ช็อค! พบอีกกว่า 20 มหาวิทยาลัย ทุจริตหากินกับนักศึกษาซ้ำรอย มรภ.ชัยภูมิ-สุรินทร์

ช็อค! พบอีกกว่า 20 มหาวิทยาลัย ทุจริตหากินกับนักศึกษาซ้ำรอย มรภ.ชัยภูมิ-สุรินทร์

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. รศ.นพ.กำจร  ตติยกวี  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กล่าวว่า  ขณะนี้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ และมรภ.ชัยภูมิ โดยขอให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และรองอธิการบดี ให้พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ  เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ถือ เป็นแนวทางเบื้องต้น  แต่ระยะยาว จะต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสาระสำคัญไว้ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา มีลักษณะเดียวกับคำสั่งในม.44 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าถ่วงดุลอำนาจสภามหาวิทยาลัย  เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สภามหาวิทยาลัย เป็นองค์กรสูงสุด ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีใครเข้าไปดูแลได้

อย่างไรก็ตาม คำสั่งม.44 ไม่ใช่เป็นการเข้าไปล้วงลูก แต่เข้าไปดูแลการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเรียบร้อยขึ้น  ซึ่งแกนหลักคือ มหาวิทยาลัยที่มีพฤติกรรมตามข้อ 4 ของคำสั่งคสช. ฉบับนี้ ที่ ระบุว่า  จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา หรือมาตรฐานหลักสูตร จนอาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่นิสิต นักศึกษา ระบบการศึกษา สังคม หรือประเทศชาติ  จงใจหลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษา หรือคำสั่งของ รมว.ศึกษาธิการ ที่สั่งการตามคำสั่งนี้ หรือตามกฎหมาย นายกสภาฯ กรรมการสภาฯ หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต  ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษา จนสภาฯ หรือสถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  มหาวิทยาลัยเหล่านี้หาก กกอ.เห็นว่า มีปัญหา ก็สามารถส่งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบได้ แต่เบื้องต้นจะให้โอกาสสภามหาวิทยาเหล่านี้ ได้แก้ปัญหาให้ได้ก่อน  

 “จากนี้มหาวิทยาลัยที่รู้ตัวว่า มีปัญหา ทั้งที่เคยเข้ามายื่นหนังสือร้องเรียนกับ รมว.ศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยที่มีปัญหายืดเยื้อมานาน ขอให้สภาฯ กลับทบทวน และหาทางแก้ปัญหาให้ได้  กกอ.จะยังไม่เข้าไปตรวจสอบอะไร  ส่วนจะให้เวลาสภาฯ ในการแก้ปัญหานานแค่ไหน คงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา แต่คงให้เวลาไม่นานนัก หาก ไม่เร่งแก้ไข ก็อาจจะเป็นคิวถัดไป ซึ่งรมว.ศึกษาธิการ มีอำนาจในการออกคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น อยู่ในความควบคุมของ สกอ.”รศ.นพ.กำจร กล่าว

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ปัญหา มีอยู่ประมาณ 10% ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 20 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องการรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รับทราบ จำนวน 11 แห่ง นอกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาการทุจริต ของผู้บริหาร ความแตกแยกของสภาฯ กับฝ่ายบริหาร  สภาฯ อาศัยช่องทางกฎหมายสั่งปลดอธิการบดี

 

ที่มา คมชัดลึก