ถกนัดแรก !! "บิ๊กต๊อก"นั่งหัวโต๊ะ ไล่บี้ จนท.รัฐโยงโกงข้าว "ประยงค์"ลั่นระดมคนทั้ง ปปท.สอบ ต้องจบใน6เดือน

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติให้ศอตช.รับผิดชอบตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรับผิดชอบในทางละเมิดในโครงการรับจำนำข้าวว่า การทุจริตคดีจำนำข้าว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เน้นการตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายที่ส่งผลเสียหายมหาศาลของประเทศ ส่วน ป.ป.ท.จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน รวมถึงเซอร์เวย์เยอร์ หรือ ผู้ตรวจสอบข้าวในคลังสินค้า ที่มีส่วนร่วมกระทำผิดสร้างความเสียหายให้รัฐเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ข้อมูลพบมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการดังกล่าวจำนวน 33 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ

"สำหรับการตรวจสอบว่าใครต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวอีก 80% นั้น ศอตช.ต้องรอมติครม.อย่างเป็นการทางการ เพื่อนำมาเป็นจุดตั้งต้นในการสอบสวนหาตัวผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงความรับผิดไม่ได้คือผู้กระทำผิดใน 853 สำนวน ที่ ป.ป.ท.ขอให้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นไต่สวนความผิด ระหว่างนี้ได้ประสานไปยังหน่วยตรวจสอบอาทิ ป.ป.ช. สตง.กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ให้เตรียมข้อมูลพร้อม สำหรับการประชุมนัดแรกที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเป็นประธานการประชุม" นายประยงค์ กล่าว

นายประยงค์ กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์นี้จะเสนอคณะกรรมการป.ป.ท.เพื่อตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่ เจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า(อคส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตรวม 853 สำนวน หากคณะกรรมการป.ป.ท.มีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงก็จะตั้งอนุกรรมการแยกเป็นรายคดี จำนวน 853 ชุด ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้การตั้งอนุกรรมการไต่สวนให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการ ป.ป.ท. โดยอนุกรรมการไต่สวนต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และจะระดมเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของป.ป.ท.ทั้งสำนักงานร่วมเป็นอนุกรรมการเพื่อเร่งรัดคดี สำหรับข้อกังวลเรื่องการแยกการไต่สวนจะส่งผลให้การทำงานล่าช้า ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีข้อมูลเบื้องต้นแล้ว อีกทั้งทุกสำนวนคดีมีพฤติการณ์ใกล้เคียงกันและมีช่วงเวลาเกิดเหตุไล่เลี่ยกัน การสอบสวนจึงสามารถดำเนินการไปพร้อมๆกันและประสานข้อมูลร่วมกันได้