เป็นรัฐบาลทำอะไรก็ผิด!!??..."พล.ท.สรรเสริญ"แจงเหตุเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย...ส่วนอีกด้าน ชาวคณะ"เพื่อไทย"แห่ค้านตามสูตร!!!(มีคลิป)

เป็นรัฐบาลทำอะไรก็ผิด!!??..."พล.ท.สรรเสริญ"แจงเหตุเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย...ส่วนอีกด้าน ชาวคณะ"เพื่อไทย"แห่ค้านตามสูตร!!!(มีคลิป)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกรณีรัฐบาลออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท จำนวน 3,000 บาทต่อคน และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน ว่า รัฐบาล บริหารประเทศโดยมองทุกมิติอย่างรอบด้าน จึงออกมาตรการนี้ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นที่จะช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ ในระยะยาวซึ่งต้องใช้เวลา เช่น การลงทุน การเก็บภาษี ฯลฯ และแม้รัฐบาลจะดูแลเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ แต่ก็ยังคงมีความเปราะบางและอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจึงต้องการเพิ่มรายได้ให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด รวมถึงผู้ที่อยู่นอกภาคการเกษตรหลังจากที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ไปแล้ว

          พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ย้ำชัดเจนว่ามาตรการนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ให้ครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ใช่การให้เงินช่วยเหลือแบบรายเดือน ซึ่งมีผลดีคือจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม อีกทั้งรัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียน เพื่อต่อยอดไปสู่มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ให้ตรงจุดอย่างแท้จริงโต้ไม่เหมือนประชานิยมในอดีต

 

"นายกฯ กล่าวว่า ระหว่างที่รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศก็จำเป็นต้องมีหลายมาตรการออกมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่จะแตกต่างจากประชานิยมในอดีตที่มุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบสะเปะสะปะ ไม่มีการตรวจสอบรายได้ วันนี้รัฐบาลให้

          ประชาชนไปขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง จึงทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และเมื่อวันข้างหน้าเศรษฐกิจดีขึ้นรัฐบาลจะประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือ และสามารถนำเงินไปลง ทุนพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้" พล.ท. สรรเสริญกล่าว

          โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ทำเช่นนี้วงจรปัญหาแบบเดิมก็จะเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซาก ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดำเนินการมาก่อนหน้า ส่วนประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในและนอกภาคการเกษตรก็จำเป็นต้องปรับตัว ไม่รอคอยแต่เพียงการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น โดยรัฐบาลยินดีเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนให้ทุกคนสามารถยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยตนเอง

อีกด้าน นายสรรเสริญ สมะลาภา ทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ไม่ได้ขัดข้อง ถือเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน แต่คนที่ไม่มีบัญชีในธนาคาร รัฐบาลได้กำหนดให้ต้องไปเปิดบัญชี คิดว่าจะเป็นภาระ ทั้งเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางพอสมควร ซึ่งในรัฐบาล ปชป.ได้ออกเป็นเช็คช่วยชาติ ถ้ารัฐบาลทำก็จะได้ผลมากกว่า เสียเวลาออกเช็คหน่อยแต่ถึงมือประชาชนโดยตรง

นายสรรเสริญชี้ว่า เศรษฐกิจไทยซึมมายาวนานแล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจทำจากส่วนเดียวจะไม่ได้ผล ต้องทำพร้อมกันหลายส่วน และทยอยทำทีละส่วน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นไฟไหม้ฟาง และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มีแรงเท่าที่ควร โดยรัฐบาลควรกระตุ้น 4 ด้านที่ปัญหาไปพร้อมกัน คือ 1.เพิ่มกำลังซื้อของประชาชน 2.การท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการในช่วงเดือน ธ.ค. 3.การส่งออก และ 4.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาราคาซังมานาน

ส่วนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เคยเตือนแล้วว่าเศรษฐกิจปลายปีจะถดถอย แต่รัฐบาลก็ออกมาเถียงว่ายังคงดี แต่ในที่สุดก็ต้องออกมายอมรับ โดยเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แต่การแจกเงินแบบนี้ แม้ว่าเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก แต่จะไม่ได้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังแย่อย่างมากจากการลงทุนที่หดหาย และการส่งออกที่ลดลง รวมทั้งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรไม่ได้รับเงินส่วนนี้ การใช้งบประมาณ 12,759 ล้านบาท เพื่อแจกให้กับประชาชนบางกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

“เศรษฐกิจที่แท้จริงต้องแก้ในภาพรวมทั้งประเทศมากกว่าการแจกเงินให้ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ทำไปแล้วสูญเปล่า รัฐบาลน่าจะเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าว แถมมีคำถามอีกว่า การแจกเงินแบบนี้เป็นประชานิยมหรือไม่ และทำให้ประเทศเสียหายด้วยหรือไม่” นายพิชัยกล่าว และว่า ถ้ารัฐบาลแจกเงินประชาชนแล้วประเทศเจริญ รัฐบาลคงไม่ต้องมาคิดนโยบายและสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ให้กับประเทศแล้ว รัฐบาลควรพัฒนาแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในระยะกลางและระยะยาว เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องให้ประชาชน ดีกว่านโยบายที่ให้ผลแค่ระยะสั้นแบบนี้

 

นายพิชัยกล่าวต่อว่า รัฐบาลควรคิดให้เบ็ดมากกว่าให้ปลา เพราะประชาชนยังนำไปหากินในอนาคตได้ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า อาจเป็นการหาเสียงของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง เพราะคะแนนความนิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น เรื่องราคาข้าว และราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ จึงทำให้ต้องหาทางออกโดยการแจกเงินเพื่อหวังฟื้นคะแนนนิยมที่ยังทรุดหนัก

ส่วนนายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "แจกเงิน" ประชานิยมสิ้นคิดว่า นโยบายหว่านเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนี้เท่ากับรัฐบาลยอมรับว่าผู้มีรายได้น้อยหรือรากหญ้ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด แต่รัฐบาลหมดความสามารถที่จะหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว จึงต้องเลือกใช้การแจกเงิน ซึ่งไม่ต้องใช้ความคิด แต่ได้ผลน้อยที่สุด เพราะเมื่อใช้แล้วจบลงในคราวเดียว

“รัฐบาลนี้เคยสร้างวาทกรรมกล่าวหารัฐบาลเพื่อไทยที่ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวว่าเป็นประชานิยม ทั้งที่ไม่ได้ให้เปล่าเหมือนการแจกเงินเหมือนที่รัฐบาลนี้ และบางพรรคนำมาใช้ แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์กลับถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง” นายวัฒนาระบุ

ด้านภาคธุรกิจ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินส่วนนี้จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยนำเงินไปใช้จ่ายได้ทันที ทำให้เกิดประโยชน์ในการอัดฉีดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เห็นผลทันทีเช่นกันในช่วงสิ้นปี โดยเฉพาะในแง่ความรู้สึกหรือบรรยากาศจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น“ส่วนการขึ้นค่าแรงนั้น ในแง่ต้นทุนการผลิตไม่มีผลกระทบมากนักจนนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าในภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการขึ้นค่าจ้างก็มักมีการขึ้นราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแล เพราะหากประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น การขึ้นค่าแรงก็คงไม่ได้ประโยชน์”

ส่วนนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกสำรวจตรวจสอบเข้มดูราคาสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการประกาศค่าแรงเพิ่ม รวมทั้งขอความร่วมมือร้านค้า อย่าถือโอกาสนี้ขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากกระทบต้นทุนน้อยมาก โดยการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะมีผลต่อต้นทุนเพียง 0.01-1.02% เท่านั้น

 

“การจัดสายตรวจออกตรวจกำกับราคาสินค้าค่าครองชีพนั้น กระทรวงให้ความสำคัญอย่างมาก มีการออกตรวจเป็นประจำ ที่ผ่านมาตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค.2559 มีการร้องเรียนสถิติการจับกุมดำเนินคดีเรื่องราคาสินค้าแล้ว 260 ราย ปรับเป็นเงิน 456,400 บาท ปรับเรื่องเครื่องชั่งไม่ตรงไม่มีใบรับรองแล้ว 342 ราย เป็นเงิน 5 ล้านบาท” นางอภิรดีกล่าว และว่า ได้ให้กรมการค้าภายในเพิ่มระดับความเข้มงวดในการกำกับดูแลเรื่องค่าครองชีพ และขอให้ประชาชนที่พบเห็นร้านค้าที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคา รวมทั้งที่ฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินความเป็นจริง แจ้งข้อมูลมาที่สายด่วนหมายเลข 1569 ซึ่งกรมการค้าภายในจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและดำเนินการทันที.

โดย จิรศักดิ์ สำนักข่าวทีนิวส์