เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

นายกเทศบาลเมืองสุโขทัย พร้อมทหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบริมตลิ่งแม่น้ำยม ตรงจุดเสี่ยงน้ำทะลักเข้าท่วมเขตเทศบาล เร่งผู้รับเหมานำบิ๊กแบ็กวางเสริม ขณะที่ระดับน้ำวัดล่าสุด 5.90 เมตร ส่วนที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำ

จากเหตุการน้ำท่วมทางภาคเหนื่อ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยนายพิเชฐ ไทยกล้า นายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัย ต.ธานี อ.เมือง พร้อมด้วย นายอธิราช วรรณา รองนายกเทศมนตรีฝ่ายงานป้องกัน พ.อ.อำนาจ ศรีมาก รอง ผบ.กกล.รส.บชร.3 และเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าตรวจสอบริมตลิ่งแม่น้ำยมฝั่งตะวันตก ห่างจากสะพานพระร่วงมาตาม ถ.ประเวศนคร ม.7 ต.ธานี ประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นช่วงทางโค้งของแม่น้ำ และน่าจะเป็นจุดเสี่ยงที่กระแสน้ำจะไหลพุ่งเข้ากระแทกแนวตลิ่งอย่างรุนแรงจนเกิดความเสียหาย หากมีมวลน้ำก้อนโตไหลระบายลงมาจากทางเหนือของจังหวัด

ซึ่งขณะนี้ การก่อสร้างพนังกั้นน้ำสูง 2.50 เมตร ที่บริเวณดังกล่าว ยังไม่แล้วเสร็จ มีเพียงการตอกแผ่นชิพพลายลงไปตามแนวตลิ่งเท่านั้น ทางผู้รับเหมาได้นำบิ๊กแบ็กมาวางเสริมเป็นแนวยาวประมาณ 50 เมตร เป็นการชั่วคราว พบว่าบางจุดเริ่มมีน้ำซึมเข้ามา ทางคณะจึงได้ประสานผู้รับเหมาเสริมบิ๊กแบ็ก เพิ่มอีก 1 ชั้น เพราะหากจุดนี้พังเสียหาย มวลน้ำจะไหลทะลักเข้าท่วมชุมชนเลอไท เขตเทศบาลเมืองสุโขทัย ทันที

นอกจากนี้ คณะยังได้ไปตรวจสอบที่บริเวณทางโค้งหน้าศาลเจ้าใหม่ ถ.คูหาสุวรรณ ต.ธานี ซึ่งมีลักษณะเดียวกัน ได้ให้ผู้รับเหมาเสริมบิ๊กแบ็กตามแนวตลิ่งแม่น้ำยมแล้วเช่นกัน

 

เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

 

 

โดยนายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางเทศบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมกระสอบทรายจำนวน 10,000 ใบ ไว้แจกจ่ายให้กับประชาชน หากเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันแล้ว นอกจากนี้ยังออกเสียงตามสายภายในเขตเทศบาล พร้อมนำรถออกประชาสัมพันธ์ เตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง รับฟังข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดทุกวัน

ด้าน พ.อ.อำนาจ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้เตรียมกำลังพลไว้พร้อมแล้ว หากเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ จ.สุโขทัย ทหารจะเข้าให้การช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ยังได้จัดเวรยามเฝ้าดูและติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. อีกด้วย

สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่จุดวัดน้ำ Y4 หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ถ.นิกรเกษม ต.ธานี อ.เมือง เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (19 ส.ค.) วัดได้ 5.90 เมตร

ส่วนที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำโขงยังเสี่ยงวิกฤติ ภายหลังระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ10 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติแค่ประมาณ 3 เมตร คือที่ระดับประมาณ 13 เมตร เสี่ยงต่อการเกิดน้ำโขงหนุนเอ่อท่วม เนื่องจากทางอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึง จ.นครพนม ในช่วงวันที่ 18-20 สิงหาคม 2559 โดยจากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำพบว่า ในช่วงนี้ระดับน้ำโขงเริ่มปิ่มตลิ่ง ตั้งแต่พื้นที่ อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำโขงหนุนทะลักท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงชุมชนหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำโขง หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง จะทำให้น้ำไหลระบายลงสู่น้ำโขงได้ช้า ซึ่งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครพนม ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง จัดเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง และประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันดูแลให้การช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง

 

เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

 

 

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง และแม่น้ำสายหลัก คือ ลำน้ำสงครามเท่านั้น ที่ต้องเฝ้าระวัง ยังมีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม ที่มีความเสี่ยง เนื่องจากภูมิประเทศติดกับเทือกเขาภูลังกา ทำให้ในช่วงฤดูฝนทุกปี เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านหากมีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในช่วงน้ำโขงเพิ่มสูงใกล้จุดวิกฤติ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ มากเกือบ 1,000 ครัวเรือน โดยล่าสุดชาวบ้านได้เตรียมพร้อมจัดเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง และจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง หากมีฝนตกติดต่อนานหลายชั่วโมง อาจจะเกิดปัญหาน้ำป่าไหลลงจากเทือกเขาภูลังกา เข้าท่วมหมู่บ้านในช่วงกลางดึก

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดวันนี้ (19 ส.ค.) ตรวจสอบระดับน้ำ ที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนยกตัวขึ้นอยู่ที่ 14.97 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เหนือกว่าจุดวิกฤติ 0.97 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับน้ำมี การแปรผันอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากน้ำที่รับมาจากน้ำทางภาคเหนือ มีการรับ-ส่ง และระบายอยู่ตลอดเวลา ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวอยู่ที่ 5.54 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้นายฎรงค์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำหลากในพื้นที่ จ.พะเยา น่าน และแพร่ กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยคาดการณ์ว่า อีกประมาณ 4-5 วัน มวลน้ำดังกล่าวจะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา แต่จะมีปริมาณของน้ำนั้น เพียงไม่เกินร้อยละ 30 เพราะน้ำส่วนใหญ่จะถูกผันเข้าทุ่งแก้มลิงภายในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดชัยนาท ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วง จ.นครสวรรค์ ลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร อยู่ในระดับที่ปกติของระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาในฤดูฝน

จากการตรวจสอบปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 446 ลบ.ม./วิ ระดับน้ำอยู่ที่ 18.86 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับปกติ ไม่น่าวิตกกังวลเท่าไร ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ลุ่มภาคกลางจึงไม่ควรตื่นตระหนก เพราะกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน.

 

 

เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

 

เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

 

เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

 

เหนือ-อีสานยังวิกฤติ เตือน! เสี่ยงน้ำทะลัก สั่งเฝ้าระวัง 24 ชม

 

ขอบคุณข้อมูล : ไทยรัฐ