เตรียมตัว!!! "กรธ." เข้ม ปรับกม.พรรคการเมือง กำจัดระบบอุปถัมป์ ประจบสอพลอ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้

เตรียมตัว!!! "กรธ." เข้ม ปรับกฎหมายพรรคการเมือง กำจัดระบบอุปถัมป์ ประจบสอพลอ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้

ความคืบหน้าการแก้ไข หรือ การออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เพื่อเดินหน้าตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง รวมถึงการพิจารณาว่าประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาการสร้างระบบอุปถัมป์ในวงจรของราชการนี่อย่างไร

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ป่านนี้ข้อสรุปยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าตั้งแต่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา บรรดาพรรคการเมืองต่างๆจะสะท้อนความเห็นออกมาแล้ว และกรธ.ไปปรับเพื่อให้ได้พระราชบัญญัติที่สมบูรณ์ทีสุด

วานนี้ (22 ธ.ค.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงการประชุม กรธ. วาระแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับรับฟังความคิดเห็น ว่า กรธ.ได้เพิ่มมาตราขึ้นใหม่ ว่าด้วยข้อกำหนดกรณีที่พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินเดือนให้กับสมาชิกพรรค ที่มีตำแหน่ง ส.ส.ต้องทำบัญชีและชี้แจงรายการ พร้อมกำหนดอัตราการจ่ายค่าตอบแทนไว้ให้ชัดเจน และประกาศให้ทราบ พร้อมกับต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามรายการที่แจ้งไว้ เช่น จะนำเงินส่วนใด มาใช้เพื่อเป็นค่าตอบแทน การจ่ายค่าตอบแทนจะทำเป็นลักษณะใด เช่น รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ทั้งนี้ หากปฏิบัติไม่ตรงกับรายการจะต้องมีโทษ เช่น กำหนดจ่ายค่าตอบแทน ส.ส. วันละ 5 บาท แต่ทางปฏิบัติพบว่าจ่ายไป 7 บาท หัวหน้าพรรคต้องถูกลงโทษ ส่วนบทกำหนดโทษนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดให้เหมาะสม

"ที่ผ่านมาจะทราบข่าวว่าพรรคมีการจ่ายเงินเดือนให้ ส.ส. ซึ่งเรามองว่าควรทำให้ถูกต้องและโปร่งใส จึงเขียนเพื่อให้เรื่องมีรายการที่ชัดเจน แต่กรณีนี้ไม่ใช่เขียนบังคับให้ทุกพรรคต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้ ส.ส. หากพรรคไหนไม่มีนโยบายจ่ายเงินเดือนก็ไม่ต้องแจ้งรายการ แต่หากพรรคไหนมีนโยบายต้องทำรายละเอียดไว้ในข้อบังคับพรรค เพื่อดึงเรื่องใต้ดินมาอยู่บนดิน และการทำงานของพรรคการเมืองโปร่งใส" นายชาติชายกล่าว

นายชาติชายกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กรธ.ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อความเห็นให้ปรับแก้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. แล้ว โดย กรธ.จะนำรายละเอียดมาพิจารณาในวันที่ 23 ธ.ค.นี้

ด้าน นายนรชิต กล่าวว่า โฆษกกรรมการร่างรธน. ออกมาพูดถึงการแก้ไขในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย เช่น จำนวนสมาชิกพรรคเมื่อครบ 4 ปี ค่าใช้จ่าย จำนวนเงิน ค่อยๆสรุปออกมาโดยน่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้

ส่วนด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ออกมาสนับสนุน โดยกล่าวว่า
"ส่วนตัวเชื่อว่าร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทำให้เกิดการปฏิรูปพรรคการเมืองอย่างแท้จริง นำไปสู่การส่งเสริมให้สมาชิกพรรคมีบทบาทสำคัญกับการดำรงอยู่ของพรรค ทำให้พรรคจะต้องให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคทุกคน จะได้ประชาชนผู้มีอุดมการณ์ตื่นตัวทางการเมืองมาเป็นสมาชิกพรรค ไม่ใช่มีเฉพาะนายทุนผลประโยชน์การเมือง กับประชาชนที่เพียงถูกหัวคะแนนรวบรวมชื่อมาเป็นสมาชิกพรรค ปฏิรูปให้เป็นพรรคระดับชาติจากศรัทธาของประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่เป็นบริษัทการเมืองส่วนตัวอย่างที่ผ่านมาจึงขอสนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ " นายไพบูลย์กล่าว

มีรายงานจากรัฐสภาระบุว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันที่ 23 ธ.ค.นี้ จะมีวาระการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง "การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม"
มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ ในระบบราชการไทย ได้แก่

1.การดำเนินการ ด้านนิติบัญญัติ รัฐสภาควรทบทวนปรับปรุงกฎหมายที่มีช่องว่างให้เกิดระบบอุปถัมภ์ให้มีความทันสมัย
2.การดำเนินการด้านบริหาร ได้แก่ การยกระดับการแก้ปัญหาอุปถัมภ์เป็นวาระแห่งชาติ การมีประมวลจริยธรรมที่ต้องมีจิตสำนึกและปฏิบัติอย่างจริงจังดังเช่นกฎเกณฑ์บางประเทศที่มีมาตรการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟกับผู้มีส่วนได้ประโยชน์ การห้ามข้าราชการที่เกษียณอายุเป็นที่ปรึกษาให้ภาคธุรกิจที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจในหน่วยราชการนั้นๆ อย่างน้อย 2 ปี ตลอดจนการกำหนดระเบียบปฏิบัติราชการให้ผู้บริหารระดับสูงพึงระวังในการ ลดการมีผู้ติดตามหรือช่วยงานในกรณีพิเศษ เช่น การช่วยงานหน้าห้องให้เหลือน้อยลงเท่าที่จำเป็น เพื่อลดโอกาสการใช้ความใกล้ชิด ประจบสอพลอให้เกิดการอุปถัมภ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ทำงานในระบบปกติ
3.ข้อเสนอการดำเนินการด้านตุลาการและกระบวนการให้ความเป็นธรรม ควรลดขั้นตอนกระบวนการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รวดเร็ว เป็นธรรม และเร่งเยียวยาผู้เสียหายทันที เมื่อรับทราบความเสียหายที่เกิดขึ้น และกรณีที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบในเบื้องต้นว่า ข้าราชการระดับสูงมีมูลความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกร้องเรียน ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคดีจะวินิจฉัยเสร็จ
        
 4.ข้อเสนอแนะการดำเนินการด้าน สังคมและการรับรู้ ได้แก่ การจัดอบรมหลักสูตรปลูกฝังนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ควรวางกรอบของหลักสูตรเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง มิใช่ประเภทที่หวังเข้ามาอบรมเพราะต้องการมีคนรู้จัก สนิทสนมในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะหลักสูตรของหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องระวังให้มาก ไม่ให้ใช้โอกาสของความใกล้ชิดสนิทสนมการเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของหลักสูตรต่างๆ มาแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดการอุปถัมภ์กันในลักษณะต่างๆ

 

ข้อมูลจากรายการทีนิวส์ สด ลึก จริง

รายงานโดย ภัทราพร สำนักข่าวทีนิวส์