ย้อนรอยเบื้องหลังคดี "สนธิ ลิ้มทองกุล" ...ก่อนศาลฎีกาจำคุก 20 ปี ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์

ย้อนรอยเบื้องหลังคดี "สนธิ ลิ้มทองกุล" ...ก่อนศาลฎีกาจำคุก 20 ปี ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์

ในวันนี้มีหนึ่งคดีที่สำคัญนั่นคือการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวกอีก 3 คน กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535ซึ่งท้ายที่สุดศาลพิพากษาโทษจำคุกนายสนธิ เป็นเวลา 20 ปี

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร1 ยื่นฟ้องนายสนธิ พร้อมด้วยนายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ฯ ฐานกระทำผิด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 29 เม.ย. 2539 - ถึง 31 มี.ค. 2540 จำเลยทั้งสี่ เป็นกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ ฯ ได้ร่วมทำสำเนา รายงานการประชุมของกรรมการบริษัท ที่เป็นเท็จว่า มีมติให้ บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท และยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง บัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บริษัทแมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว คดีนี้ศาลชั้นต้นจำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 1 และน.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 85 ปี ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุก 5 ปี น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 4 กระทำความผิดรวม 13 กระทง ลงโทษกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 65 ปี จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพเป็นโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 20 ปีต่อมาจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีจึงถือที่สุดตามกฎหมายรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2557 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และ มีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องมีหลักธรรมมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัท ขณะที่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ส่งผลกระทบจำนวนมาก ที่จำเลยอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้ ฏีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืน
จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวทั้ง 3 คนมาที่ห้องควบคุมตัว เพื่อรอส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป เพราะฉะนั้นในวันนี้ สำนักข่าวทีนิวส์จะได้ย้อยกลับไปถึงสาเหตุสำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร
4 กรกฎาคม 2554  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เผยแพร่ เอกสารว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี และปรับ นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (“IEC”) จำนวน 1,178.25 ล้าน บาท

กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อลวงให้ IEC หรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะ ที่เป็นทรัพย์สินของ IEC และกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง
ทั้งนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสุรเดช มุขยางกูร(จำแลยคดี IEC) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป (ถูกพิพากษาล้มละลายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 คดีหมายเลขแดงที่ ลฟ. 5/2541 )เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากนายสนธิ กับพวกซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ร่วมกันลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทแมเนเจอร์ ฯ( MGR) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539-30 เมษายน 2540 เพื่อ ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน จำนวน 1,078 ล้านบาทให้แก่บริษัทเดอะ เอ็ม. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MGR โดยที่คณะกรรมการ MGR ไม่ ได้รับทราบ
ซึ่งต่อมา เดอะ เอ็ม. กรุ๊ป ได้ผิดนัดชำระเงินกู้ส่งผลให้ MGR ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้ ให้กับธนาคารกรุงไทยฯ เป็นจำนวนเงิน 259 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวของบุคคลทั้ง 4 ราย เป็นการกระทำทุจริตโดยใช้ อำนาจที่ตนได้รับมอบหมาย แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อผู้อื่น อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของ MGR โดยตรง คดีดังกล่าวเริ่มจากบริษัท IEC ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป(มีนายสนธิ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารและเป็นบริษัทแม่ของ IEC) ซึ่งกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 1,198 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 แต่ทาง IEC ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยทราบซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

อย่างไรก็ตาม นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ(ในขณะนั้น)และเป็นประธานกรรมการ IEC ในช่วงที่มีการค้ำประกันเงินกู้ออกมาปฏิเสธว่า คณะกรรมการ IEC ไม่เคยอนุมัติให้ค้ำประกันเงินกู้ให้เดอะ เอ็มกรุ๊ป แต่ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของ IEC ปลอมมติคณะกรรมการ
หลังจากนั้นคดีนี้ได้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนที่ศาลชั้นต้น จะพิพากษาจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 และ นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ จำเลยที่ 3 คนละ 85 ปี และนางสาวยุพิน จันทนา จำเลยที่ 4 จำคุก 65 ปี ส่วนนายสุรเดช มุขยางกูร จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 5 ปี แต่จำเลยทั้ง 4 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ นางเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 คนละ 42 ปี 6 เดือน และนางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่โทษสูงสุดในความผิดฐานดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุก นายสนธิ จำเลยที่ 1 , นางเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 และ นางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 คนละ 20 ปี แต่ต่อมานายสนธิ พร้อมด้วยนางเสาวลักษณ์ และนางสาวยุพิน ยื่นอุทธรณ์

ล่าสุดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เห็นว่าที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริต และไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นถือว่าเป็นโทษต่ำสุดแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน
จนนำมาซึ่งในวันนี้ที่ ศาลฎีกาพิพากษาโทษจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเวลา 20 ปี ไม่เพียงนั้น คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสุรเดช กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท

ย้อนกลับไป 28 พฤศจิกายน 2542 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสุรเดช กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีข้อความว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของ IEC ได้อนุมัติให้IEC เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ปฯ ต่อธนาคารกรุงไทยฯในนามของ IEC อันเป็นกิจการที่เกินขอบเขตที่คณะกรรมการของ IEC ได้กำหนดไว้และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ IEC ก่อน ทำให้ IEC มีภาระหนี้ค้ำประกันจำนวน 1,178 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 311 312(2) ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ศาลอาญาฯพิพากษาว่านายสุรเดช มีความผิดตามมาตรา 307 311 312(2) และ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยลงโทษ (1) ฐานเป็นกรรมการลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมเพื่อลวงให้นิติบุคคลหรือผู้ ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ตามมาตรา 312(2) แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 500,000 บาท และ (2) ฐานเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล และ (3) ฐานเป็นกรรมการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามมาตรา 307 311 ประกอบ 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 313 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 2,356,000,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ปรับกระทงละ 250,000 บาท และ1,178ล้าน บาท ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา