ปปช.ฟันอดีตส.ส.เพื่อไทยเสียบบัตรแทน-ย้อนแผนแก้รธน.สว.สภาฯผัวเมีย

เสียบบัตรแสดงตนแทนกัน และจากพฤติกรรมดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีประเด็นสำหรับการพิจารณาที่น่าสนใจ 1 เรื่อง ซึ่งเชื่อว่าคุณผู้ชมก็น่าจะยังพอจำกันได้ จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอ ระหว่างการประชุมสภาพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของส.ว. ซึ่งพบว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่ง เสียบบัตรแสดงตนแทนกัน และจากพฤติกรรมดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวโมฆะอีกด้วย และจากไป 2556 นับตั้งแต่เกิดเรื่องจนมาถึงวันนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเตรียมชดใช้ผลของการกระทำของตนเอง
ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณากรณีกล่าวหาอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 4 ราย ได้แก่
นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์
นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม
และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี

กรณีมีความผิดทางอาญาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 1 ราย จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 4 ราย โดยจากการตรวจสอบหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอ และจากการให้ถ้อยคำของพยานบุคคลต่างๆ แล้ว จึงมีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันอย่างชัดเจน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123 ทั้งนี้ ภายหลังมีมติแล้ว คณะกรรมการป.ป.ช.จะส่งสำนวนและรายงานความเห็นให้กับอัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ทั้งนี้สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมายปปช.มาตรา123 นั้น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10ปีกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างที่ผู้แทนราษฎรทุกคนจะต้องจดจำเอาไว้เป็นบทเรียน ทั้งนี้ในชั้นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนปปช.พบพฤติการณ์ว่า นายคมเดช นายนริศร และนายยุทธพงศ์ พบว่า มีการเสียบบัตรแทนกัน และกดคะแนนเสียงแทนกันในการประชุมร่วมรัฐสภาที่พิจารณาวาระดังกล่าว ส่วนกรณีของนายอุดมเดช พบว่ามีการสลับร่างรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่มีเนื้อหาไม่ตรงกันกับที่มีการเสนอชื่อแก้ไขในไปสับเปลี่ยนกับร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ในวาระรับหลักการ ดังนั้นพฤติการณ์ทั้งหมดของอดีต ส.ส. 4 ราย จึงถือว่าเข้าข่ายผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123 และตามทีรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกและสำนักข่าวทีนิวส์ได้ นำเรียนได้ทราบตั้งแต่ต้นว่พฤติการณ์การเสียบบัตรดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นของส.ว.เพื่อสร้างส.ว.เป็นสภาผัวเมีย ในสัมยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เมื่อวันที่ 20พ.ย.2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะ ยื่น แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที การกระทำดังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง
ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่าร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1) นอกจากนี้ การตัดสิทธิการอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คนทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วันนับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 3

ส่วนประเด็นของการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง คือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน
ทั้งที่การใช้สิทธิลงคะแนนตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นระบุว่า สมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไข ที่พบว่ารวบรัดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรับธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรค 1 และ 2, มาตรา 126 วรรค 1, มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2
และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 แต่ทั้งนี้ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรคด้วยมติเสียงเดียวกัน