สคช.ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สคช.ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่สถาบันจับมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เพื่อพัฒนามาตรฐานคนในอาชีพไอทีเป็นผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนในสายงานให้สอดคล้องกับแผนงานปี 2010-2020 ไปสู่ระบบดิจิตอลที่เรียกว่า  Digital Economy และ  E-Government โดยระยะแรก เราต้องการพัฒนาคนในสายอาชีพไอทีที่มีอยู่เดิมให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมภาครัฐและเอกชน มีอยู่ประมาณ 500,000 คน

“หลังจากที่เราทำมาตรฐานเสร็จแล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีบทบาทในการให้ความรู้และให้ข้อมูล เพื่อให้ประชากรหลักของประเทศ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคราชการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ชาวไร่ชาวนา มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ IT literacy  และ Digital literacy ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งมาตรฐานนี้ คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2559 และสามารถใช้งานได้ในปี 2560 นี้ ”

สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การปูพื้นคนไทยให้มีความรู้ โดยคนไอทีข้างต้น จะต้องหาวิธีและดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนใช้งานเป็น ใช้งานได้ และสร้างภูมิความรู้ควบคู่กันไป รองรับการปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีการปรับเปลี่ยนภาครัฐและราชการ เข้าสู่ยุค Digital Government  และเป็นภาพที่ใหญ่กว่านโยบาย Electronic Government  ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานราชการเพียง 1,000-2,000 คน เท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐ และบุคลากรในสังกัดส่วนงานราชการทุกคน จึงต้องมีการพัฒนาคนและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการพัฒนาการบริการไปสู่ Digital Economy และ  E-Government อย่างเร่งด่วนที่สุด

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มมีการอบรมให้ความรู้กับส่วนราชการในสังกัดแต่ละกระทรวง ครั้งละ 40–50 คน เพื่อเตรียมความพร้อมส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วระยะหนึ่ง  ฉะนั้นส่วนราชการหลักจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานระบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนของการให้บริการผ่าน  E-Government ซึ่งขณะนี้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการพัฒนามาตรฐาน จากประเทศเกาหลี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอันดับ 1 ในโลกแล้ว โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเจ้าภาพในการจัดทำมาตรฐาน เพื่อส่งต่อให้มหาวิทยาลัยนำไปอบรมตามหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทด้วย

“เน้นนักเรียน นักศึกษาและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น     โลจิสติกส์และไอซีที  เนื่องจากสาขาโลจิสติกส์ ครอบคลุมระบบงานหลายประเภท และประเทศไทยกำลังจะเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของระบบโลจิสติกส์ในอนาคตด้วย ส่วนสาขาอาชีพไอที ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน จึงต้องให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ขณะนี้เราได้มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 19 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทดสอบและประเมินผลด้านไอทีแล้ว”