ยิ่งใกล้ยิ่งเดือดนับถอยหลังประชามติร่างรธน.ผ่านไม่ผ่านหรือเส้นทางปท.ต้องฝากไว้ที่ "พล.อ.ประยุทธ์" ต่อไป

ยิ่งใกล้ยิ่งเดือดนับถอยหลังประชามติร่างรธน.ผ่านไม่ผ่าน หรือเส้นทางปท.ต้องฝากไว้ที่ "พล.อ.ประยุทธ์" ต่อไป

นับถอยหลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม คำถามที่ทุกคนต้องการทราบมากที่สุดคือ ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งแน่นอนว่าหากว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็จะมีโรดแมป ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องนำไปสู่การเลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางไนต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นคำถามที่หลายคนให้ความสนใจในประเด้นนี้อย่างยิ่ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่า ขั้นตอนในการร่างใหม่ว่าจะต้องเป็นอย่างไร ใช้เวลากี่วันในการร่างใหม่ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจริง แต่ยังเป็นไปตามโรดแม็ป ส่วนการร่างใหม่จะเสร็จหรือช้า อยู่ที่ว่าใช้กี่คนในร่าง ถ้าร่างไม่กี่คนก็เสร็จเร็ว ถ้าหลายคนก็ร่างช้า เพราะมากคนก็มากความ แต่ถ้าไม่กี่คนก็ร่างเร็ว

ไม่อยากเอาเรื่องของวันเวลามาผูกมัด เดี๋ยวจะกลายเป็นเอาคำพูดไปเล่นกัน ว่ายึดโรดแม็ป วัน เดือน ปี ไม่สามารถพูดชัดเจนได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสื่อก็รู้ว่าขึ้นอยู่กับอะไร แต่ทั้งนี้ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดหลังจากรู้คะแนนประชามติ

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ใครจะเป็นคนตีความว่า ที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เกิดจากสาเหตุอะไร นายวิษณุ ตอบว่า ตนไม่ทราบใครจะเป็นคนตีความ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน บางทีดูกันก็รู้แล้ว สามารถเดาได้ เช่น ดูจากคะแนนของจังหวัดดูภาค ย่านไหน มีคะแนนออกมาเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ มันดูได้ มันพอจะบอกได้ เหมือนกับคะแนน ส.ส.บางพรรค เวลาจะเช็กคะแนนนิยม รู้ว่าสามารถเช็กได้จากตรงไหน คนกรุงเทพฯ คิดอย่างไร คนภาคไหนเลือกกี่เปอร์เซ็นต์ แค่นี้ก็เดาหน้าตาออกได้ถึงความนิยมของพรรค

เมื่อถามว่า ผลต่างคะแนนระหว่างรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เอาเป็นว่าถ้าไม่ผ่านก็ร่างใหม่ ส่วนการร่างใหม่จะมีขั้นตอนอย่างไร จะเอาฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาปรับหรือไม่ ตนไม่ทราบ ไม่รู้จริงๆ ถ้าดัดจริตตอบไปเดี๋ยวคนก็จะบอกว่ารู้ได้อย่างไร เกิดตนตอบไปเป็น X อาจจะมีคนพร้อมใจให้ผลออกมาเป็น Y วันนี้มีหลายอย่างในประเทศไทยที่ตั้งใจให้เป็นอย่างหนึ่ง แต่คนพูดกันมาก ก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยความเสียดาย ทั้งๆ ที่อันเดิมก็ดีแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะใช้ไปถึงเมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช้ไปถึงปี 60 แต่ถึงกระนั้น มีการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 2 หน เมื่อถามว่ามีวิธีเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่ให้มีการฉีกได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ถ้าฉีกก็จะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตนเชื่อว่าการฉีก บางครั้งเราไปนึกภาพอะไรบางอย่างกันไปมาก แต่บางครั้งการฉีกก็เป็นเรื่องที่ผู้คนต้อนรับขับสู้ เพราะถ้าเราไปคิดว่าไม่สามารถฉีกได้ รัฐธรรมนูญ 2475 ก็จะไม่เกิด.

เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากเรื่องดังกล่าว คงต้องไปดูเรื่องของอำนาจในการตัดสินใจที่จะไปอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ซึ่งก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยพูดออกมาแล้วว่าถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นผู้เขียนร่างฉบับใหม่ขึ้นมาเอง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยวันนี้ (18 ก.ค.) ได้เผยแพร่ภาพสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ บนเฟซบุ๊ก "Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)" ชี้แจงถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป็นตอนแรก ว่า ในร่างรัฐธรรมของ นายมีชัย ฤชุพันธ์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีสิ่งใหม่ที่บัญญัติเอาไว้คือ เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก และเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองในวันข้างหน้า ซึ่งตนตัดสินใจลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

          ทั้งนี้ ตนได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มวลมหาประชาชนเรียกร้อง และตนได้ศึกษาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ โดยตนเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว ก็เขียนเอาไว้ในหลายมาตราด้วยกันนั้น มีความหมายและความสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ก็ได้เผยแพร่ภาพสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เกี่ยวกกับประเด็นเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยนายจตุพรได้พูดถึงเรื่องที่มีข่าวออกมาว่าจะมีการยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคโดยได้กล่าวโจมตีรัฐบาลว่าหากคิดจะยกเลิกโครงกาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นจะเป็นผลกระทบต่อประชาชนชาวลากหญ้า โดยนายจตุพรก็ได้พูดโจมตี ถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของคสช.อีกด้วย

 

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุไม่สามารถกำหนดเวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยว่า ทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน อาจเกิดความไม่แน่นอน หรืออาจต้องยืดโรดแมปออกไปมาก ทำให้คนคล้อยตาม ถ้าอย่างนั้นควรให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ซึ่งความจริงไม่จำเป็นต้องยืดเวลาหรือเลื่อนเลือกตั้งออกไป และทำให้การเลือกตั้งเร็วขึ้นยังทำได้ด้วยซ้ำไป ด้วยการให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งก่อน แล้วค่อยหากระบวนการร่างใหม่ โดยมีประชาชนมีส่วนร่วม จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

        

นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เหลือเวลาเพียง 3 สัปดาห์ก่อนวันลงประชามติ แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจสาระรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศ นอกจากการเปิดพื้นที่เสรีภาพแล้ว ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญควรเข้าถึงสื่อของรัฐอย่างเท่าเทียม ตนขอถามว่าถ้ากฎหมายให้ทำได้ ทำไมผู้มีอำนาจหน้าที่และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไม่เร่งจัดให้มีเวทีให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุยหรืออภิปราย(ดีเบต) เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่เพียงเท่านั้น กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่าสถานการณ์บ้านเมืองทุกอย่างกำลังดีขึ้น ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค เพราะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำตามแผนโรดแมป เพื่อคืนความสุขให้บ้านเมือง มีเสียงเรียกร้องจากชนชั้นกลาง และนักธุรกิจ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ พร้อมให้โอกาสรัฐบาลทำงานอีกระยะหนึ่ง แต่ยังมีการเลือกตั้งใหญ่อยู่ เชื่อว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่อีกนาน และอาจอยู่นานกว่านายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ส่วนปฏิกิริยานานาชาติ ที่กดดันให้มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งนั้น เป็นข้ออ้างนักการเมืองที่่เสียผลประโยชน์มากกว่า

 

ช่วงเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ น่าผ่านพ้นไปได้ด้วยดีไม่มีปัญหา แต่หลังทำประชามติ แผนโรดแมปอาจเคลื่อนไปบ้าง เพราะได้ดูในศาสตร์มีวัฏสงสาร ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายออกไปเป็นปี หลังจากนั้น ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่น่าเกิดความรุนแรงอีกยกเว้นกลุ่มที่เดือดร้อน หรือเสียผลประโยชน์ แต่ประชาชนอยากเห็นความสงบสุขมากกว่า เพราะทุกคนมีเงื่อนไขทำเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ ทุกคนยอมรับอยู่แล้ว