คำตอบสุดท้ายของ "อภิสิทธิ์" และ "ประชาธิปัตย์" ที่มีต่อร่าง รธน.จะออกมาเป็นอย่างไร...???

ท่าทีที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะมีความเห็นว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายนั้นก็กำลังจับตามองคำตอบจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค

อีกหนึ่งแง่มุมของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังนับถอยหลังไปสู่การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม นั่นก็คือท่าทีที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะมีความเห็นว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายนั้นก็กำลังจับตามองคำตอบจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค ซึ่งล่าสุดมีการเปิดเผยว่าเตรียมที่จะมีการแถลงข่าวก่อนการทำประชามติประมาณ 9 ถึง 10 วัน ทั้งนี้ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีความเห็นออกมาอย่างไรก็ย่อมสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยเนื่องจากว่าเป็นพรรคที่มีมวลชนให้การสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเปิดพื้นที่ให้สถานีโทรทัศน์จัดรายการให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ มาแสดงความเห็นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.59 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานไว้ ว่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากประชาชนยังไม่รับทราบเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในการพิจารณา โดยเห็นว่าการถกเถียงเรื่องเนื้อหาควรทำในช่วงที่ยังมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญได้จึงจะเป็นประโยชน์ ดังนั้น โดยส่วนตัวจะไม่เข้าร่วมเป็นวิทยากรในรายการดังกล่าว

ส่วนจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในขณะนี้ไม่สามารถจัดประชุมพรรคได้ แต่แกนนำพรรคได้มีการพูดคุยกันแล้ว ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนการออกเสียงประชามติ ราว 9 - 10 วัน

พร้อมกันนี้ยังมั่นใจว่า หลังการแสดงจุดยืนของหัวหน้าพรรคจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่คนในพรรคเห็นไม่ตรงกัน แต่สุดท้ายเมื่อพรรคมีมติหรือมีข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ถือว่าทุกอย่างยุติ

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าได้ร่วมลงชื่อในคำแถลงว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ฉบับที่ 2 ของกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใยว่า ตนได้ร่วมลงชื่อตั้งแต่คำแถลงครั้งแรกที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยเห็นว่าการทำประชามติควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่หลากหลายเป็นธรรมชาติเพื่อให้บรรยากาศการทำประชามติมีผลในการเรียนรู้และทำให้ประชามติเป็นของส่วนรวม

ซึ่งตนได้สัมผัสกับประชาชนในพื้นที่พบว่าคนไม่ให้ความสำคัญกับการทำประชามติเพราะกฎหมายห้ามหลายอย่างจนไม่กล้าทำอะไรกลายเป็นการไม่สนใจทำให้ไม่มีข้อมูลรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เมื่อจะลงคะแนนก็ไม่มีความรู้แต่ใช้วิธีการสอบถามความเห็นจากคนที่ตัวเองไว้ใจว่าควรลงคะแนนอย่างไร กลายเป็นการออกเสียงประชามติตามความเชื่อและเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์หรือการชี้นำของกลไกรัฐ

ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับหลักการของกลุ่มนี้ที่เสนอให้รัฐปรับบทบาทและแนวคิดใหม่ให้นำไปสู่การทำประชามติที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งยังทำได้ในเวลาที่เหลืออยู่และทำให้เงินสามพันล้านไม่สูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

นายสาธิต กล่าวด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมลงชื่อกับกลุ่มนี้ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ โดยเป็นการลงชื่อกับองค์กรที่หวังดีต่อประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการลงประชามติและหวังให้ผู้มีอำนาจปรับปรุงวิธีการ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเกี่ยวกับการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เพราะเรื่องนี้ต้องดูหลายมิติทั้งเรื่องเนื้อหา สถานการณ์ทางการเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายของประเทศในการเดินไปพร้อมกัน ไม่ใช่เป็นประชามติที่ฝ่ายหนึ่งต้องการชนะส่วนอีกฝ่ายต้องการดิสเครดิตโดยไม่มีเหตุผลต่อต้องการเอาชนะเพื่อแย่งชิงอำนาจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจต้องคิดวิธีที่เกิดความสมดุลย์ด้วยการปรับทัศนคติของตัวเอง สำหรับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรให้รอดูหลังจากวันที่ 25 ก.ค.2559 ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 24 ก.ค.2559

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประสานงานกับสถานีโทรทัศน์ เพื่อจัดเวทีถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมาตนเคยให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งว่า กกต. น่าจะจัดให้ทีการแสดงความเห็นต่างอย่างเสรีมากที่สุด เพราะจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ประชาชนตัดสินใจได้ว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งการตั้งเวทีแสดงความเห็นช่วงนี้ ก็เป็นการคิดได้ แต่ไม่ทันการณ์แล้ว ถือว่าช้าเกินไปที่จะทำให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ครบถ้วน

นายรามเศ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดีช่วงเวลาที่เหลือทาง กกต. ควรแจกตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ให้ถึงมือประชาชนมากที่สุด ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะประชาชนทุกภาคส่วนเขาสะท้อนออกมาว่า เขาไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องสาระสำคัญของร่าง รธน. อันนี้คือจุดที่ทาง กกต. ไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิผลสักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาการประชามสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้น้อยเกินไป