"พระเมธีธรรมาจารย์" สุดทน "ดีเอสไอ" แจ้งข้อหา "สมเด็จช่วง" เตรียมหารือ เครือข่ายเคลื่อนไหวใหญ่

"พระเมธีธรรมาจารย์" สุดทน "ดีเอสไอ" แจ้งข้อหา "สมเด็จช่วง" เตรียมหารือ เครือข่ายเคลื่อนไหวใหญ่

นอกเหนือจากคดีของสมีคำแล้ว อย่างที่เรียนว่าในวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงข่าวกรณีการครอบครองรถยนต์ของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ และกรณีรถโบราณของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ วัดไผ่ล้อม

ซึ่งในส่วนของ การตรวจสอบรถเบนซ์หรูนั้น ดีเอสไอ แจ้ง 2 ข้อหาสมเด็จสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระมหาศาสนมุนี และผู้ร่วมขบวนการ โดยเอกสารผิดตั้งแต่ขั้นตอนนำเข้าจนถึงการจดทะเบียน เตรียมแจ้งข้อหาผู้ครอบครองฐานเลี่ยงภาษี แจ้งช้อความอันเท็จ มีโทษปรับและจำคุก

พันตำรวจเอก ไพสิฐ  วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ แถลงข่าว กรณีการสอบสวน รถยนต์ยี่ห้อ Mercedes-Benz รุ่น 300 บี การสอบสวนพบมีผู้กระทำผิดแบ่งเป็นกรณี ดังนี้

 

(1) กลุ่มผู้นำเข้าพิธีการศุลกากรต่อกรมศุลกากร

พบความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการปลอมเอกสารการนำเข้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหลงผิดในของที่นำเข้า จึงบ่งชี้ถึงเจตนาผู้นำเข้าว่ากระทำผิดฐาน “ร่วมกันลักลอบหนีศุลกากร หรือ ซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของหนีภาษีศุลกากร” ตามมาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ซึ่งในกลุ่มนี้ได้จับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างเรียกตัวมาแจ้งข้อหาอีก 2 ราย

 (2) กลุ่มผู้ประกอบรถยนต์และชำระภาษีไม่ครบถ้วนต่อกรมสรรพสามิตพบการกระทำผิดว่ามีการปลอมลายมือชื่อโรงประกอบรถยนต์ผู้อื่น และแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ว่าประกอบรถยนต์ แสดงมูลค่าราคารถยนต์ในการขอชำระภาษีสรรพสามิต ราคา 570,000 บาท เพื่อให้มีการเก็บค่าภาษีเข้ารัฐต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ความจริงรถยนต์มีการซื้อขายกันที่ราคา 4,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงถือว่ามีการประกอบรถยนต์จริง ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แต่ชำระภาษีไม่ถูกต้องและครบถ้วน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการส่งเรื่องให้กรมสรรพสามิตประเมินภาษีเพิ่มเติมแล้ว รอผลการพิจารณาของกรมสรรพสามิต

 (3) กลุ่มผู้ที่นำรถไปชำระภาษีและจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกพบการกระทำผิดเกี่ยวกับกรณีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของผู้แจ้งขอจดทะเบียนที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้รับโอนว่ามีการซื้อขายรถยนต์กันที่ราคา 1,000,000 บาท แต่ความจริงมีการซื้อขายรถยนต์กันจริงที่ 4,000,000 บาท ทำให้รัฐรับชำระค่าอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน ทำให้รัฐเสียหายจำนวน 105,000 บาท ขั้นตอนนี้มีความผิดฐาน “ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย, ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน หรือ เอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83

 (4) กลุ่มผู้ครอบครองรถพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการครอบครองรถยนต์ที่ประกอบขึ้นโดยมีการชำระภาษีไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ครอบครองมีการร่วมกันครอบครองต่อเนื่องตั้งแต่การประกอบรถยนต์เสร็จสิ้นจนถึงปัจจุบัน โดยจากพยานหลักฐานเชื่อว่าผู้ครอบครองย่อมรู้ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่ได้มาโดยไม่ชอบตามกฎหมาย อันมีความผิดฐาน “ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน”

ด้าน สมศักดิ์ โตรักษา ทนายความวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเรื่องดังกล่าวจนกว่าจะเห็นสำนวนจากทางดีเอสไอ และยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และพระมหาศาสนามุนี หรือเจ้าคุณแป๊ะ อยู่ในฐานะพยาน ยังไม่มีข้อกล่าวหา ที่สำคัญก่อนหน้านี้ทางดีเอสไอ ก็ออกมาระบุว่า ยังไม่สรุปสำนวน เพราะรอหลักฐานจากต่างประเทศ แ

ต่อย่างไรก็ตาม หากทางดีเอสไอบอกว่าสรุปสำนวนเสร็จแล้วจริง ก็ให้ว่ามาตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งหากจะมีหมายเรียกมา ทางสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ก็ไม่กังวล เพราะตัวท่านเองก็ยืนยันในความบริสุทธิ์อย่างแน่นอน

ขณะที่ นายชยพล พงษ์สีดา รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า พนักงานสอบสวนของดีเอสไอ จะแจ้งข้อกล่าวหา กรณีรถเบนซ์โบราณ ต่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และพระมหาศาสนมุนี ที่อยู่ในการครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นั้น พศ.ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยืนยันว่ายังไม่การแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่จะอาจจะมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางวัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งรายละเอียดการตอบคำถามในข้อกฎหมายให้เป็นหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกับวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และพศ.ได้ประสานข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องแล้ว

ขณะที่ ตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีสิทธิ์พิเศษอะไรคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ นายชยพล กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ไม่ได้มีกฎหมายไหนคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นกรณีพิเศษ

ขณะเดียวกัน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานกำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อข่าวหาสมเด็จพระมหาราชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เลี่ยงภาษีกรณีครอบครองรถหรูว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด จึงไม่สามารถพูดได้ จึงต้องขอดูรายละเอียดก่อน

 

เมื่อถามว่า การถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจะนำไปประกอบการพิจารณาก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ต่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า “ผมขอเรียนว่าขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดอะไรทั้งหมด จึงไม่สามารถตอบอะไรได้สมบูรณ์ ต้องเห็นรายละเอียดก่อนแล้วจะมีคำตอบให้

หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกมาแถลงเสร็จสิ้น ก็มีคำถามที่หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปถึงตำแหน่งสังฆราชของสมเด็จช่วง เพราะแน่นอนว่าก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ได้เคยออกมาระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หากยังเคลียคดรความต่างๆ ไม่แล้วเสร็จจะไม่มีการพูดถึงการแต่งตั้ง สังฆราช

เพราะฉะนั้นตอนนี้คงต้องจับตามองไปที่ฝ่ายสนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพราะอีกครั้งหนึ่งที่พระเมธีธรรมาจารย์ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมของกรมสอบสวนคดีพิเศษและการออกแถลงการณ์ผ่านทางเฟสบุคว่าเตรียมที่จะมีการเคลื่อนไหว และจะไปเกี่ยวโยงกับก่อนหน้านี้หรือไม่

พระเมธีธรรมจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

กล่าวถึงกรณี : กรมคดีสอบสวนพิเศษแถลงเรื่อง รถยนต์โบราณ

 

ในนามองค์กรพุทธและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ขอชี้แจงเร่งด่วน ดังนี้

1. เราไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของกรมคดีสอบสวนพิเศษ หรือ ดีเอสไอ

2. เราเชื่อมั่นในความตั้งมั่นแห่งศีลที่บริสุทธิ์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ

3. องค์กรพุทธและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

และอีกหนึ่งกรณีการ นั่นคือ ความคืบหน้าการตรวจสอบรถยนต์จดประกอบเลี่ยงภาษีในความครอบครองขอพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม โดยระบุว่ารถคันดังกล่าวผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น เป็นการตั้งใจหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยเจตนา

กรณีรถยนต์โบราณยี่ห้อ PANTHER ของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ วัดไผ่ล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว พบว่า รถยนต์ดังกล่าวมีการสำแดงการนำเข้า โครงรถยนต์เป็นยี่ห้อ PANTHER  สำแดงเครื่องยนต์เป็นยี่ห้อ JAGUAR หมายเลขตัวรถ 731 หมายเลขเครื่องยนต์ 8L 66240-L ตรงตามที่ระบุบนแผ่นโลหะที่ติดอยู่ที่เครื่องยนต์ด้านซ้าย ไม่พบร่องรอยการขูดลบหรือแก้ไขหมายเลขตัวถัง หมายเลขเครื่องยนต์ หรือหมายเลขเกียร์ ไม่พบร่องรอยการเจาะบริเวณท่อไอดี ไม่พบรอยเสียดสีใหม่ของน็อตบริเวณใต้ท้องรถยนต์

ผลการสอบสวนพบว่า รถยนต์ดังกล่าวยี่ห้อแท้จริงเป็นรถยนต์ยี่ห้อ PANTHER ไม่ใช่ยี่ห้อ JAGUAR และมีการจดทะเบียนเป็นรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นคัน และมีการขายต่อกัน 2-3 ทอด ก่อนที่พระครูปลัดฯ จะขอซื้อรถยนต์จากเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วทำการจ้างคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ P-BOY แยกชิ้นส่วนออกจากกันเป็นเครื่องยนต์ และโครงตัวถังรถยนต์ ลำเลียงขึ้นเรือต่างลำกัน ต่างวันเวลากัน เพื่อนำเข้ามายังราชอาณาจักรไทย ใช้ชื่อตนเองเป็นผู้นำเข้า “เครื่องยนต์” และมีการปลอมลายมือชื่อนายชรินทร์ฯ นำเข้า “โครงตัวถัง” ก่อนจะทำเอกสารเท็จว่าซื้อโครงตัวถังจากนายชรินทร์ฯ จากนั้นไปทำการจดประกอบเป็นรถยนต์กับ “โรงประกอบ นายธีรวุฒิ จังหวัดสมุทรสาคร” ชำระค่าภาษีสรรพสามิตกับกรมสรรพสามิตถูกต้องและจดเบียนเป็นรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ในชื่อของตนเอง

จากหลักฐานเชื่อว่ารถยนต์คันนี้มีการแยกชิ้นส่วนแล้วนำมาจดประกอบจริง โดยพระครูมีเจตนาแต่ต้นจะนำรถยนต์เข้ามาทั้งคัน แต่ประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำรถยนต์เก่าใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร จึงหลีกเลี่ยงวิธีการนำเข้าด้วยการแยกชิ้นส่วนกัน ทางคดีจึงพิจารณาว่า ผู้นำเข้า “เครื่องยนต์” และ ผู้นำเข้า “โครงตัวถัง” มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอันถือว่าเป็นบุคคลเดียวกัน อันเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “หลีกเลี่ยงอากร” ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ประกอบกับมาตรา 6 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาเรียกเก็บอากรในส่วนที่ขาด (เพิ่มเติม) จากกรมศุลกากร เมื่อได้รับผลแล้วจะได้ดำเนินการเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อหาต่อไป