผืนป่าต้นน้ำ “คลองชี” สายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวอำเภอวังวิเศษ รวมจำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวมประมาณกว่า 100 ไร่

เพื่อให้เกิดความชัดเจนย้อนกลับไปพิจารณากันอีกรอบกับคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญคือ เมื่อปี พ.ศ. 2536 คณะรัฐมนตรี ได้มีการส่งมอบพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมเพื่อนำพื้นที่ไปจัดให้กับเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันพบว่ายังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจรังวัดอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ให้ความร่วมมือในการปฏิรูปที่ดิน หรือแม้กระทั่งในบางรายได้คำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว แต่การส่งมอบที่ดินคืนให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปดำเนินการต่อไปนั้น ยังไม่ได้รับการกฏิบัติตามคำพิพากษา

ข้อ ๑ ในคําสั่งนี้ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ที่ดิน ดังต่อไปนี้

 

(๑) ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ ๕๐๐ ไร่ ขึ้นไป

 

(๒) ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิเข้าทําประโยชน์แล้วและครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่ผู้ได้รับการจัดที่ดินมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๑๐๐ ไร่ ขึ้นไป

 

(๓) ที่ดินที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๕๐๐ ไร่ ขึ้นไป

 

การกําหนดพื้นที่เป้าหมายตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกําหนด

ข้อ ๒ เมื่อสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกําหนดพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๑)ให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปิดประกาศพื้นที่เป้าหมายไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ว่าการอําเภอ ที่ทําการกํานันที่ทําการผู้ใหญ่บ้าน และที่ทําการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งท้องที่ซึ่งพื้นที่เป้าหมายตั้งอยู่

เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้นายอําเภอ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปิดประกาศนั้น มีหน้าที่รักษาความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของประกาศด้วย

ข้อ ๓ ให้ผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมายตามข้อ ๑ (๑) ยื่นคําร้องเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น ต่อสํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศตามข้อ ๒ และให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตรวจสอบหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินของผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กําหนด