"ฉันกำลังจะหายไป"!?..."เมย์-รัชนก" กกท.ยันช่วยเต็มที่ ซัดส.แบดฯบกพร่อง!

"ฉันกำลังจะหายไป"!?..."เมย์-รัชนก" กกท.ยันช่วยเต็มที่ ซัดส.แบดฯบกพร่อง!


การกีฬาแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือช่วยแจง โอลิมปิกสากล ยัน "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ ไม่มีเจตนา กรณีพบสารกระตุ้นในร่างกาย ขณะที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยวอนสื่อหยุดเสนอข่าวให้รอความชัดเจน ด้านเจน ปิยะทัต ที่ปรึกษาทีมแกรนนูลาร์โจมตีแพทย์สมาคมขนไก่ไทย บกพร่องส่งผลนักแบดมินตันหญิงมือ 1 ของไทย อาจโดนแบนชวดลุยโอลิมปิก
        การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.ส่งหนังสือช่วยแจง โอลิมปิกสากล ยืนยัน "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ ไม่มีเจตนา กรณีพบสารกระตุ้นในร่างกาย ขณะที่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยวอนสื่อหยุดเสนอข่าวให้รอความชัดเจน ด้านเจน ปิยะทัต ที่ปรึกษาทีมแกรนนูลาร์ โจมตีแพทย์สมาคมขนไก่ไทย บกพร่องส่งผลนักแบดมินตันหญิงมือ 1 ของไทย อาจโดนแบนชวดลุยโอลิมปิก
          ความเคลื่อนไหวกรณีที่ "เมย์" รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 4 ของโลก ตกเป็นข่าวถูกตรวจพบสารต้องห้าม และมีโอกาสถูกแบนจากสังเวียนและถูกตัดสิทธิ์ไป โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่บราซิล ระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้
          หลังตกเป็นข่าวครึกโครมผู้บริหารสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ รวมถึง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคม ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ยังไม่ได้รับรายงานจากสหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิลยูเอฟ) พร้อมกับยืนยันว่าไม่สามารถให้ข้อมูลใดกับสื่อมวลชนได้ ต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการ ซึ่งพร้อมจัดการแถลงข่าวทันทีเช่นกัน ตอนนี้ขอความร่วมมือต่อสื่อทุกแขนงให้รอการยืนยันจากสหพันธ์แบดมินตันโลกเท่านั้น
          ด้านนายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ "ตอนนี้เรายังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์แบดมินตันโลก อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือนักกีฬาอยู่แล้ว เราได้เตรียมการในเรื่องนี้ไว้แล้ว หากมีการยืนยันมาอย่างเป็นทางการเราก็พร้อมจะชี้แจงกับทางสหพันธ์ฯ เรายังมุ่งหวังว่า รัชนก จะได้ไปโอลิมปิก"
          นอกจากนี้ ยังมีความพยายามช่วยเหลือ รัชนก จาก นพ.มีชัย อินวู๊ด ผู้อำนวยการกองกีฬาเวชศาสตร์ ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาของ "กกท." ในฐานะแพทย์ประจำทัพนักกีฬาไทย ในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2016 เปิดเผยว่า ขั้นตอนในการตรวจหาสารต้องห้ามทัพนักกีฬาไทยระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อมก่อนเดินทางไปแข่งขันนั้น ไม่มีนักกีฬาคนใดพบการใช้สารต้องห้าม และได้ส่งผลการตรวจสารต้องห้ามไปถึงคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เรียบร้อยแล้ว แต่ในกรณีของ รัชนก เป็นการตรวจพบก่อนหน้านี้ จึงได้ทำการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าใช้เพื่อการรักษา และอยู่ระหว่างฟังผลว่าจะสามารถช่วยนักกีฬาได้หรือไม่

  "เวลานี้ได้ดำเนินการตรวจปัสสาวะของนักกีฬาทุกคนเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่พบว่ามีการใช้สารต้องห้ามแต่อย่างใด ซึ่งฝ่ายไทยได้ยืนยันผลการตรวจสารต้องห้ามไปถึงไอโอซีเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไอโอซีได้ส่งหนังสือกลับมายังประเทศไทย รวมถึงอีกหลายๆ ชาติ ให้ดำเนินการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬาอีกรอบเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเดินทางไปแข่งขัน ซึ่งมีการเจาะจงชนิดกีฬาที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้สารต้องห้ามในข้อมูลที่ไอโอซีมีอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้"
          ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตจากนายเจน ปิยะทัต ที่ปรึกษาสโมสรแบดมินตันแกรนนูลาร์ ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการแบดมินตันมาอย่างยาวนาน ถึงสาเหตุของการตรวจพบสารกระตุ้นในครั้งนี้ ในการแข่งขันประเภททีมหญิง ชิงแชมป์โลก อูเบอร์คัพ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่เมืองคูชาน ประเทศจีน โดยก่อนการแข่งขัน "เมย์" ได้รักษาอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า ภายใต้การดูแลของสมาคมแบดมินตันฯ ทว่าไม่มีการแจ้งกับ "วาดา-เอเชีย" ว่ามีการใช้ยาตัวใดรักษา ทำให้ส่งผลกระทบมาถึงขนไก่สาวมือ 1 ของไทย
          "การแข่งขันครั้งนั้น เป็นการแข่งในนามทีมชาติไทย ซึ่งมีการตรวจสารกระตุ้นก่อนแข่งขันอยู่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของทางสมาคมฯ ตามไปดูแลและให้ข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ เพราะจะต้องมีการกรอกแบบสอบถามประมาณว่า "ก่อนแข่งกินยาอะไรมาบ้าง หรือมีการรักษาอาการต่างๆ โดยยาชนิดใด" ซึ่งทีมแพทย์ประจำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางสมาคมฯ ต้องเป็นผู้ดำเนินการช่วยเหลือให้กับนักกีฬา"

    "ในฐานะที่แกรนนูลาร์ส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศเป็นประจำ และนักกีฬาก็ต้องผ่านการรักษาอาการบาดเจ็บมาทั้งสิ้น ส่วนตัวผมมีหน้าที่เข้าไปชี้แจงว่าได้ใช้ตัวยาใดรักษาไปบ้าง ซึ่งอาการบาดเจ็บหัวเข่าเช่นเดียวกันนั้น จะใช้ตัวยา "สเตียรอยด์" ในการรักษา ซึ่งอยู่ในข่าวของสารกระตุ้น แต่ถ้ามีการแจ้งก่อนตรวจ ฝ่ายจัดก็จะดูว่าเป็นการใช้เพื่อการรักษาจริงหรือไม่ ซึ่งกรณีของน้องเมย์ไม่มีใครไปแจ้ง ทำให้ถูกลงโทษไปตามกฎระเบียบ"
          ทั้งนี้ นายเจน ยังเผยถึงโทษที่จะได้รับหากได้รับการยืนยันว่าผิดจริงๆ คือการโดนแบนถึง 4 ปี ซึ่งจะมีผลทันที ทำให้มีโอกาสที่จะถูกถอนตัวจากการแข่งขัน โอลิมปิก 2016 ในเดือนหน้านี้ด้วย "อย่างกรณีของ ลี ชอง เหว่ย นักแบดมินตันชายเดี่ยวชาวมาเลเซีย ต้องโทษแบน 2 ปี แต่สมาคมฯ ของเขาได้ยื่นเอกสารยืนยันว่ามีการใช้ยาเพื่อการรักษา ทำให้เหลือโทษแบนเพียง 8 เดือน ดังนั้น หากต้องการช่วยน้องเมย์เบื้องต้น คือให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ช่วยยืนยันผลการรักษา ซึ่งโทษจะได้รับน้อยลง แต่คิดว่าคงจะไม่ทันการแข่งขันโอลิมปิก ที่จะมาถึงอย่างแน่นอน"

          ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา