เครือข่ายผู้ประกันตนยื่นร้องปลัดแรงงาน ทำฟัน 900 บ.ไม่ได้ตามจริง!

จากที่มีนโยบาย ทำฟัน900 บาท แต่ตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ !!! วันนี้เครือข่ายผู้ประกันตนจึงมายื่นเรื่องร้องต่อปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าไม่ได้ตามจริง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม  เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย(อรท.) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย  สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งนำโดย นายมนัส โกศล ประธาน คปค. ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลลำลูกกา และผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข  และทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 2 เดินทางเข้าพบม.ล. ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ปัญหาอุปสรรคจากการเข้ารับบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน

นายมนัส กล่าวว่า หลังจากมีการเรียกร้องความจำเป็นในการเข้ารับบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน จนคณะกรรมการการแพทย์ได้มีมติเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตน โดยให้สามารถเบิกค่าบริการได้ตามความจำเป็นวงเงิน 900 บาทต่อปีไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏมีผู้ประกันตนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากว่า การเพิ่มค่าบริการ 900 บาทแต่กลับมีการกำหนดอัตราค่าบริการส่วนที่เบิกได้เป็นรายบริการตามบัญชีแนบท้าย ซึ่งอิงจากสถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ส่งผลให้ผู้ประกันตนถูกลิดรอนสิทธิลงกว่าเดิม เพราะเป็นการจำกัดสิทธิการเบิกค่าบริการ ทำให้เบิกได้น้อยกว่าระบบเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานอัตราค่าบริการเลย

“การกำหนดเงื่อนไขอัตราค่าบริการ อย่าง ขูดหินปูนทั้งปากกำหนดไม่ให้เกิน 400 บาท แต่ความเป็นจริงในคลินิกเอกชนคิดประมาณ500-600 บาท กลายเป็นว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่มเองอีก 100-200 บาท และหากผู้ประกันตนคนนั้นไม่ใช้สิทธิทำฟันอื่นๆจนครบปี ก็เท่ากับว่าเสียสิทธิที่จะได้รับค่าบริการจนครบอัตรากำหนดไปฟรีๆ นอกจากจะไปผ่าฟันคุดจำนวน 900 บาท จึงจะคุ้ม ถามว่าใครจะผ่าฟันคุดบ้าง แบบนี้แสดงให้เห็นว่าสปส.ออกสิทธิมา แต่มีประกาศแนบท้ายพ่วงยิ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ ทำให้สิทธิลดน้อยลงกว่าเดิมเสียอีก จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศแนบท้ายนี้เสีย และหากจะกำหนดอัตราค่าบริการก็ควรอย่างต่ำ 600 บาท ให้ไม่น้อยกว่าของเดิมที่ได้รับ”นายมนัส กล่าว

ทพ.ธงชัย กล่าวว่า  การออกเงื่อนไขเช่นนี้ เป็นการบีบบังคับให้ผู้ประกันตนต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลภาครัฐ เนื่องจากอัตราราคาที่กำหนดเป็นของภาครัฐมากกว่า ขณะที่ภาคเอกชนราคาสูงกว่ามาก ทำให้ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการต้องจ่ายเพิ่มทุกรายการ ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ซึ่งส่วนใหญ่รับบริการดังกล่าว และส่วนใหญ่ร้อยละ77.8 เข้ารับบริการที่คลินิกเอกชน ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ก่อนอื่นจึงขอให้ปลดล็อกปัญหาตรงนี้ก่อน คือ ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้ายเสีย ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรม 900 บาทต่อปีแบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนหากจะมีการสำรวจการรับบริการ ราคาที่เหมาะสมก็ขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ 1 ชุด โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม

ด้านม.ล. ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โดยหลักการของการเพิ่มค่ารักษาพยาบาล 900 บาทต่อปีนั้นก็เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับประกาศแทบท้าย และส่งผลต่อผู้ประกันตน ก็จะนำเรื่องนี้ให้แก่คณะกรรมการการแพทย์ ที่มีนพ.ชาตรี บานชื่น เป็นประธานฯ พิจารณา โดยอาจต้องมีการเรียกประชุมด่วน เนื่องจากส่งผลต่อผู้ประกันตน  คาดว่าจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ แต่ไม่มีการลดอัตราค่าบริการ 900 บาทลง ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการอาจใช้เวลาไม่นานนัก เบื้องต้นน่าจะประมาณ 2 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่ เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ประกอบด้วย 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ(เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2. อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลทัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาทอุด 2 ด้าน 450 บาท  3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า  350 บาท กรณีฟันหลัง 400บาท  อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท  4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท