คนไทยพร้อมใจ !! ท่องเที่ยวหน้าหนาวกับ 10 โครงการหลวงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รายละเอียด)

10 โครงการหลวง ต้อนรับช่วงฤดูหนาว

1. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่

ขุนวาง

สภาพพื้นที่ของโครงการส่วนใหญ่ล้อมด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน มีแอ่งที่ราบระหว่างภูเขาเพียงเล็กน้อย มีพื้นที่ในความรับผิดชอบ 29,178 ไร่  โดยแบ่งพื้นที่ในการดำเนินการของโครงการประมาณ 30 ไร่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,300 – 1,400 เมตร มีแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านคือ แม่น้ำขุนวาง  ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง รวมทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงสาธิตไม้ผลเมืองหนาวภายในศูนย์ฯ เช่น องุ่นไร้เมล็ด โรงเรือนวนิลา ฯลฯ
– ชมแปลงปลูกผัก โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว แปลงปลูกดอกเบญจมาศหลากสีสัน ฯลฯ
– สาธิตการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ดำ กระต่ายพันธุ์เนื้อ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– ชมวิถีชีวิตของชาวเผ่าม้ง และกะเหรี่ยง
– ชมการปักผ้า และการตีมีด ฯลฯ
– งานปีใหม่ของม้ง จัดช่วงเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม มีการละเล่น ชาวเขาจะแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมงานที่ลานกิจกรรมหมู่บ้าน

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ตามเส้นทางมีพรรณไม้ พืชสมุนไพร และนก ระยะทางเดินประมาณ 3 กิโลเมตร เดินประมาณ 2 ชั่วโมง จะถึงน้ำตกเต๊ะเละโพ (อวบน้อย) ที่มีอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การลงเล่นน้ำ
– ชมทุ่งกุหลาบพันปีสีแดง ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ที่บริเวณผาแง่ม ซึ่งเป็นยอดเขาที่มีทิวทัศน์งดงาม
– ชมดอกพญาเสือโคร่ง (ซากุระดอย) ซึ่งจะบานสะพรั่งช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม

 

2. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว จ.เชียงใหม่

ห้วยเสี้ยว

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2524 เป็นศูนย์ขนาดเล็ก พื้นที่รับผิดชอบ 48.54 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน 995 ครัวเรือน ประกอบด้วยคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่าม้ง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 450 เมตร ประกอบด้วยป่าโปร่งผลัดใบ ดิน มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรัง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อุณหภูมิสูงสุด 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 11 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,277 มิลลิเมตรต่อปี

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงสาธิตไม้ผลเขตร้อน เช่น มะละกอ มะม่วง มะปราง พุทรา ขนุน ฯลฯ ที่นี่เป็นแหล่งปลูกมะม่วงหลายชนิด มะม่วงพันธุ์ออร์วิน มะม่วงนวลคำ ที่มีผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม รับประทานได้ทั้งดิบและสุก
– ชมแปลงสาธิตพืชผักหลายหลากชนิด เช่น มะระขาว มะระหยก ซาโยเต้ ฯลฯ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– ชมวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเขาเผ่าม้ง
– ประเพณี ที่น่าสนใจ คือ ประเพณีปีใหม่ม้ง ประเพณีสืบชะตาหลวงประจำหมู่บ้าน จัดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และประเพณีตานข้าวใหม่ จัดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– น้ำตกตาดครก เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำตลอดปี มีโขดหินสวยงาม เป็นแหล่งที่มีปลามุงอาศัยอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นปลาหายากของประเทศไทย
– น้ำตกตาดน้อย เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีกล้วยไม้ป่า แมลง ผีเสื้อ และเส้นทางเดินชมธรรมชาติ

 

3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ลาน้อย

ในปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้ก่อตั้งขึ้น โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยทอดพระเนตรเห็นพื้นที่แล้ว ประกอบกับเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 91.75 ตารางกิโลเมตร หรือ 57,368 ไร่ ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าลั๊ว

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงกาแฟอาราบิก้า พร้อมชิมกาแฟสดรสดีผลิตภัณฑ์คุณภาพจากบ้านห้วยห้อม สวนกาแฟที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร ส่งจำหน่ายให้กับโครงการหลวง และสตาร์บัคส์
– ชมวิวความสวยงามของนาข้าวแบบขั้นบันได
– ชมการทอผ้าขนแกะของกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม มีทั้งผ้าทอขนแกะล้วน และผ้าทอขนแกะผสม

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– พิธีกรรมเซ่นไหว้เจ้าที่เพื่อการเกษตรให้ผลผลิตที่ดี จะเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว
– การเรียกขวัญและผูกด้ายขวัญ พิธีนี้กระทำขึ้นในหลายโอกาส อาทิ ขึ้นปีใหม่ แต่งงาน รับขวัญเด็กแรกเกิด

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– น้ำตกทีราชันย์ น้ำตกขนาดกลาง สูง 3 ชั้น ระยะทางห่างจากศูนย์ฯ 6 กิโลเมตร
– น้ำตกทีลอเล สูง 5 ชั้น ระยะทางจากศูนย์ฯ 15 กิโลเมตร เดินเท้าต่ออีก 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการเดินชมธรรมชาติ พรรณไม้ป่า

4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก จ.เชียงใหม่ 

แม่สะป๊อก

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก ก่อตั้งในปี พ.ศ.2526 เป็นศูนย์ฯ พัฒนาขนาดกลาง ตั้งอยู่ในหุบเขาด้านหลังเทือกดอยอินทนนท์ มีสภาพอากาศเย็นในช่วงฤดูหนาว และเย็นสบายในช่วงฤดูร้อน มีความร่มรื่นทางธรรมชาติ

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงสาธิตแปลงส่งเสริมผลผลิตตามฤดูกาล เช่น เบบี้ฮ่องเต้ โอ๊คลีฟแดง โอ๊คลีฟเขียว คอสสลัด เรดโครอล ร็อคเก็ตสลัด บัตเตอร์เฮด ผักกาดหวาน ฯลฯ
– ชมการปลูกผักและสมุนไพรระบบอินทรีย์ เช่น ซุกินี คะน้าเห็ดหอม มะระขาว ฯลฯ
– ชมนาขั้นบันไดที่สวยงามของชาวกะเหรี่ยง

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– ประเพณีปีใหม่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีการละเล่นและเลี้ยงฉลองตามบ้าน ชาวเขาจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่ามาร่วมงานกันทุกคน
– ชมงานหัตถกรรมการทอผ้าของกะเหรี่ยงที่มีลวดลายสวยงาม

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– ปางช้างแม่สะป๊อก น้ำตกแม่สะป๊อก น้ำตกแม่วาง และน้ำตกผาหม่น
– ล่องแพไม้ไผ่ชมธรรมชาติลำน้ำแม่วาง บริเวณบ้านสบวิน

การเดินทาง

ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ 68 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่-ฮอด) เมื่อถึงอำเภอสันป่าตอง เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1013 ตรงไปประมาณ 38 กิโลเมตร จากนั้นจะมีทางแยกซ้ายเข้าบ้านแม่สะป๊อกเหนือ  ระยะทางประมาณ 500 เมตร  ถึงที่ทำการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 053-318-322 , 085-716-3134

 

5. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำแม่แรมและแม่สา มีพื้นที่ 21.17 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 13,231 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเล 780-1,430 เมตร ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 6 หมู่บ้าน 371 ครัวเรือน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าม้ง เผ่าลีซอ คนพื้นเมืองและจีนยูนนาน นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธลัทธิผี และศาสนาคริสต์ลัทธิผี ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงสมุนไพรขนาดใหญ่ เช่น เลมอนทายม์ เลมอนบาล์ม มิ้นต์ คาโมมายล์ โรสแมรี่ หญ้าหวาน ฯลฯ
– ชมแปลงงานวิจัยผักเมืองหนาว แปลงผักไฮโดรโพนิกส์ เทคโนโลยีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
– แปลงผักอินทรีย์และแปลงผักขั้นบันไดของชาวบ้านเผ่าม้งที่มีผักมากมายหลากหลายชนิด เช่น ผักกาดขาวปลี แครอท ปวยเหล็ง ฯลฯ

การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

– ชมการละเล่นพื้นบ้านของชาวเขาเผ่าม้ง เช่น ตีกลอง เป่าแคน ขลุ่ย การละเล่นชู้จ่าง ฯลฯ
– ชมหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การปักผ้าของหญิงม้ง การต้มเหล้าข้าวโพด ฯลฯ
– ประเพณีปีใหม่ม้ง จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม – มกราคมของทุกปี ชาวเขาทั้งหมู่บ้านจะรวมกันแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงาม มีการประกวดธิดาดอย การแข่งขัน ล้อเลื่อนไม้ พร้อมกิจกรรมบันเทิงต่างๆ มากมาย

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– จุดชมวิวดอยม่อนล่อง จุดชมวิวที่สูงที่สุดของอำเภอแม่ริม สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร สามารถ ชมทิวทัศน์ของพระอาทิตย์ตกและทะเลหมอกในฤดูหนาวเป็นมุมกว้าง
– จุดชมวิวม่อนดอย น้ำตกตาดหมอก น้ำตกวังฮาง
– ดอยม่อนแจ่ม จุดชมวิวและลานกางเต็นท์ที่สวยงาม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

การเดินทาง

ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ 39 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ผ่านที่ว่าการอำเภอแม่ริม ถึงหลักกิโลเมตรที่ 17  เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 1096 (แม่ริม-สะเมิง) ประมาณ กม.ที่ 15 บริเวณบ้านโป่งแยง ให้สังเกตป้ายศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ด้านขวามือให้เลี้ยวขวาตรงตามถนนหลักระยะทางขึ้นเขาอีก  6  กิโลเมตร จนถึงที่ทำการศูนย์  สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยางตลอด รถยนต์ทุกประเภทสามารถเดินทางได้  มีรถประจำทางผ่านบริเวณทางแยกก่อนขึ้นศูนย์ สายสะเมิงเหนือ-เชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 081-950-9767 , 083-324-0610

 

6. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จ.พะเยา 

ปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าขึ้น เริ่มต้นโดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการบุกเบิกพื้นที่ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำมาหากินให้แก่ราษฎร จากนั้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาวศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า สูงจากระดับน้ำทะเล 640 เมตร พื้นที่รับผิดชอบ 22,505 ไร่ ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าเย้าและม้ง ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาและภูเขาสูง มีลำน้ำสายสำคัญ คือ ลำน้ำแม่คะ และลำน้ำเงิน

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงผลผลิต เช่น ฟักทองยักษ์ ฟักทองสีขาว ฯลฯ
– ชมแปลงไม้ดอกไม้ประดับ เช่น แว็กซ์ฟลาวเวอร์ มะเขือการ์ตูน ฯลฯ
– ชมแปลงไม้ผล เช่น อะโวกาโด มะม่วง ส้มโนรีตะ ส้มคัมควอท ฯลฯ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– ชมวิถีชีวิตของชนเผ่าม้งที่หมู่บ้านสิบสองพัฒนา และบ้านปางค่าเหนือ
– ชมวิถีชีวิตของชนเผ่าเย้าที่บ้านปางค่าใต้

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– ยอดดอยภูลังกา เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำยม สูง 1,720 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นสันเขาแคบๆ สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกยามเช้า โดยจุดนี้สามารถมองเห็น สปป.ลาว และสามเหลี่ยมทองคำได้อย่างชัดเจน
– ดอยภูนม เป็นสันเขาแคบๆ ทอดตัวต่อลดหลั่นมาจากดอยภูลังกา สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้
– ดอยหัวลิง ถ้ามองทางทิศเหนือหรือใต้จะเห็นยอดดอยคล้ายหัวลิงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านตะวันตกเป็นป่าดงดิบเขาด้านทิศตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชันมีหญ้าปกคลุมและลมพัดแรง

การเดินทาง

จากจังหวัดพะเยา ผ่านอำเภอดอกคำใต้-จุน มุ่งหน้าไปอำเภอเชียงคำ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1179 เลี้ยวขวาที่ กม.8 เข้าทางหลวงสาย 1148 สายเชียงคำ-น่าน จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่ กม.90 ขับต่อไปตามถนนรพช. อีกประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางไปจนถึงวนอุทยานภูลังกา รถเก๋งสามารถขึ้นไปได้อย่างสบาย หากจะขึ้นไปเที่ยวที่ดอยภูลังกา ให้ติดต่อเหมารถ 4WD ที่วนอุทยานภูลังกา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 081-883-0307

 

7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง มีพื้นที่รับผิดชอบ 17 หมู่บ้าน 451 ครัวเรือน บนพื้นที่ 84.27 ตารางกิโลเมตร หรือ 52,670 ไร่ ประชากรประกอบด้วยคนพื้นเมืองและเผ่าม้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน ที่ราบมีน้อยมาก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-1,250 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 24 องศาเซลเซียส

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมวิวทิวทัศน์สวยงามของแปลงปลูกชาลุงเดช
– เรียนรู้วิธีการชงชาและชิมชา ตลอดจนขั้นตอนกรรมวิธีการแปรรูปชาและการบรรจุหีบห่อที่โรงงานชาบ้านปงตอง
– ชมโรงเรือนเพาะเห็ดระบบปิด เช่น เห็ดนางรมภูฎาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดปุยฝ้าย ฯลฯ
– ชมแปลงกล้วยไม้ซิมบิเดี้ยมขนาดใหญ่หลากหลายสีสัน

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– ประเพณีม้ง (กินวอ) คืองานประเพณีขึ้นปีใหม่ของขาวไทยภูเขาเผ่าม้ง จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 1-3 ค่ำเดือน 1 ซึ่งตรงกับเดือนมกราคมของทุกปี
– ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง บ้านม่อนเงาะ การละเล่นโยนลูกช่วง ลูกข่าง การปักผ้าชาวเขา การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำเมี่ยงแบบดั้งเดิม ที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ชมการเก็บใบเมี่ยง ใบชา และชิมยำใบเมี่ยงอาหารขึ้นชื่อของชุมชน

การท่องเที่ยวธรรมชาติ

– จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,425 เมตร ด้วยความสวยงามของชั้นเขา จึงสามารถชมทะเลหมอก และชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เป็นมุมกว้าง 360 องศาได้อย่างสุดลูกหูลูกตา
– เงือกผา เป็นหินงอกที่มีลักษณะคล้ายนางเงือกหันหน้าเกาะผาอยู่
– บ่อน้ำทิพย์ เป็นแอ่งน้ำซึมอยู่ภายในถ้ำ และมีน้ำตลอดทั้งปี
– ถ้ำลม จะมีลมพัดออกมาจากถ้ำตลอดเวลา รู้สึกได้อย่างชัดเจนเมื่อยืนอยู่บริเวณปากถ้ำ
– ล่องแพผจญภัยที่บ้านสบก๋าย ชมธรรมชาติที่สวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ชมโขดหินที่มีลักษณะแตกแต่งกัน รวมถึงต้นไม้ใหญ่อายุกว่าพันปีที่โค่นล้มโดยธรรมชาติ โดยมีทั้งล่องแพไม้และแพยาง โดยแพไม้ไผ่จะงดล่องในช่วงฤดูฝน ส่วนแพยางสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ประมาณ 37 กิโลเมตร ก่อนถึงตลาดแม่มาลัย-อ.ปาย ประมาณ 2-3 กิโลเมตร จะมีเส้นทางเลี่ยงเมืองตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือ (อยู่ตรงข้ามกับวัดสบเปิง) เข้าไปม่อนเงาะอีกประมาณ 17 กิโลเมตร (เส้นทางเดียวกับไปวัดผางาม) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 053-318-308

8. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ผล กว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด เป็นถิ่นที่อยู่ของ ชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– สวนกลางแจ้ง บริเวณสโมสรอ่างขางมีสวนกลางแจ้งหลายสวนที่ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้แตกต่างกันตามความเหมาะสมของฤดูกาล ได้แก่ สวนแปดสิบ สวนดอยคำ สวนหอม สวนสมเด็จ และสวนกุหลาบอังกฤษ
– โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว จัดแสดงพันธุ์ผักเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง
– โรงเรือนไม้ดอก เป็นการจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวชนิดต่างๆ มากมาย เช่น บีโกเนีย รองเท้านารี พืชกินแมลง มุมน้ำตกในสวนสวย ซึ่งดอกดอกไม้ในสวนเหล่านี้จะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันออกดอกตลอดทั้งปี
– สวนบอนไซ ภายในสวนจัดแสดงต้นไม้ประเภทสาลี่ เมเปิ้ล สน ที่ปลูกแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีโดมทรงหกเหลี่ยมจัดแสดงพันธุ์พืชภูเขาเขตร้อนและดอกกล้วยไม้จิ๋วที่สุด ซึ่งจะออกดอกเดือนมกราคมของทุกปี
– พระตำหนักเรือนที่ประทับแรมและศาลาทรงงานเมื่อพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จยังสถานีฯ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– วิถีชีวิตของชาวเขาหมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง นับถือศาสนาพุทธ หากใครที่ชื่นชอบการถ่ายภาพชาวเขาจะไม่ผิดหวังแน่นอน
– วิถีชีวิตของชาวเขาหมู่บ้านขอบด้ง เป็นชาวเขามูเซอดำและมูเซอแดง นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ
– วิถีชีวิตของชาวเขาหมู่บ้านหลวง เป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมกุหลาบพันปี (Rhododendron) ในช่วงเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะออกดอกผลิบานตลอดทางเดิน
– จุดชมวิวกิ่งลม สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากท้องฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
– จุดชมวิวหมู่บ้านนอแล นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทิวทัศน์ความสวยงามของธรรมชาติบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยสัมผัสกับแสงแรกแห่งอรุณ และตะวันลับขอบฟ้าที่สวยงามได้
– กิจกรรมชมหิ่งห้อย ในยามค่ำคืนนักท่องเที่ยวจะเห็นแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยเป็นจำนวนมาก
– ขี่จักรยานชมธรรมชาติที่สวยงามของแปลงเกษตรภายในสถานีฯ ในช่วงฤดูหนาว ช่วยเพิ่มความสนุกสนานน่าตื่นเต้นในการเที่ยวชม
– ขี่ล่อชมธรรมชาติ สถานีฯ มีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำล่อมาให้บริหารแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่างๆ ล่อเป็นสัตว์ลูกผสมระหว่างม้าและลา ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ล่อได้ที่สถานีฯ
– ดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลากหลายสายพันธุ์โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพที่หาดูยาก

การเดินทาง

เส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 เชียงใหม่-ฝาง ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว ไชยปราการ ถึงกิโลเมตรที่ 137 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1249 ขึ้นไปอีก 25 กิโลเมตร ถึงดอยอ่างขาง เส้นทางชันและคดเคี้ยว
เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตำบลเมืองงาย เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัยไปยังดอยอ่างขาง ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
การเดินทางสามารถใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท หรือใช้บริการรถยนต์รับจ้าง จุดจอด ณ ปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ราคาเหมาประมาณ 1,000-1,500 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 053-450-107-9

 

9. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์  มีลักษณะพื้นที่เป็นหุบเขาลาดชัน โดยแนวเขาที่ทอดไปในแนวเขาสันปันน้ำเป็นได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งด้านตะวันออกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำปิง และด้านตะวันตกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำแจ่ม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1, 300 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมแปลงพืชผักเมืองหนาว ไม้ดอก ผักไฮโดรโพนิกส์ และงานวิจัยพืชเมืองหนาว
– สวนแปดสิบพรรษา สวนเฉลิมพระเกียรสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2550 เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ภายในสวนตกแต่งด้วยกุหลาบพันปี และไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาล
– โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิร์น แหล่งเก็บรวบรวมพันธุ์เฟิร์นหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและพืชสวน รวบรวมพันธุ์เฟินไว้กว่า 50 สกุล 140 ชนิด
– โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง พิงกุย ซาราซีเนียชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศบนพื้นที่สูง
– สวนกุหลาบพันธุ์ปี รวบรวมพืชสกุล Rhododendron เช่น อาซาเลีย (Azalia) และกุหลาบพันปีชนิดต่างๆ หลายชนิด เป็นพืชการค้าในต่างประเทศและหลายชนิดได้ขยายพันธุ์มาจากต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น คำแดง หรือคำดอย (Rhododendron arboreum) ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูงของประเทศไทย เช่น ดอนอินทนนท์ ดอยอ่างขาง

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– หมู่บ้านม้งขุนกลาง ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง การแต่งกาย การละเล่น เลือกซื้อสินค้าและงานหัตถกรรมที่ตลาดม้ง

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดในประเทศ 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชมพืชพรรณไม้ป่าดิบเขา มอส ไลเคน และแหล่งดูนกนานาชนิด
– พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตั้งอยู่ กม.ที่ 41 เมื่อ พ.ศ.2530 กองทัพอากาศสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญ พระชนมพรรษา 5 รอบ สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของชั้นเขา และสวนดอกไม้โดยรอบ
– น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ / สวนหลวงสิริภูมิ ภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ บริเวณหน้าน้ำตกสิริภูมิมีสวนธรรมชาติตกแต่งด้วยพรรณไม้ ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะประมาณ 500 เมตร เรียกว่า “ สวนหลวงสิริภูมิ ” สามารถเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ตามทางหลวงหมายเลข 108 ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57 ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอจอมทอง ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ไปตามเส้นทางสายนี้จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 31 มีทางแยกขวามือบ้านขุนกลาง เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ รวมระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงสถานีฯ 91 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที การเดินทางสามารถใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 053-286-777-8 , 080-769-1944

 

 

10. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ จ.เชียงราย

การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ เริ่มต้นในรูปแบบของงานอาสาพัฒนาชาวเขา โดยมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น เมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ งานส่งเสริมของศูนย์จึงไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก จนปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ และทรงมีพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวบ้านดอยสะโง๊ะให้มากขึ้น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะจึงก่อตั้งขึ้น มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน 636 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 38 ตารางกิโลเมตร หรือ 23,750 ไร่ ประชากรประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ไทลื้อ และคนพื้นเมือง

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

– ชมงานพัฒนาและงานส่งเสริมการปลูกพืชผัก สมุนไพร ไม้ผล ไม้ดอก และพืชไร่ ผลผลิตที่โดดเด่น คือ ดอกคาโมมายล์ และดอกหน้าวัว
– เกษตรธรรมชาติร่มโพธิ์ทอง (สวนตาคม) นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมและชิมผลไม้ตามฤดูกาล เช่น องุ่น ส้มโอ ลองกอง มังคุด เงาะ ฯลฯ พร้อมทั้งเรียนรู้ระบบการเกษตรแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

– ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าอาข่า

การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

– จุดชมวิวบนดอยสะโง๊ะ สามารถมองเห็นวิวสามเหลี่ยมทองคำและแม่น้ำโขง (สันนิฐานว่าในอดีตเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่สามารถมองเห็นได้ทุกทิศทาง มีร่องรอยคูเมือง มีแผ่นอิฐเก่าเป็นร่องน้ำ)
– สามเหลี่ยมทองคำ ทะเลสาบเชียงแสน และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ่อล้างทอง

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงสาย 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด-เวียงป่าเป้า-แม่สรวย เข้าทางหลวงสาย 1 ผ่านอำเภอเมืองเชียงราย เลี้ยวขวาเข้าอำเภอแม่จัน ตามทางหลวงสาย 1016 ถึงอำเภอเชียงแสน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 1290  ผ่านสามเหลี่ยมทองคำ ถึง กม.18  เลี้ยวซ้ายเข้าไป 3 กิโลเมตร  สามารถเดินทางได้โดยรถยนต์ทุกประเภท สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยาง ก่อนถึงศูนย์เป็นถนนลูกลัง 1.5 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 053-163-346 , 081-951-9711

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ วันหยุดยาวในเดือนนี้ หากได้มีโอกาสไปเที่ยวภาคเหนือ อย่าลืมแวะเวียนไปชมโครงการหลวงต่างๆ ด้วยนะครับ แล้วคุณจะค้นพบความสุขอีกมุมหนึ่ง ที่ธรรมชาติและผู้คนท้องถิ่นจะมอบให้

CR.ข้อมูลจาก Mthai