รู้ยัง! "พิษสวาท" มีที่มาจากแดนไกล อาจารย์ มช. เผยดัดแปลงจากผีเฝ้าสุสานฟาโรห์ (รายละเอียด)

รู้ยัง! "พิษสวาท" มีที่มาจากแดนไกล อาจารย์ มช. เผยดัดแปลงจากผีเฝ้าสุสานฟาโรห์ (รายละเอียด)

รู้ยัง! "พิษสวาท" มีที่มาจากแดนไกล อาจารย์ มช. เผยดัดแปลงจากผีเฝ้าสุสานฟาโรห์ (รายละเอียด)

มีเสียงชื่นชมไม่ขาดสาย สำหรับ ‘พิษสวาท’ ผลงานประพันธ์ของทมยันตี ที่ทางช่องวันหยิบมาถ่ายทอดเป็นละครออกอากาศทุกวันจันทร์ – อังคาร เวลา 20.30 น. โดยนอกจากในหมู่ผู้ชมคนดูละครแล้ว เหล่านักวิชาการยังให้ความสนใจอีกด้วย

ล่าสุด วันที่ 2 ส.ค. อาจารย์พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ก็ได้ร่วมแสดงความเห็นถึงที่มาของบทประพันธ์เรื่อง ‘พิษสวาท’ อีกด้วยว่า

“เห็นคนชื่นชมละคร “พิษสวาท” กันว่าทำได้ดี ค่ะดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง

แต่อยากบอกให้ทราบพอเป็นความรู้ว่า นิยายเรื่อง “พิษสวาท” ของ “ทมยันตี” นี้ ไม่ใช่เรื่องที่เธอเขียนจากจินตนาการของเธอล้วนๆ ..แต่เป็นนิยายที่ “ทมยันตี” เอามา (ภาษาสมัยนี้เรียกว่า “ยืมพล้อต”) จากนิยายฝรั่งเรื่อง “Ziska” ที่เขียนโดย Marie Corelli นักเขียนระดับปรมาจารย์ชาวอังกฤษ ซึ่งมีชีวิตระหว่างปี 1855 – 1924.. อ้อ เกือบลืม นิยายเรื่อง “Ziska” เขียนในปี 1897

ตามท้องเรื่อง “Ziska” นางเอกเป็นผีนางระบำอียิปต์ที่โดนผัวซึ่งเป็นแม่ทัพของฟาโรห์ หลอกไปฟันคอตายในสุสานฟาโรห์ เพื่อให้เป็นผีเฝ้าสมบัติกษัตริย์ นางเอกเลยพยายามตามหาผัวที่กลับมาเกิดใหม่ หวังหักคอจิ้มน้ำพริก แล้วเอาวิญญาณไปอยู่ด้วยกัน..นางคงเหงา

ถ้าคุณไปอ่าน “Ziska” คุณจะพบว่าทมยันตีเอาเนื้อเรื่องมา แล้วใส่พริกขี้หนูกับน้ำปลาลงไป เพื่อให้ได้กลิ่นรสแบบไทยๆ

อีกเรื่องที่ทมยันตีทำแบบนี้ คือ นิยายเรื่อง “เงา” ซึ่งเอามาจากนิยายเรื่อง “The Sorrows of Satan” ที่ Marie Corelli เขียนในปี 1895

นับว่าฝีมือในการใส่พริกขี้หนูกับน้ำปลาของทมยันตีนั้นระดับเทพทีเดียว เพราะถ้าไม่เคยอ่านฉบับภาษาอังกฤษ จะเชื่อสนิทว่าเธอแต่งขึ้นมาด้วยจินตนาการของเธอเองล้วนๆ

นอกจากนี้ ยังมีนิยายของนักเขียนไทยรายอื่นๆ ทำแบบนี้ เช่น

“สาวเครือฟ้า” ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มาจากบทละครเรื่อง Madame Butterfly (1904) ของ Giacomo Puccini นักประพันธ์บทละครชาวอิตาเลี่ยน

“อุโมงค์ผาเมือง” บทภาพยนตร์ของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ซึ่งดัดแปลงจากเรื่อง “ราโชมอน” ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น เอามาจากเรื่องสั้นเรื่อง Rashomon (1915) ของ Ryunosuke Akutagawa นักเขียนชาวญี่ปุ่น

“ไผ่แดง” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เอามาจากนิยายเรื่อง The Little World of Don Camillo (1948) ของ Giovannino Guareschi นักเขียนชาวอิตาลี

“กาเหว่าที่บางเพลง” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เอามาจากนิยายเรื่อง The Midwich Cuckoos (1957) ของ John Wyndham นักเขียนชาวอังกฤษ
ฯลฯ

ปล. อ่านหนังสือกันเยอะๆนะคะ นอกจากภาษาไทยต้องอ่านภาษาอังกฤษด้วยค่ะ จะได้รู้ทันนักเขียนไทย และรู้ทันความเป็นไทย”

อย่างไรก็ตาม อ.พิชญ์อาภา ยังได้ให้ความเห็นด้วยว่า ละครเรื่องนี้ทำได้ออกมาดี มีความละเมียดละไมโดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยาทีมีการศึกษามาอย่างดี รวมถึงนุ่น – วรนุช ภิรมย์ภักดี ก็สวยและแสดงได้ดีเป็นอย่างมาก

 

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pichaarpa Pisutserani