ผลงานดับไฟใต้ยุค คสช.

ผลงานดับไฟใต้ยุค คสช.

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงนั้น ท้ายสุดก็จะต้องมาวัดผลกันที่สถิติการก่อเหตุและความสูญเสียว่า ลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหรือไม่อย่างไร จากการรวบรวมสถิติด้านต่างๆของศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจำนวนเหตุรุนแรง คดีความมั่นคง การขยายตัวหรือหดตัวของ "หมู่บ้านพื้นที่สีแดง ก็พบว่ามีจำนวนที่ลดลง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากสถิติการก่อเหตุในปัจจุบันถือว่าลดลงอย่างมาก
โดยจากปี2557-2558 ลดลงถึง 60% เพราะเจ้าหน้าที่ได้เข้มงวดด้านการข่าวมากขึ้น ส่วนการพูดคุยสันติสุขที่ดำเนินการอยู่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป จากคำยืนยันจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คราวนี้ลองไปพลิกดูสถิติกันบ้างว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่

สำหรับปี 2558 เหตุรุนแรงรวมทุกประเภทเกิดขึ้นทั้งสิ้น 701 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.09 เหตุการณ์ต่อวัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีเหตุรุนแรงรวม 1,210 เหตุการณ์ คิดเป็นลดลงร้อยละ 42.1 หากนับเฉพาะเหตุความมั่นคง ซึ่งแยกแยะออกมาแล้วว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ พบว่าปี 2558 มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้น 367 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 52 ของเหตุรุนแรงรวมที่เกิดขึ้น ขณะที่ปี 2557 มีเหตุความมั่นคง 501 เหตุการณ์ เท่ากับว่าปี 2558 มีเหตุความมั่นคงลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปี 2557 ส่วนยอดการสูญเสียทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงตลอดปี 2558 ก็ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยปี 2558 มีผู้เสียชีวิตรวม 113 คน บาดเจ็บ 354 คน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผู้เสียชีวิต 232 คน และบาดเจ็บ 525 คน
เฉพาะปี 2558 ที่มียอดผู้เสียชีวิต 113 คนนั้น ปรากฏว่ากลุ่มที่สูญเสียมากที่สุดยังคงเป็นประชาชนทั่วไป จำนวน 60 คน รองลงมาคือทหาร 27 นาย ตำรวจ 8 นาย ครู 1 คน พระ 1 รูป และผู้ก่อความไม่สงบ 16 คน ขณะที่ยอดผู้บาดเจ็บ 354 คน แยกเป็นประชาชนทั่วไป 154 คน ทหาร 139 นาย ตำรวจ 57 นาย ครู 1 คน พระ 1 รูป และผู้ก่อความไม่สงบ 2 คน
จากสถานการณ์ในภาพรวมที่สถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลง ทำให้การวัดระดับความรุนแรงโดยกำหนดเป็นสีของหมู่บ้าน จากเดิมที่ใช้ “สีแดง” หมายถึง หมู่บ้านเสริมความมั่นคง หรือหมู่บ้านที่ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่ และ “หมู่บ้านสีเหลือง” หรือหมู่บ้านเฝ้าระวัง ลดจำนวนลง ขณะที่ “หมู่บ้านสีเขียว” ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่ฝ่ายรัฐควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงมุ่งเน้นงานพัฒนา หรือที่เรียกว่า “หมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา” มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากจำนวนหมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจ.สงขลา ทั้งหมด 1,970 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านสีแดง หรือหมู่บ้านเสริมความมั่นคง จำนวน 136 หมู่บ้าน จากเดิมมี 319 หมู่บ้าน ลดลง 183 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 57.37 หมู่บ้านสีเหลือง หรือหมู่บ้านเฝ้าระวัง ปัจจุบันมี 234 หมู่บ้าน จากเดิมมี 517 หมู่บ้าน เท่ากับลดลง 283 หมู่บ้าน หรือ ร้อยละ 54.74 หมู่บ้านสีเขียว หรือ หมู่บ้านเสริมการพัฒนา ปัจจุบันมี 1,600 หมู่บ้าน จากเดิมมี 1,160 หมู่บ้าน เพิ่มขึ้น 440 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 37.93 สถิติความรุนแรงที่ลดลง รัฐบาล คสช.ยังได้ใช้นโยบายเชิงพัฒนา เข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง หรือภูมิคุ้มกันให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุครัฐบาล คสช.ได้มีการปรับโครงสร้างการบริการราชการ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน มีแม่ทัพภาค 4 เป็นผู้บัญชาการในระดับพื้นที่ และมี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานพัฒนาอยู่ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น
ปี 2557-2558 ศอ.บต.สำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 37 อำเภอ 250 ตำบล และ 1,970 กว่าหมู่บ้าน เพื่อตอบสนองการพัฒนาโครงการต่างๆในปีงบประมาณ 2559 กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนการพัฒนามากกว่า 4,000 โครงการให้ตรงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้การนำของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค 4 ใช้ยุทธศาสตร์ดึงภาคประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังประชาชนกว่า 20,000 คน โดยมีภารกิจสำคัญคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย งานด้านการเมืองดึงกลุ่มผู้เห็นต่างเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน และงานด้านการพัฒนาให้ประชาชนได้รับประโยชน์และเข้าถึงงบประมาณรัฐทุกครัวเรือน
โครงการสำคัญที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต.ร่วมกันดำเนินการในขณะนี้ คือ โครงการ “ประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข”กำหนดพื้นที่ 5 อำเภอนำร่อง คือ อ.ยะหา จ.ยะลา, อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.นาทวี จ.สงขลา และจะขยายให้ครบทุกอำเภอใน 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสร้างความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน