ทางเลือก "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป (ชมคลิป)

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท.ในการออกมาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เรียกว่าข้อเสนอของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปท.ในการออกมาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหากได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมือง ทั้งนี้นายวันชัยได้ยกตัวอย่างสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษก็ได้ ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง แต่เป็น นายกฯ ถึง 8 ปี เนื่องจากมีผลงานเป็นที่ยอมรับและสามารถบริหารจัดการประนีประนอมกับทุกฝ่ายได้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.กล่าวว่า ที่มาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความแตกต่างที่เด่นชัดจาก พล.อ.เปรม เพราะพล.อ.เปรม ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองด้วยเสียงข้างมากในสภา หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ คนนอก

"พล.อ.ประยุทธ์ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ผมขอพยากรณ์ท่านว่า ท่านจบไม่สวย แต่จะจบลงด้วยเผด็จการทรราช ท่านต้องคิดให้มากกับเสียงเชียร์ของพวกแวดล้อมอำนาจ เมื่อถึงวันนั้นพวกเชียร์ท่านจะหนีไปหมด เมื่อท่านไม่ได้มาจากประชาชน ย่อมไม่มีความสง่างาม เพราะท่านมาจากกระบอกปืน หากเดินตามวิถีกองเชียร์แล้ว สุดท้ายท่านจะได้เปล่งวาจาว่า ผมพังแล้ว"เพื่อขยายความในสิ่งที่นายวันชัยยกขึ้นมานั้น เราก็จะได้ย้อนกลับไปติดตามรายละเอียด หรือที่มาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.เปรมถึง 8 ปี
ย้อนกลับไป พ.ศ. 2523 ถึง 2531 คือ 8 ปีที่ประเทศไทยมีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ไม่มีพรรคการเมืองอยู่ในมือ ไม่ได้ขึ้นมาด้วยการรัฐประหาร แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส. จะจบด้วยชัยชนะของพรรคใด สุดท้ายจะไปเชิญพลเอกเปรมมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2523 ด้วย ที่ได้รับการยอมรับ “อย่างปราศจากเงื่อนไข” จากทุกฝ่ายรวมถึงทหารและข้าราชการระดับสูง ตลอด 8 ปี รัฐบาล “เปรม 1” ถึง “เปรม 5”แม้จะผ่านการปรับ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้ง แต่ก็นับเป็นยุคที่การเมืองไทยมีเสถียรภาพที่สุดยุคหนึ่ง เพราะนโยบายซึ่งส่วนใหญ่จะถูกร่างลงมาจากข้าราชการประจำ “เทคโนแครต” ไม่ใช่นโยบายจากพรรคการเมือง หลังยุติทางการเมือง ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2531 ด้วยคำอธิบายสั้นๆว่า “ผมพอแล้ว” 1 เดือนหลังจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปี 2531 นั่นเอง และสิบปีต่อมา 2541 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรีในที่สุด 8ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รวมไปถึงการแก้ไขและพัฒนาในด้านต่างๆของประเทศ พร้อมกับพิสูจน์ให้เห็นถึงความเสียสละ และการไม่ยึดติดอยู่ในอำนาจด้วยการประกาศคำว่า ผมพอแล้ว

ส่วนกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าหากจะได้กลับเข้ามาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะต้องมีพรรคการเมืองที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองนั้นจะต้องมีจำนวนส.ส.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วย
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 88 ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าว ให้ประชาชนทราบ และให้นำความในมาตรา 87 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้ จากเงื่อนไขของมาตรา 88 ก็คือภายใต้ข้อแม้แรก ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องมีการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ส่วนจะเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.นั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ โดยถ้าหากพิจารณาจากเงื่อนไข ณ ขณะนี้สออกมาชัดเจนแล้วว่าจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิก สปช. และผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึงกรณีนักการเมืองออกมาท้า พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ อีกสมัยว่า เป็นปกติของนักการเมืองและพรรคการเมืองเหล่านั้น ที่วันนี้คงยังทำใจไม่ได้ หลังจากถูกประชาชนสั่งสอนไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา จากผลประชามติ
ทั้งที่ประชาชนมอบฉันทามติให้มี ส.ว. 250 คน สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงสนับสนุนแล้ว 250 เสียง ดังนั้นเมื่อถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ตนขอท้าให้พรรคการเมืองเหล่านี้กล้าประกาศหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชนทั้งประเทศว่า แต่ละพรรคจะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และจะชูหัวหน้าพรรคตัวเองเป็นนายกฯ ที่สำคัญขอให้พรรคเหล่านี้รณรงค์หาเสียงให้ได้ ส.ส.มากกว่า 375 เสียง จาก 500 ที่นั่ง แล้วจึงค่อยมาอ้างว่า ประชาชนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ตนจึงเชื่อว่า พรรคการเมืองตกยุคเหล่านี้ จะถูกประชาชนตบหน้าสั่งสอนอีกครั้ง ในปลายปี 2560 พิจารณาจากสถานการณ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้นแล้ว ท้ายที่สุดจึงอยู่ที่การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ว่าจะมีความยินดีให้ชื่อตนเองนั้นถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
เมื่อ26 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง พร้อมให้โอวาทตอนหนึ่งว่า  “ขอให้ทนกับผมไปสักระยะ คนที่เป็นข้าราชการต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เงินเดือนน้อยก็ต้องทำเพราะเลือกมาแล้ว อย่างผมเริ่มแรกได้เงินเดือน 1,950 บาท ถึงวันนี้ได้เงินเดือนนายกฯ 75,000 บาท และถึงแม้ต่อให้ทำงานหนักกว่านี้ ไม่ได้เงินเดือน ผมก็จะอยู่ แต่อยู่ด้วยกลไกประชาธิปไตย ให้สง่างาม แต่จะมาอย่างไรก็ยังไม่รู้เหมือนกัน พูดอย่างนี้เดี๋ยวสื่อไปบอกแล้วว่าเปิดตัว”จากประโยคคำพูดดังกล่าวก็ต้องลองไปพิจารณากันดูว่าเป็นการพูดในความหมายเปิดตัว หรือว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้พยายามอธิบายให้เข้าใจว่าพร้อมที่จะเทศชาติต่อไปหาก ผ่านกลไกประชาธิปไตยที่จะทำให้มีความสง่างามมากขึ้น เพราะฉะนั้นในช่วงหน้าเราก็จะได้มาเจาะลึกกันต่อว่ากลไกตามระบบรัฐสภาของรัฐธรรมนูญใหม่นั้น นอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้ว หากจะมีการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีใครจะเป็นตัวเลือกแรกๆของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แล้วจะมีโอกาสแค่ไหนในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป