ครม.ส่วนหน้า เดินหน้าดับไฟใต้

การเดินหน้าและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นระบบ สำหรับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แสดงให้เห็นถึงการเดินหน้าและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นระบบ สำหรับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้เตรียมจัดตั้ง โครงสร้าง "ครม.ส่วนหน้า" หรือ "รัฐบาลส่วนหน้า" เพื่อรับมือกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้คำว่าครม.ส่วนหน้า หรือรัฐบาลส่วนหน้า ที่ว่านั้น น่าจะออกมาในรูปแบบของตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ เพื่อทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างบูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยถึง กรณีการตั้งคณะรัฐมนตรีส่วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เมื่อเสนอมาจะตั้งให้เร็วที่สุด  
นายกฯ กล่าวว่าจะต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจว่าจะแก้ไขปัญหาภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะมีทั้งหมด 9  ยุทธศาสตร์ โดย เรื่องที่ 8 เป็นเรื่องของการพูดคุยสันติสุข แต่ไม่ใช่เจรจา  เพราะการเจรจาหมายถึงรบกัน  การพูดคุยสันติสุขก็เพื่อดูว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่าง   ดังนั้นตนจึงเสนอแนวทางให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และคณะฝ่ายความมั่นคง  ไปคิดเพื่อแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลให้ชัดเจนขึ้น  ซึ่งจะมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบส่วนหน้าโดยตรงสักคน
พิจารณาจากคำแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ คำว่าครม.ส่วนหน้าก็คือการแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงขึ้นมารับผิดชอบการแก้ไขปัญหาทางภาคใต้ร่วมกับหน่วยงานที่มีอยู่เดิมนั่นเอง
ส่วนผู้ที่จะมาทำหน้าที่สำคัญในส่วนนี้ถูกมองว่ามีความเป็นไปได้อยู่ 2 ท่านคือ
1.พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2.พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนตุลาคมนี้
พลเอก สุรเชษฐ์ เริ่มรับราชการเป็นทหาร จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 17 เมื่อพ.ศ. 2536 ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2539 ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นเสนาธิการกรมทหารราบที่ 7 และเป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 เมื่อพ.ศ. 2541 ในพ.ศ. 2545 เป็นผู้อำนวยการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 3 พ.ศ. 2547 เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 พ.ศ. 2549 เป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 พ.ศ. 2550 เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 /ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร พ.ศ. 2551 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 พ.ศ. 2555 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 พ.ศ. 2555 เป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายกิจการพลเรือน พ.ศ. 2556 เป็นรองเสนาธิการทหารบก และพ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 พลเอก สุรเชษฐ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา[5] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 เขาแต่งตั้ง ดร.รัตนา ศรีเหรัญ[6]ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ
พล.อ.ธีรชัย เข้ารับการศึกษาต่อเนื่องที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 รุ่นเดียวกับ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
โดยมีเส้นทางการรับราชการที่สำคัญดังนี้
พ.ศ. 2550 เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1
พ.ศ. 2551 รองแม่ทัพน้อยที่ 1
พ.ศ. 2552 รองแม่ทัพภาคที่ 1
พ.ศ. 2553 แม่ทัพน้อยที่ 1
พ.ศ. 2554 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง
พ.ศ. 2555 รองเสนาธิการทหารบก
พ.ศ. 2556 แม่ทัพภาคที่ 1
พ.ศ. 2557 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
พ.ศ. 2558 ผู้บัญชาการทหารบก
ทั้งนี้สืบเนื่องจากแม่ทัพภาคที่ 4 คนต่อไป ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนั้นก็คือพล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช น้องชายของพล.อ.ธีรชัย โดยถ้าหากว่าพล.อ.ธีรชัยได้รับเลือกให้เป็นครม.ส่วนหน้า ก็จะเป็นการผนึกกำลังเพื่อแก้ไขปัญหา3จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ 2 พี่น้องเลยทีเดียว
ทั้งนี้นอกจากประเด็นเรื่องครม.ส่วนหน้าแล้ว คณะรัฐมนตรียังได้มีการอนุมัติแต่งตั้งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.อต.) คนใหม่อีกด้วย
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้ง นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.อต.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศอ.บต. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 แทน นายภาณุ อุทัยรัตน์ ที่เกษียณอายุราชการ
แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วาระเสนอแต่งตั้งนายศุภณัฐ เสนอโดย พลเอกประวิตร ในฐานะกำกับดูแลศอ.บต. ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ ระบุคุณสมบัติของนายศุภณัฐ ว่า ปัจจุบันนายศุภณัฐอายุ 59 ปี จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 การศึกษา จบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ส่วนความอาวุโส นายศุภณัฐ เป็นรองเลขาศอ.บต. ลำดับที่ 1 ด้านความรู้ความสามารถ นายศุภณัฐรับราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่แรกในตำแหน่งปลัดอำเภอและนายอำเภอยะหา จังหวัดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากรในศอ.บต. และรองเลขาธิการศอ.บต. รวมรับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องติดต่อกันมา 35 ปี ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน รวมทั้งผู้นำศาสนาในพื้นที่
และเมื่อมีประกาศคสช.ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ศอ.บต. ทำงานเป็นสองระดับ คือ ศอ.บต. ส่วนกลาง ที่กทม. และศอ.บต.ส่วนหน้า ที่จังหวัดยะลา นายศุภณัฐ ในฐานะรองเลขาธิการศอ.บต. คนที่ 1 สามารถบริหารงานทั้งระบบทำให้ทุกอย่างดำเนิไปตามประกาศทุกประการ ส่งผลดีต่อทางราชการและประชาชนเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้นายศุภณัฐ เป็นผู้เสียสละ ทุ่มเทการปฏิบัติงานด้วยดีเสมอมามีผลการปฏิบัติงานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการเชื่อมประสานกับฝ่ายความมั่นคงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า อีกตำแหน่ง
และปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีผลงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาเมืองต้นแบบเศรษฐกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านการทำงานไปสู่ระยะที่ 3 การสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างมวลชนให้หัวใจอยู่กับประเทศไทยและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบและครบวงจร การประสานงานการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเจตคติและสร้างการยอมรับของประชาชน และสร้างความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป        
ส่วนความสามารถพิเศษ นายศุภณัฐ สามารถพูดและฟังภาษามลายูท้องถิ่นได้ รวมทั้งได้ศึกษาหลักคำสอนในพระคัมภีร์ อัลกุรอานโดยนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานด้านมวลชนได้อย่างดีโดยเฉพาะงานด้านการข่าว ทำให้มีเครือข่ายด้านการข่าวค่อนข้างกว้างขวาง
เรียกว่าการเดินหน้าแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อจากนี้ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถือว่ามีความน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง โดยในเบื้องต้นต่อจากนี้คงต้องมาจับตากันดูว่า ตำแหน่งครม.ส่วนหน้าที่ว่าจะเป็นใคร่
และที่สำคัญจะเข้ามาเติมเต็มการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้มากน้อยแค่ไหน