แกะรอยขบวนการ"ทัวร์ศูนย์เหรียญ" กินรวบ เครือข่ายหมื่นล้าน

แกะรอยขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญ กินรวบ เครือข่ายหมื่นล้าน

เชื่อว่าจนถึงขณะนี้คนไทยทั้งประเทศต่างรู้สึกตื่นตัวกับขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่กำลังสร้างปัญหาทางด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างหนัก
หลักหรือว่าวิธีการของขบวนการกลุ่มนี้ก็คือการอาศัยช่องโหว่ทองกฎหมาย มาประกอบกิจการทัวร์ เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทย โดยพยายามใช้ทุกวิถีทางในการหลบเลี่ยงภาษีนั่นเอง
โดยจนถึง ณ ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการเข้าตรวจสอบอย่างเข้มข้นพร้อมกับเดินหน้ายึดทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลนับหมื่นๆล้านบาทเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงผลการเข้าตรวจค้นบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด เป็นบริษัทนำเที่ยวภายในประเทศไทยต่ำกว่าทุน หรือบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญ ที่มีนางถวัล แจ่มโชคชัย และนายสมเกียรติ คงเจริญ ชาวจีนที่ลักลอบสวมบัตรประชาชนของนายสมเกียรติ คงเจริญ คนไทย ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2550  เป็นกรรมการผู้จัดการและมีหุ้นอยู่ในบริษัทฝูอัน
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ฝูอัน และ บริษัท ซินหยวน ใช้บริการ รถบัสโดยสารของบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด โดยไม่ต้องจ่าย ค่าเช่ารถบัสโดยสาร แต่มีข้อตกลงและเงื่อนไขต้องพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าตามร้านที่บริษัท โอเอ กำหนดไว้ 4 ที่
1.บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
2.บริษัทรอยัล พาราไดซ์ จำกัด
3.บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด
4.บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด
โดยมัคคุเทศก์ใช้วิธีบังคับ ล่อลวง ขู่เข็ญนักท่องเที่ยว ให้ซื้อสินค้าในราคาสูงเกินจริง ทั้งนี้บริษัท โอเอ (ซึ่งมีนางนิสา โรจน์รุ่งรังสี นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี กับพวก เป็นประธานกรรมการและกรรมการ) จะจ่ายเงินค่าตอบแทน 20-30% จากยอดขายที่นักท่องเที่ยวซื้อสินค้า และหากไม่เป็นไปตามข้อตกลง บริษัท ฝูอัน และ บริษัท ซินหยวน จะต้องถูกปรับค่าเสียหาย


ต่อมาศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายสมเกียรติ และนางถวัล ในความผิดฐานเป็นสมาชิกอั้งยี่ และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวกระทำการอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวและเมื่อวันที่ 23 ส.ค. รวมถึงนางนิสา และนายวสุรัตน์ ในความผิดเดียวกัน
ปปง.ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและการทำธุรกรรมของบริษัท โอเอ ตามพฤติการณ์อันเป็นความผิดมูลฐานพ.ร.บ.ฟอกเงิน ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม  ได้มีมติยึดและอายัดทรัพย์สิน เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้องบริษัทฝูอัน 25 รายการ รวม 28.5 ล้านบาท, เงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้อง สลากออมสิน รวม 2 รายการ รวม 3.1 ล้านบาท  เงินฝาก ในบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้องรวม 2,247 รายการ แบ่งเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร 92 บัญชี เป็นเงิน 4,200 ล้านบาท และรถบัสโดยสาร 2,155 คัน มูลค่า 9,000 ล้านบาท รวมทรัพย์สินกว่า 13,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายโอฬาร โรจน์รุ่งรังสี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ตามที่ปปง.มีมติอายัดทรัพย์สินบริษัท ขอยืนยันว่า บริษัท โอเอ ให้บริการขนส่งไม่ประจำทาง การให้บริษัท ฝูอัน และบริษัท ซินหยวน เช่ารถตามระเบียบการให้บริการ เมื่อลูกค้านิติบุคคล มีหนังสือรับรองบริษัท สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยวที่ออกให้โดยทางราชการ บริษัทเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า เป็นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น การเหมารวมว่าบริษัทฯ ร่วมกระทำผิดฐานอั้งยี่ด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม      
ทั้งนี้บริษัท โอเอ ขอเรียนข้อเท็จจริงต่อสังคมว่า ได้ให้บริการกับสองบริษัทนี้จริง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับลูกค้ารายอื่นที่บริษัท โอเอ ให้บริการนั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของลูกค้าทั้งหมด

พิจารณาจากเนื้อหาการแถลงข่าวที่เกิดขึ้นจะพบว่า ขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญที่ว่านั้น เกิดลักษณะของการโค หรือร่วมมือกันระหว่าง บริษัทของคนจีนในประเทศไทย และบริษัทของคนไทย ซึ่งเข้ามาร่วมในการหาผลประโยชน์ด้วยกัน
ซึ่งในที่นี้จากการตรวจสอบของปปง.พบว่า บริษัท โอเอนั้น มีพฤ๖กรรมสุ่มเสี่ยงในการเข้าร่วมธุรกิจ จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัท
จากการตรวจสอบของสำนักข่าวทีนิวส์ไปที่วงการขนส่งหรือรถนำทัวร์ พบว่า

บริษัท“โอเอ ทรานสปอร์ต” มีการโฆษณาอย่างแพร่หลาย พร้อมทั้งประกาศตัวว่าเป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจท่องเที่ยว บริษัท โอเอ กรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านรถโดยสารไม่ประจำทางซึ่งก่อตั้ง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2536 โดยมีนามว่า บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ดำเนินการธุรกิจรถเช่า อาทิ รถบัส,รถตู้,รถบัสปรับอากาศ ,รถทัวร์ปรับอากาศ ประสบการณ์กว่า 20 ปี เริ่มแรกมีเพียงรถไม่กี่คันเท่านั้นต่อมากิจการทางด้านนี้ค่อนข้างเติบโตจึงทำให้ต้องขยายด้านการบริการเพิ่มขึ้นจึงก่อตั้งสำหนักงานแห่งใหม่อยู่ที่ ถนนหลวงแพ่ง(ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ) จนถึงปัจจุบันนี้ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด มีจำนวนรถบัสปรับอากาศจำนวนสูงถึง 900 คัน และรถตู้มากกว่า 50 คัน และมีพนักงานในองค์กรกว่า 1,000 คน
ทั้งนี้ข้อมูลในเวปไซต์ระบุว่า บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด สถานที่ : 880/1 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้เมื่อพิจารณากระบวนการและขั้นตอนของเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญที่ว่านั้น ก็จะพบว่ามีแผนการดังนี้ใช่หรือไม่
1.เปิดบริษัททัวร์ รับนักท่องเที่ยวชาวจีนแบบผิดกฎหมายดังนี้
-คนจีนปลอมชื่อเป็นคนไทยมาจดทะเบียนบริษัท
-คนจีนว่าจ้างนอมินีเป็นคนไทย จดทะเบียนบริษัท

2.มีการเตี้ยมกับบริษัททัวร์ของคนไทย เพื่อให้บริการด้านการเดินทาง

3.กำหนดสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเรียกเก็บค่าบริการแพงจากนักท่องเที่ยว

ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อไปให้ถึงข้อมูลว่าทั้ง 3 ขั้นตอนนี้เป็นการทำงานของกลุ่มเจ้าของเดียวกัน หรือมีลักษณะเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันหาผลประโยชน์
แต่ทว่าล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า ขั้นตอนที่ 2 และ3นั้นน่าจะเป็นเจ้าของหรือกลุ่มผลประโยชน์เดียวกัน
บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จดทะเบียน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2536 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 880/1 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ แจ้งประกอบธุรกิจการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า มี นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และนางนิสา โรจน์รุ่งรังสี ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
นอกจากนี้พบว่า นายวสุรัตน์ นายธงชัย และนางนิสา ผู้บริหารหลักในเครือบริษัทโอเอ มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและผู้บริหารในอีกหลายบริษัท ประกอบธุรกิจบริการและธุรกิจอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และยังเป็นบริษัทที่ถูกตำรวจตรวจสอบด้วย
1. บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 5 ส.ค. 2534 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 165/1-2 ถนนหลวงแพ่ง แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งเครื่องหนังและเครื่องใช้สำหรับการเดินทาง มีนางนิสา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายธงชัย และนางนิสา ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
2. บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 16 มิ.ย. 2546 ทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 681/8 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริมบำรุงร่างกาย ของชำร่วย ของฝาก ของที่ระลึกทุกชนิด มีนางนิสา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายธงชัย และนางนิสา ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
3. บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 11 มี.ค. 2556 ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 165/3 ถนนหลวงแพ่ง แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ แจ้งประกอบธุรกิจประเภทภัตตาคาร มีนางนิสา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายธงชัย และนางนิสา ร่วมกันถือหุ้นใหญ่
นอกจากนี้พบว่าบริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2536 ตั้งอยู่เลขที่ 880/8 ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายอัญมณี เพชร เงิน ทอง เครื่องหนัง ของที่ระลึก ค่านายหน้า ดอกเบี้ยรับ มีนางนิสา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ โดยนาย ธงชัย และนางนิสา ถือหุ้นใหญ่ 6 แสนหุ้น (20%) ส่วนหุ้นที่เหลือกระจายอยู่ในชื่อ นายชาติชัย โรจน์รุ่งรังสี นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี นายโอฬาร โรจน์รุ่งรังสี คนละ 4.5 แสนหุ้น
ส่วนกรณีของ บริษัท รอยัล เจมส์ฯ มีบริษัทในเครือและยังคงดำเนินกิจการอยู่อีกกว่า 20 แห่ง และมีบริษัทเลิกกิจการไปแล้ว 5 บริษัท ดำเนินกิจการใหญ่ระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 59 เปิดศูนย์จัดแสดงจิวเวลรี่และอัญมณี "รอยัล เจมส์ พาวิลเลี่ยน" ตั้งอยู่เลขที่ 99/99 หมู่ 3 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ใช้งบทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ภายในงานมีบุคคลสำคัญทางการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ย้ำกับคุณผู้ชมนะคะว่า ขบวนการทัวร์ศูนย์เหรียญนั้น กำลังระบาดอย่างหนัก และเข้ายึดกุมพื้นที่ มากมาย จนกลายเป็นพื้นที่ของแหล่งทำมาหากิน ทั้งคนไทยและคนจีนที่ร่วมอยู่ในขบวนการเดียวกัน
โดยล่าสุดมีการตั้งข้อสังเกตสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นแลนมาร์ค ย่านลาดกระบัง กทม.ดังนี้
สยาม เซอร์เพนทาเรียม (Siam Serpentarium) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ อยู่ ไม่ไกลกับบริษัทโอเอ ภายในแบ่งเป็นส่วนพิพิธภัณฑ์งู สเนค แพลนเน็ต นาคา เธียเตอร์ ร้านขายของที่ระลึก และสนามเด็กเล่นเขาวงกตงู เป็นต้น โดยมีรถบัสนักท่องเที่ยวจีนวิ่งสลับเข้าออกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ห้ามบุคคลทั่วไปเข้าไปอย่างเด็ดขาด อ้างว่าอยู่ระหว่างการต่อเติมและจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ย.นี้
นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าบริเวณโดยรอบถนนลาดกระบัง-ถนนหลวงแพ่ง พื้นที่ สน.จระเข้น้อย บริเวณ 2 ข้างทาง รายล้อมไปด้วยร้านอาหารภัตตาคารจีน ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านผลไม้ จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
โดยเฉพาะที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บริเวณหน้าร้าน และสถานที่จอดรถ ติดป้ายข้อความว่า "ที่จอดรถครัว...คนขับรับค่าจอดที่เคาน์เตอร์" เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นการจ่ายเงินค่าหัวแก่คนขับรถ


ทั้งนี้จากประเด็นข้อสงสัยทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ทีมข่าวสำนักข่าวทีนิวส์ได้โทรศัพท์ไปสอบถามข้อเท็จจริงกับบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต โดยพนักงานที่รับสายได้หลีกเลี่ยงในการตอบคำถาม เกี่ยวกับประเด็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้น

นี่เป็นเพียงขบวนการหนึ่งเท่านั้น ของทัวร์ศูนย์เหรียญที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในประเทศไทย ณ ตอนนี้โดยสำนักข่าวทีนิวส์จะตามเกาะติดข้อมูลมานำเสนอให้ได้รับทราบความจริงกันต่อไป