ช็อตต่อช็อต !!! จากปาก"ผบ.ศม." เล่าเหตุการณ์ เกิดอะไรขึ้นทำไมถึงมีภาพครูฝึก "คอมแบท" ถีบหัวทหารในค่ายของตนเอง

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก. กล่าวถึงคลิปครูฝึกปฎิบัติไม่เหมาะสมกับทหารที่เข้าร่วมการฝึก ว่า ขณะนี้ผู้บังคับบัญชาทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้หน่วยต้นสังกัดคือ ศูนย์การทหารม้าดำเนินการสอบ

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก. กล่าวถึงคลิปครูฝึกปฎิบัติไม่เหมาะสมกับทหารที่เข้าร่วมการฝึก ว่า ขณะนี้ผู้บังคับบัญชาทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้หน่วยต้นสังกัดคือ ศูนย์การทหารม้าดำเนินการสอบสวนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทันที ในเบื้องต้นพบเป็นพฤติกรรมการปฏิบัติ ของครูฝึกในหลักสูตรจู่โจม เป็นหลักสูตรพิเศษ ที่กำลังพลอาจต้องมีความทรหดทั้งทางสภาพร่ายกายและจิตใจสูงขึ้นมากกว่าหลักสูตรอื่นๆ ทั่วไปบ้าง

 ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกยังต้องให้อยู่ในกรอบที่ทาง กองทัพบกกำหนด เป็นหลักจู่โจม ของศูนย์การทหารม้า ที่ปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการฝึกอย่างไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามระเบียบตามที่ทางราชการกำหนด ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาชัดเจน ซึ่งถ้าผลสรุปชัดเจนกำลังพลดังกล่าวคงจะต้องได้รับโทษสถานหนักตามกฏระเบียบของทางกองทัพอย่างแน่นอน

 

ประพฤติของกำลังพลใดๆ ที่ไม่เหมาะสมทาง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีกำชับไปแล้วกับผู้บังคับหน่วยทุกหน่วยบ่อยครั้งที่จะต้องให้ระมัดระวังให้มากทุกหน่วยถ้าพบต้องดำเนินการทางวินัยสถานหนักทันที

ขณะที่ คลิปที่ถูกแชร์ สำหรับชายที่สวมชุดลายพรางคล้ายทหาร ที่ในคลิประบุว่าเป็นครูฝึกกำลังลงโทษทหารเกณฑ์ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างรุนแรง ทั้งสั่งให้คุกเข้าต่อหน้าเพื่อให้ใช้ไม้ฟาดและตีหลายครั้ง รวมทั้งใช้เท้าที่สวมรองเท้าคอมแบทถีบศีรษะย้ำๆอีกนับไม่ถ้วน

 

ขณะเดียวกัน พล.ต.วีรยุทธ วุฒิศิลป์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (ผบ.ศม.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ได้สอบถามผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่า เป็นการฝึกหลักสูตรจู่โจม และในวันเกิดเหตุเป็นการฝึกความอดทนการเดินระยะทาง 17 ไมล์ ที่ผู้เข้ารับการฝึกห้ามเดินซื้อของระหว่างทาง แต่ผู้เข้ารับการฝึกได้กระทำผิดระเบียบขั้นตอนการฝึกทหาร ด้วยการไปซื้อบุหรี่มาสูบต่อหน้าครูฝึก ซึ่งตามระเบียบแล้วห้ามสูบบุหรี่หรือพกขนมไม่ได้เราะเป็นการทดสอบจิตใจและทดสอบความอดทน ถึงได้ถูกลงโทษ

  พล.ต.วีรยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้เด็กที่ถูกลงโทษปลอดภัย และตนได้สอบถามเด็กว่าติดใจครูหรือไม่ที่ทำโทษ เด็กบอกว่า ไม่ติดใจครูฝึก เพราะเขาก็ยอมรับผิดว่าทำผิดมาตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา แต่ครูฝึกต้องการให้นักเรียนมีความอดทนและจบหลักสูตรจู่โจม

ทั้งนี้ เด็กนักเรียนคนดังกล่าวถูกตัดแต้มจนหมด และได้พ้นสภาพการเป็นนักเรียนหลักสูตรจู่โจมแล้ว ซึ่งเขาเพิ่งจบนักเรียนนายสิบมาได้ 6 เดือน ก็มาสมัครเรียนหลักสูตรจู่โจม แต่ตอนนี้กลับไปทำงานที่หน่วย

 

สำหรับ หน่วยรบพิเศษของกองทัพไทย

1. หลักสูตรจู่โจม (RANGER) กองทัพบก

2. หลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม (SEAL) หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ

3. หลักสูตรลาดตระเวนสะเทินน้ำสะเทินบก (RECON) แผนกวิชารบพิเศษ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ

 

สำหรับภารกิจ หน่วยรบ พิเศษ มีภารกิจทั่วไป 7 ประการ ทั้งนี้ อาจแตกต่างกันไป ขึ้นกับการกำหนดภารกิจและการออกแบบหน่วยของเหล่าทัพนั้นๆ คือ

1.สงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) เป็นการปฏิบัติที่หน่วยรบพิเศษ ต้องใช้เวลาในการทำงานมากที่สุด การปฏิบัติที่เข้าไปในประเทศฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ยังไม่มีสงคราม แล้วสร้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขึ้นมาเพื่อบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลประเทศ นั้น ๆ ถ้าต้องการทำสงครามกลุ่มต่อต้านก็จะช่วยกำลังรบตามแบบในการทำการรบได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามเย็น จีนได้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในความพยายามที่จะโค่นล้มรัฐบาล ไทย และมีแผนที่จะสนธิกำลังตามแบบ จากเวียดนามในขั้นตอนสุดท้าย แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคหลายอย่างทั้งในระดับยุทธศาสตร์และระดับยุทธการ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างมาก สงครามนอกแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับสงครามตัวแทน

 

2.การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) เป็นการปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ โดยกลุ่มคนที่มีการวมตัว มีการจัดตั้ง ขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของกลุ่ม ตั้งแต่วัตถุประสงค์ทางการเมือง ล้มล้างรัฐบาล แบ่งแยกดินแดน จนถึงเข้าแทนที่รัฐบาล การก่อความไม่สงบนี้เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องระดมสรรพกำลังทั้งมวลในการแก้ไข โดยหน่วยรบพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ โดยจะประกอบด้วยงาน การปฏิบัติการจิตวิทยา การปฏิบัติงานด้านการข่าว การพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร การพัฒนาและการช่วยเหลือประชาชน การปราบปรามกำลังติดอาวุธ

 

 

3.การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operation) เป็นการปฏิบัติเพื่อให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเป็นกลาง ให้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจของฝ่ายเรา ไม่ว่าจะเป็นการยุยงด้วยการใช้สื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใบปลิว การกระจายเสียง ให้ทหารชั้นผู้น้อยไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชาการ ทำให้เกิดการเดินขบวนของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลตนเอง การสร้างความหวาดกลัวด้วยการใช้ใบปลิว ซึ่งอาจจะทำให้ข้าศึกยอมแพ้โดยไม่ต้องทำการรบ

 

4.การปฏิบัติภารกิจโดยตรง (Direct Action) ภารกิจนี้เป็นการใช้กำลังในการเข้าทำลาย ยึดที่หมายที่ต้องการ เพื่อการปฏิบัติการอื่น เช่น การยึดสนามบิน การโจมตีที่เก็บเสบียงหรือที่บัญชาการของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นภารกิจที่สิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ตั้งแต่การสร้างหน่วยที่จะไปทำภารกิจนี้ ซึ่งจะทำเมื่อที่หมายดังกล่าวถ้าไม่ยึดหรือทำลายแล้ว ภารกิจจะไม่สำเร็จ

 

5.การลาดตระเวนพิเศษ ( Special Reconnaissance) เป็นการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจโดยหน่วยรบพิเศษโดยลำพังหรือ ผ่านทางกำลังกองโจร วัตถุประสงค์เพื่อการยืนยัน ปฏิเสธข่าวสาร สมมติฐานที่ได้มาก่อน ด้วยการตรวจการณ์ หรือวิธีการรวบรวมอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับขีดความสามารถ เจตนารมณ์ และการปฏิบัติ ของข้าศึกหรือที่มีแนวโน้มจะเป็นข้าศึก การปฏิบัติการลาดตระเวนพิเศษอาจจะเกิดขึ้นเพื่อความต้องการการลาดตระเวนทาง นิวเคลียร์ ชีวเคมี หรือเพื่อหาข้อมูลด้านอุตุนิยม อุทกศาสตร์ ภูมิประเทศ ในพื้นที่หนึ่ง

 

6.การต่อสู้การก่อการ ร้าย (Combatting Terrorist) หมายถึง มาตรการการป้องกันไม่ให้มีเหตุ และติดตามกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ รวมทั้งมาตรการในการตอบโต้ เมื่อมีการก่อการร้ายเกิดขึ้น ส่วนมากบทบาทของหน่วยรบพิเศษ จะอยู่ในรูปแบบของการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการจับตัวประกันโดยกลุ่มผู้ก่อการ ร้ายที่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองระหว่างประเทศ

ในประเทศไทยมีการจับ ยึดตัวประกันมาแล้ว ๘ ครั้งแล้วแต่มีการใช้กำลังต่อสู้เพียง ๑ ครั้ง คือเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลราชบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2543

การป้องกันภายในให้กับมิตรประเทศ เป็นการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือมิตรประเทศให้เกิดความมั่นคง ด้วยการสนับสนุนงานด้านต่างๆ เช่น การฝึกเจ้าหน้าที่ตำรวจ การสนับสนุนด้านการศึกษา โดยเป้าหมายคือช่วยให้มิตรประเทศมีความมั่นคง ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางอ้อมและนำมาซึ่งความมั่นคง ของภูมิภาค

 

7.ภารกิจคู่ขนาน หมายถึงภารกิจที่มีหน่วยงานอื่นปฏิบัติเป็นหลักอยู่ในขั้นต้น โดยมีหน่วยรบพิเศษสามารถที่จะปฏิบัติการเสริมการปฏิบัติการดังกล่าวได้ กิจกรรมนี้เป็นช่องทางหนึ่งของหน่วยรบพิเศษที่จะสามารถสนับสนุนการปฏิบัติ การทางทหารที่ไม่ใช่สงคราม ซึ่งตามหลักนิยมของสหรัฐแล้วเป็นเพียงภารกิจที่เสริมการปฏิบัติหลัก โดยเฉพาะการสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังสามารถเป็นรากฐานของการปฏิบัติการอื่น ๆ

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก armyranger

เรียบเรียงโดย ชนุตรา สำนักข่าวทีนิวส์