"อภิสิทธิ์" ไม่รับร่างรธน. อะไรคือจุดยืนของ "ประชาธิปัตย์" กันแน่

"อภิสิทธิ์" ไม่รับร่างรธน. อะไรคือจุดยืนของ "ประชาธิปัตย์" กันแน่

 กรณีที่  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติอย่างไร ล่าสุดก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นายอภิสิทธิ์แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ทันทีที่นายอภิสิทธิ์แถลงเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ถึงการออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นการชี้นำ ซึ่งมีผลต่อการ ออกเสียงประชามติหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่รับก็ไม่รับ ส่วนจะมีผลต่อฐานเสียงของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่นั้น ก็ให้ไปถามพรรคประชาธิปัตย์เอา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์ระบุอยากให้นายกฯ ร่างรัฐธรรมนูญเองหากประชามติไม่ผ่าน โดยนำข้อบกพร่องของร่างฉบับนี้มาทบทวน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาคงพูดประชด และถ้าร่างเองก็ไม่ได้จะร่างคนเดียว ต้องมีการตั้งคณะขึ้นมาร่างใหม่ แต่อยากให้เห็นใจคนที่ร่างมาทั้งสองคณะ ไม่ใช่มองว่าเขาด้อยค่า ถูกดิสเครดิตมาโดยตลอด ต้องสงสารคนทำเขาบ้าง เขาก็หวังดีเต็มที่ เอาปัญหาบ้านเมืองในอดีตมาดูเพื่อว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในอนาคต มีความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับนักการเมือง อย่าไปโจมตีคนร่างเขามาก เพราะอีกหน่อยจะไม่มีคนร่าง ถ้าไม่มีคนในประเทศไทยที่สามารถร่างได้ ตนก็จะร่างคนเดียว

จะไปอะไรนักหนา รัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นต้องวางกรอบการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง และต้องดูว่ารัฐบาลที่มาใหม่จะทำหรือเปล่า คนไทยต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราต้องการสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น แต่ยังทำตัวเหมือนเดิม โดยไม่ฟังเหตุผล ยังขยายความขัดแย้งกันอยู่ แล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทุกอย่างก็เช่น การปล่อยปะละเลย ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง แต่พอวันนี้ผมใช้กฎหมายอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ทุกอย่างกลับสู่ที่เดิม แต่กลับไม่เอาอีก

อย่างการจัดระเบียบรถตู้ก็ต้องแก้ปัญหา ถ้าแบบเดิมประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเป็นแบบนี้อย่ามาพูดกับผม อนาคตไม่เกิด ถ้าต้องการอย่างนั้นจริงก็ค่อยรอ ขอกับรัฐบาลหน้านู่น เพราะผมเข้ามาแก้ปัญหาการปล่อยปละละเลย การเรียกร้องผลประโยชน์"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า การที่นายอภิสิทธิ์ และพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการชี้นำ ซึ่งมีผลต่อการ ออกเสียงประชามติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องถามประชาชน ถ้าเขาดูถูกประชาชนหาว่าไม่รู้เรื่อง แสดงว่ากำลังดูถูกปัญญาประชาชนหรือไม่ ยืนยันว่าประชาชนเขาคิดเป็น ผมอยากให้ประชาชนเข้มแข็ง และแข็งแรงด้วยตัวของท่านเอง ไม่ต้องบไปฟังใครมากนัก ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำวันนี้มันดี เข้าใจว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ก็เรื่องของท่าน แต่ถ้าคิดว่าทำแล้วไม่ดีก็เป็นเรื่องของท่าน เพราะท่านเป็นคนกำหนดชีวิตของท่านเอง อย่าให้ผมเป็นตัวกำหนดมากนักเลย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแถลงจุดยืนของพรรคในวันนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็ไปยืนที่ไหนก็ไป ผมไม่เกี่ยว ไม่มีผล ผมบอกแล้วว่าเป็นเรื่องของบุคคล ใครว่าอย่างไรก็ว่าไปแล้ว แต่ท่านจะยืนหรือจะนั่งผมไม่เกี่ยว

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงวันลงประชามตินั่นคือกลุ่มต่างๆที่ออกมาเคลื่อนไหว และหนึ่งในคือ กรณีที่ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 44/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 5 ให้นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ชั่วคราว เพราะพบว่าเกี่ยวข้องกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ ทราบแต่เพียงว่าทางมณฑลทหารบกที่ 32 และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานเข้ามาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทราบเท่านั้น

เมื่อถามว่า อาจเกิดการกลั่นแกล้งเอาเอกสารบิดเบือนไปยัดไว้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องตรวจสอบกันก่อน ทั้งนี้ ระหว่างสอบเพื่อไม่ให้มีปัญหาก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามที่คำสั่ง คสช.ระบุไว้ แล้วหากต้องดำเนินคดีก็ต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว แต่หากพบว่าไม่ผิดก็ให้รีบรายงานมาเพื่อให้นายกฯออกคำสั่งแก้ไข เยียวยาต่อไป

เมื่อถามย้ำว่า ควรจะตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนระงับการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายวิษณกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะการพักงานไม่ถือเป็นการลงโทษอะไร หากปลดจากตำแหน่งหรือจำคุกต่างหากที่ถือว่าลงโทษร้ายแรง ยืนยันว่าคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่เคยจำคุก ประหาร หรือยิงเป้าใครอยู่แล้ว ทั้งนี้ การพักงานเป็นมาตรการทางปกครอง ถึงไม่มีมาตรา 44 ก็สามารถทำได้ แต่สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทางการเมืองไม่มีกฎหมายให้พักงานเหมือนข้าราชการที่ใช้กฎหมายปกติก็สามารถสั่งให้พักงานได้ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่นายบุญเลิศทำงานอยู่นั้นก็ไม่เป็นไร เพราะคนอื่นสามารถทำงานต่อได้ ส่วนใครจะไปเคลื่อนไหวอะไร เพราะเมื่อมีข่าวเราก็ต้องตรวจสอบ ถ้าเราไม่ทำอะไรก็จะเกิดความยุ่งยาก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาควาสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 44/2559 ให้นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (นายกฯ อบจ.) ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ใน อบจ.เชียงใหม่ ชั่วคราวจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนว่า ตำรวจมีพยานหลักฐานชัดเจนว่านายบุญเลิศ มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ให้ตำรวจสอบสวนไป

 

 ผู้สื่อข่าวถามว่าทางสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านเนื่องจากได้รับผลกระทบด้วยเพราะนายบุญเลิศ เป็นนายกสมาคมฯด้วย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "จะเคลื่อนไหวอะไร ก็เขามีคดี จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ต้องโดนทั้งนั้น ตัวผมเองถ้ามีเรื่องก็ต้องโดนทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องมาอ้างโน่น อ้างนี่ ก็อย่าไปทำผิดเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก ทำตามกฎหมายเท่านั้น"รองนายกฯ กล่าว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 กับ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ ว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าว แต่คิดว่าคงไม่มีผลต่อการทำประชามติ เพราะประชาชนที่จะตัดสินใจว่าจะลงคะแนนอย่างไร ล้วนมีปัจจัยอยู่แล้ว และปัจจัยจะไม่เปลี่ยน ส่วนกรณีที่ นายบุญเลิศเป็นเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยนั้น ตนมองว่าหากเขามีเครือข่ายจริงคงสั่งให้เครือข่ายไม่รับมาตั้งแต่ต้น

ที่พรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากเกิดกระแสเรื่องจดหมายปลอมระบาดในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงกรณีที่ น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ น้องสาว น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ถูกควบคุมตัวว่า การที่ฝ่ายที่เห็นต่างไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพ กลัวจะเข้าข่ายความผิด หลายคนจึงพยายามสื่อข้อความถึงประชาชน โดยใช้วิธีการต่างๆ รวมถึงการส่งจดหมาย แต่ถูกจับกุม ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังระบุไม่ได้ว่า จดหมายปลอมอย่างไร

หากเนื้อหาในจดหมายมีลักษณะตามที่เผยแพร่กันนั้น ยืนยันว่าไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 61 วรรค 2 เพราะเป็นเพียงการแสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิการศึกษา สิทธิผู้สูงอายุ สาธารณสุข ที่จะลดลง ยืนยันว่าในพื้นที่ภาคเหนือไม่มีการทำจดหมายปลอม ไม่มีการสร้างความปั่นป่วน มีแต่การใช้ความร่วมมือ ในการให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติอย่างเสรี

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร นายสามารถ กล่าวว่า น.ส.ทัศนีย์ ได้ไปพบผู้บัญชาการตำรวจภาค 5 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการควบคุมตัวหรือตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ส่วนการจับผู้ที่เตรียมส่งจดหมายที่ จ.ลำพูน อย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการสรุปสำนวนอะไร ตอนนี้ได้ส่งเรื่องมาให้ กกต.กลางพิจารณา ดังนั้น วันนี้กระบวนการทำสำนวนจึงยังไม่มี แต่ที่เดือดร้อนคือการใช้อำนาจพิเศษเข้าควบคุมตัว และสงสัยว่าเพราะคนที่โดนมีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้