นายกฯคนนอก รอกติกาพร้อม "พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปิดหรือเปิดโอกาสตัวเอง

นายกฯคนนอก รอกติกาพร้อม "พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปิดหรือเปิดโอกาสตัวเอง

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ชัดเจนกับคำถามพ่วงประกอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของ สว.ชุดแรกที่จะเข้ามาร่วมพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นถามที่ถามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทุกวัน   ซึ่งในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่าไม่มีทั้งปิด และเปิด ในการนั่งนายกรัฐมนตรีคนนอกแต่ขอให้ดูกติกาให้แล้วเสร็จก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสที่มีการพูดถึงนายกรัฐมนตรี คนนอก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ตนพูดไปเมื่อวันก่อนความหมายคือทุกอย่างที่ถามกันต่างๆ นานา แล้วถ้าไม่มีใครก็ให้มาถามตนเอง ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ทำนองนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คนนั้นคนนี้จะออกมาพูดได้ว่า จะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องไปดูว่ากฎหมายเขียนว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างไร ก็ยังไม่ถึงเวลา ต้องดูด้วยว่าสถานการณ์เกิดอะไรขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุอีกว่า ทำไมต้องมาระวังผม ระวังท่านประวิตร (วงษ์สุวรรณ) อยู่ 2 คน ไม่มีคนอื่นหรืออย่างไร นั่นคือประเด็นที่ผมพูด พรรคการเมืองเองก็ต้องเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี 3 คนไม่ใช่หรือ ก็ต้องไปหามา ที่พูดว่าให้มาถามผมคือ ถ้ามันไปไม่ได้แล้วค่อยมาถามผม ติดอะไรค่อยว่ากัน ผมถึงได้บอกว่าทำไมต้องไปกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น ขอร้องว่า อย่าไปมองว่า ไอ้นี่ออกมาเพื่อไปเกื้อหนุนคนกลุ่มนี้ ผมเห็นทะเลาะกันอีกแล้วในเรื่องของกฎหมายลูก ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือใคร ปัดโธ่ มันจะไปรู้ได้อย่างไร เรื่องของวันข้างหน้า การเลือกตั้งก็อีกหลายเดือน และเป็นปีๆ

เมื่อถามว่า หากถึงเวลานั้น เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง แล้วมีส.ว.เสนอชื่อให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่าทางตัน จะรับตำแหน่งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่รู้ ผมยังไม่รู้เลยว่าส.ว. เสนอได้หรือไม่ เขายังเถียงกันอยู่ เรื่องนี้ไม่รู้เลย อย่ามาถามสิ่งที่ยังไม่รู้”เมื่อถามว่า แสดงยังไม่ปิดโอกาสตัวเองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมไม่มีทั้งปิด และเปิด ผมขอเอาตรงนี้ให้จบก่อน ไปทีละขั้น เพราะถ้าพูดอะไรไปเดี๋ยวคนก็จะมาว่าได้ว่า ก็พูดและประกาศไปแล้ว แสดงว่าเปิดรับไม่ว่าจะพูดไปทางไหนก็ผิดทั้งสองดอก ผมเลยไม่พูดเสียดีกว่า และไม่ต้องมาถามโดยใช้คำว่า ถ้า หรือสมมติว่า”เมื่อถามว่า พร้อมหรือไม่หากถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ วันนี้เอากติกาให้พร้อมก่อนเดี๋ยวค่อยหาตัวนักมวย วันนี้กติกาและกรรมการยังไม่พร้อม จะมาหานักมวยก่อนจะรู้กติกากันหรือไม่ มันต้องเอากติกาเป็นหลักก่อน ถึงจะมีตัวนักมวย และต้องหากรรมการที่เหมาะสมก่อน

ขณะที่อีกกระแสข่าวที่มีออกมานั่นก็คือ การตั้งพรรคทหารเพื่อสานต่อการทำงานของ คสช.
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคทหารเพื่อสานต่อการทำงานของ คสช. ว่า ไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าวอีกทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดชัดเจนว่าจะไม่มีการตั้งพรรคการเมือง และยืนยันว่าไม่เคยมีใครใน คสช.คิด ไม่มีการล็อบบี้หว่านล้อมเรื่องนี้ส่วนความต้องการช่วยบ้านเมืองต่อไปหลังจาก คสช.หมดอำนาจแล้ว พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ภาพรวมนั้นพูดยากการประชุมช่วงนี้จะเน้นหนักว่าต้องทำงานให้ได้ตามโรดแมป ให้ทุกอย่างเป็นไปตามทิศทางที่วางไว้แต่จะมีการหารือเรื่องการเมืองบ้างคือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อผลประชามติออกมาแล้วทุกส่วนจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วคงต้องมาดูกันที่ฝั่งของ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ออกมาพูดถึง การตีความคำถามพ่วงประชามติต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการตีความคำถามพ่วงประชามติต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า กรธ.ต้องการที่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ตรงกับเจตนาของประชามติ โดยยึดตัวอักษรเป็นหลัก ตามระบอบการปกครองของประเทศที่ใช้เป็นระบบลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ตนเห็นว่ามีคนยังเข้าใจผิดอยู่ว่ามาตราที่ 272 นั้นเป็นบทถาวร ตนขอเรียนว่าจริงๆ เป็นบทเฉพาะกาล
นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อยึดตัวบทอักษรก็ต้องดูที่คำถามพ่วงซึ่งระบุว่าวาระเริ่มแรกจนถึงเวลา 5 ปี รัฐสภา โดย 2 สภาจะเป็นผู้ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะผูกพันกับระยะเวลามากกว่าจำนวนครั้ง แตกต่างจากในมาตรา 272 ที่มีความผูกพันแค่วาระเริ่มแรกของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ในมาตรา 272 นั้นระบุอีกว่าถ้าหากหลักจากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกนั้น เกิดการยุบสภาขึ้น หลักการเสนอข้อยกเว้นเพื่อให้ ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ และร่วมกับ ส.ส.เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถทำได้แล้วเพราะว่าพ้นจากวาระเริ่มแรกของรัฐสภาไปแล้ว ข้อเสนอของ สนช.ระบุว่าถ้าหากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกมนตรีได้ และต้องใช้เสียงของรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ควรให้ ส.ว.มาร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่าควร แต่ต้องดูว่าที่เขียนไว้มันจะไปถึงตรงนี้หรือไม่ ก็เปรียบเสมือนว่าในวันนั้นเจอหน้าผู้หญิง ควรจะขอความรักจากเขาภายในครั้งเดียว แต่ปรากฏว่าตอนนั้นกลับไม่ได้ขอ

เช่นทุกวัน บรรดานักการเมืองก็จะออกมาแสดงความคิดเห็นกับกรณีการตีความคำถามพ่วงประชามติต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เกี่ยวกับประเด็นการหาคนดี คนร้าย และพฤติกรรมการทำงานสร้างเรื่องหลบเลี่ยงของฝ่ายอำนาจรัฐ  นายจตุพร กล่าวว่า การหาคนดีนั้น เกี่ยวข้องกับความเห็นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตอบคำถามสื่อมวลชนด้วยอาการแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “หาคนดีไม่ได้ ก็มาคุยกัน” ซึ่งคนดีของวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งและฝ่ายสนับสนุนรอบข้างนั้น คงหาไม่ได้อยู่แล้ว นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวเท่านั้น ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ย้ำท่าทีชัดเจนไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกแล้ว ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรประกาศรับไปเลย เพราะประเทศนี้หาคนดีกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอกไม่ได้แล้วในความเชื่อของ ส.ว.แต่งตั้งในอนาคต
 ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มี สนช.และสปท.บางส่วน มีความพยายามเสนอให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีว่า ขอบทวนความจำของ สนช. ที่ออกมาให้ความเห็นในลักษณะเพื่อตีความ อย่างกว้างให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้นั้น โดยขอหยิบยกคำอธิบายของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ที่อธิบายเกี่ยวกับคำถามพ่วงไว้ ในช่วงเวลาก่อนการออกเสียงประชามติ ไว้หลายเหตุการณ์ ตั้งแต่การทำความเข้าใจกับข้าราชการ กทม. ที่ระบุว่า “คำถามนี้ไม่ได้มุ่งไปที่นายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะเป็นกลไกชั่วคราว 5 ปี เฉพาะขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้ปรับเปลี่ยนกลไกที่บัญญัติไว้ในตัวบทของร่าง คือ การเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมือง”

ขณะที่ นายวิรัช ร่มเย็น อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ระบุถึงประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติให้ ส.ว. แต่งตั้งสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ยังสามารถมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ว่า ไม่น่าเชื่อนักวิชาการระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีแนวคิดเช่นนี้
แต่ตนไม่แปลกใจ เพราะ สนช.มาจากการแต่งตั้งของคสช. แต่ถ้าจะตีความของคำถามพ่วง โดยขยายขอบเขต และอำนาจหน้าที่ของส.ว. แต่งตั้งทั้งที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ต้องถามว่า เหตุใดการออกแบบคำถามพ่วงจึงไม่ลงรายละเอียด โดยระบุให้ชัดเจนไปในคราวเดียวกัน ทำไมต้องออกแบบคำถามที่ต้องตีความทำให้เกิดความสับสนต่อสังคมเป็นการใช้ชั้นเชิงทางกฎหมายใช่หรือไม่ และที่เห็นจะเป็นการแสดงความคิดเห็น ที่ชัดแจงไปยังบรรดานักการเมือง ก็คงจะเป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ในวันนี้ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการเป็นประชาธิปไตยที่ยังยืน”และพูดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แท้จริง ว่า ต่อให้รัฐบาลมาจากการการเลือกตั้งถ้าขาดธรรมาภิบาลก็ถูกไล่อยู่ดี

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการเป็นประชาธิปไตยที่ยังยืน”  โดย กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ ช่วยบ้านเมืองให้มั่นคงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เบียดเบียน ไม่คอร์รัปชั่น ตั้งแต่ปี 2512 พวกเราชอบรื้อของเก่าและพยายามหาของใหม่มาแทน พระองค์ท่านบอกใจเย็นๆก่อนได้ไหม ก่อนที่จะรื้อของเก่า เราเขียนรัฐธรรมนูญสร้างใหม่ ทิ้งของเก่า ไม่มีสักฉบับที่หยิบของเก่ามาปรับปรุง จะสร้างกี่ครั้งหลักการก็เหมือนกัน แต่เราก็ไม่เอา สุดท้ายก็ไปไม่รอดทุกฉบับ เพราะมันไม่สะท้อนสภาพที่แท้จริงของสังคม ปัจจุบันสถานการณ์รอบโลกเป็นโรคเบื่อระบบเก่า
นายสุเมธ ยังกล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะร่างรัฐธรรมนูญวางระบบเศรษฐกิจ ต้องเช็คตัวเองดูก่อน ประมานตัวเองก่อน หากตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีจะใช้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องนำทาง จะต้องประเมินตัวเองก่อน ควรทำในสิ่งที่เราถนัด เศรษฐกิจพอเพียงสอนให้มั่นคง ยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกัน มีความรู้ทันโลก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถใช้กับการเมืองได้ การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเคลียประเทศในทางที่ถูกต้อง ต้องประเมินสถานการณ์
ยกตัวอย่างการร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อนจะร่างฯ เราต้องประเมินสถานการณ์ของประเทศก่อน ว่าวันนี้กับ 10 ปีที่แล้วเหมือนกันหรือไม่ หรือวันนี้กับก่อนรัฐประหารต่างกันอย่างไร ดังนั้นต้องร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วง เพราะสถานการณ์จะไม่เหมือนกัน ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง อย่ามัวแต่ตะแบงถึงหลักการประชาธิปไตย โดยไม่ดูสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเหมือนว่าเราปวดท้องแล้วไปกินยาแก้ไข้หรือเป็นมะเร็งแล้วให้กินยาหอม ซึ่งก็คงไม่หาย ตอนนี้คงต้องติดตามการทำงาน ว่ากฎหมายลูกแล้วเสร็จเมื่อไหร่  เพราะหลังจากนั้น  จะมีช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็เน้นย้ำเสมอมาว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี 2560