ปรองดองกับนักการเมืองถึงทางตันแค่ให้ทหารเซ็น Mou ไม่รัฐประหารก็ชัดแล้ว (รายละเอียด)

ปรองดองกับนักการเมืองถึงทางตัน แค่ให้ทหารเซ็น Mou ไม่รัฐประหารก็ชัดแล้ว (รายละเอียด)

หลังจากรัฐบาลประกาศชัดในการที่จะเริ่มดำเนินการเพื่อความปรองดอง โดยเริ่มจากการขจัดความขัดแย้ง โดยแนวทางหนึ่งที่ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เสนอคือการให้มีการเตรียมแผนพูดคุยกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ และลงไปถึงการลงนามใน MOU หลังจากนั้นก็ได้มีกระแสตอบรับที่ชัดเจนจากทางด้านกองทัพ โดยผบ. 4 เหล่าทัพประกาศหนุนรัฐบาลเต็มที่ พร้อมทำทุกอย่างให้ปรองดองสำเร็จ

สำหรับพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ก็มีผู้ออกมาแสดงความเห็นกันหลากหลาย ส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนในการสร้างความปรองดอง บางกลุ่มบางพรรคก็มองเลยเถิดไปถึงการอภัยโทษ และนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นความเห็นสำเร็จรูปของบางพรรคการเมืองที่เห็นว่าการปรองดองต้องเริ่มจากการ "แล้วๆ กันไป" กับการกระทำที่เกิดขึ้นในอดีต

โดยเมื่อวานที่ผ่านมานั้น (20/01/2560) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ประกาศไม่ลงนามเอ็มโอยูเพื่อทำสัญญาปรองดอง หลังมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ตนพูดตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องเป็นข้อตกลง ส่วนจะลงนามหรือไม่ลงนามหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องตกลงร่วมกันก่อนว่าต้องอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างสันติ ต้องการแค่ให้เกิดความปรองดอง ตนคิดว่าชัดเจนแล้ว ไม่ขอพูดเรื่องรายละเอียด

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้ทหารลงนามในเอ็มโอยูไม่ให้ออกมารัฐประหารอีกนั้น ตนคิดว่าทหารเป็นกลาง ไม่มีความขัดแย้ง ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาครั้งนั้นไม่ได้ปฏิวัติ แต่เป็นการหยุดความขัดแย้งเพื่อให้บ้านเมืองสงบ

“ไม่มีใครอยากจะปฏิวัติ ไม่ต้องไปเซ็นหรอก ผมยืนยันไม่มีใครอยากทำ ท่านคิดไปเองว่าทหารจะออกมา ตอนนี้ผมอายุ 70 กว่าปีแล้ว อยู่มาตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครอยากจะมาแย่ง แต่เมื่อบ้านเมืองไปไม่ได้ ที่สำคัญประชาชนเห็นชอบให้เราเข้ามาเพื่อให้เกิดความสงบ การออกมาปฏิวัติถ้าประชาชนไม่เอาด้วยไม่มีทางทำได้อยู่แล้ว อันนี้เป็นความคิดของผม และคิดว่าทหารส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้ ไม่มีใครอยากมายึดอำนาจ อยากมีอำนาจ ไม่เห็นมีอะไรดี ใครอยากมาแทนผมก็มา ผมไม่ว่าหรอก“ พล.อ.ประวิตรกล่าว
ว่าที่รองประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวว่า ในกรณีการกำหนดประเด็นหรือที่มาว่ามีเรื่องอะไรบ้างนั้น ทหารไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ได้พูดคุยด้วย แต่เป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งหมดมาสรุปว่าจะทำอะไรร่วมกัน เป็นข้อตกลงเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ เพียงแต่ไปดูว่าอะไรที่เป็นต้องออกเป็นกฎหมายก็ว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือมาตรา 44 หรือทำอะไรที่ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ทหารอยากทำอะไรก็ทำ ทหารไม่เกี่ยว ไม่มีการลงโทษว่าใครไม่ทำตาม เพราะบทลงโทษนั้นมีอยู่ในกฎหมายอยู่แล้ว ตรงนี้อยากให้อนาคตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เรื่องนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนิรโทษกรรม กฎหมายเก่าและคดีเก่า เป็นเรื่องของศาลยุติธรรมที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

"ไม่มีบทลงโทษ ทุกคนก็รู้กันเอง เชื่อว่าเมื่อทุกคนยอมรับว่ากติกาเป็นเช่นนี้ จะอยู่ร่วมกันแบบนี้ ก็แค่นั้นเอง เป็นข้อตกลงร่วมกัน และไม่ใช่สัญญาใจ ถ้าไม่ตกลงก็ไม่เป็นไร ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร อย่าไปคิดมาก ถ้าท่านไม่รับก็ไม่รับ ส่วนจะเป็นการปรองดองแค่ระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่ ไม่เป็นไร ขอให้เกิดความปรองดองก่อน จะระยะสั้น หรือระยะยาว ถ้าทุกฝ่ายได้พูด และมีข้อสรุปว่าเป็นข้อตกลง"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนไม่ได้พูดว่ามั่นใจ ผู้สื่อข่าวพูดเอง ตนไม่รู้อนาคต สิ่งนี้เป็นความคิด จะมาสรุปว่ามั่นใจได้อย่างไร เพียงแต่เราหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อตกลงกันแล้ว ถ้าไม่ทำก็จะถามกันเองว่าทำไมตกลงแล้วไม่ ส่วนกรณีที่พรรค-กลุ่มการเมืองไม่ได้เป็นกรรมการคุยปรองดอง มีแต่ทหารนั้น เพราะเลือกเอาคนเป็นกลาง ทหารไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง คนดูแลบ้านเมืองต่อคือ พรรคการเมือง นักการเมือง ทหารสนับสนุน ไม่เกี่ยวกับทหาร

ปรองดองกับนักการเมืองถึงทางตันแค่ให้ทหารเซ็น Mou ไม่รัฐประหารก็ชัดแล้ว (รายละเอียด)

จากคำสัมภาษณ์ข้างต้นของพล.อ.ประวิตรนั้น ทำให้เราย้อนไปถึงการออกแสดงท่าทีของอดีตกปปส. นั่นก็คือนายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นเรื่องแนวทางการปรองดองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยระบุว่า

“เรื่อง MOU ปรองดอง ผมเองเห็นด้วยตรงที่ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “MOU ไม่ใช่การขัดกฎหมาย และต้องตกลงร่วมกัน” เพราะอะไรก็อยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ รวมถึงการตกลงก็คือการเปิดให้ทุกฝ่ายได้หารือกัน และได้โปรดอย่าลืมว่า MOU ที่คนไทยต้องการนั้น รวมถึงการที่ทหารจะไม่ออกมาทำการรัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญ อีกด้วยในอนาคต นั่นก็แปลว่าในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ประชาชนจะต้องได้รับระบบการบังคับใช้กฎหมายที่ดีเพียงพอที่จะใช้ตรวจสอบ ควบคุมการบริหารประเทศ และสามารถจัดการข้อขัดแย้งกันเองได้ โดยทหารจะได้เอาเวลาไปปฏิบัติหน้าที่เฉพาะของตนเองได้อย่างเต็มที่”
ทั้งนี้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโพสต์ถามนายกษิตว่า “ผมไม่เข้าใจว่า ปรองดองคืออะไร เพราะที่ทะเลาะกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือคนที่รักทักษิณ กับ คนที่เกลียดทักษิน ที่ไม่มีวันที่จะร่วมมือไปด้วยกันได้ ทั้งฝ่ายนักการเมืองและประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ยังคงต้องมีความเห็นขัดแย้งไปอีกนาน?
โดยนายกษิต ตอบคำถามดังกล่าวว่า
“การปรองดองคือการหาทางออกร่วมกัน ผ่านทางการหารือจากคู่ขัดแย้ง หากมองจากมุมของคนรักทักษิณ อีกฝ่ายคือผู้ทำลายประชาธิปไตย เพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
หากมองจากฝ่ายเกลียดทักษิณ อีกฝ่ายคือผู้ทำลายประชาธิปไตย เพราะไม่เคารพหลัก ปชต. ดังนั้นก็ต้องกลับมาตกลงกันให้ได้ว่าหลัก ปชต. ร่วมกันคืออะไร แล้วให้เกิดกระบวนการค้นหาความจริงจากผู้ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ โดยจะต้องสัญญากันไว้ว่า ไม่ว่าผลเป็นอย่างไรให้ถือเป็นที่สุด
หลังจากนั้นก็ให้ยึดเป็นบรรทัดฐานในการอยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคต
ส่วนเรื่องทางกฎหมาย (เช่นการคอรัปชั่น) ก็ให้ดำเนินควบคู่กันต่อไป ตามดุลยพินิจของกระบวนการยุติธรรม โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้กระโจนเข้าร่วมวงขัดแย้งครั้งนั้นได้มีโอกาสในการดำเนินชีวิตต่อได้ด้วย”

ปรองดองกับนักการเมืองถึงทางตันแค่ให้ทหารเซ็น Mou ไม่รัฐประหารก็ชัดแล้ว (รายละเอียด)

โดยเมื่อวานที่ผ่านมาอีกคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยเพราะได้มีสัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจสำหรับประเด็นการทำเอ็มโอยูนั้นนั่นก็คือ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 20 มกราคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะเดินทางมาพบกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. และรองประธาน สนช. ตลอดจนประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรองประธาน สปท. เพื่อหารือเบื้องต้นถึงการวางกรอบสร้างความปรองดอง ซึ่งในส่วน สนช.พร้อมผลักดันกระบวนการสร้างความปรองดอง ขณะนี้กรรมาธิการการเมือง สนช. กำลังพิจารณาร่างพ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความปรองดอง

“เรื่องการสร้างความปรองดองเชื่อว่าทุกฝ่ายตั้งความหวังให้ประสบความสำเร็จ มิเช่นนั้น ป.ย.ป.คงไม่ทำ รัฐบาลโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะนำผลการศึกษาของคณะกรรมการหลายชุดที่เคยศึกษาเรื่องการปรองดองมาเป็นตัวช่วยสำคัญ โดยเฉพาะการพิจารณาว่าสาเหตุที่ทำให้การสร้างความปรองดองในอดีตตามที่คณะกรรมการแต่ละชุดศึกษามาไม่ประสบความสำเร็จมีจุดติดขัดเรื่องใด นอกจากนี้ อยากให้ทุกฝ่ายละจากจุดยืนเดิม มายืนบนจุดร่วมประเทศชาติ ลดทิฐิของตัวเอง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อได้” นายสุรชัยกล่าว

นายสุรชัยยังกล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการลงนามเอ็มโอยูเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการสร้างความปรองดองว่า เรื่องนี้ต้องถาม พล.อ.ประวิตรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่สังคมอยากได้ความแน่นอนว่า หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว ทุกฝ่ายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยพูด เพราะต้องปฏิบัติตามสัจจะสัญญาเพื่อเป็นแนวทาง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย ถ้าละทิ้งจุดยืนตัวเองได้ ก็เดินหน้าได้ ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรม อภัยโทษ เป็นแค่วิธีการ ขอให้เอาหลักการก่อน เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรมีวิธีการอยู่ในใจแล้ว ส่วนที่กลุ่มการเมืองปฏิเสธการลงนามเอ็มโอยูนั้น มองว่าถ้าเปิดโอกาสให้คณะกรรมการปรองดองของรัฐบาลทำงานจริงจัง ทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้จากการเจรจาทำความเข้าใจ เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทุกอย่างก็เหมือนเดิม สำหรับข้อห่วงใยเรื่องการนำทหารมาร่วมเป็นกรรมการปรองดองมากเกินไปนั้น เป็นความเห็นที่สะท้อนมา เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องรับฟังอยู่

ปรองดองกับนักการเมืองถึงทางตันแค่ให้ทหารเซ็น Mou ไม่รัฐประหารก็ชัดแล้ว (รายละเอียด)

แน่นอนหากมีฝ่ายที่เห็นด้วยก็ต้องมีฝ่ายตั้งเงื่อนไขสำหรับการเซ็น Mou ในการปรองดองครั้งนี้นั่นก็คือ  นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ต้นเหตุของความขัดแย้งมาจากคนสองกลุ่ม คือกลุ่มทหารที่เกษียณแล้ว เป็นพวกทหารการเมืองและกลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพ เทือสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่วางแผนกันทำรัฐประหาร หาเหตุโดยอ้างว่าจะเข้ามาทำลายระบอบทักษิณ รวมทั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น มาวันนี้คนที่จะเข้ามาสร้างความปรองดอง คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็เป็นบุคคลที่อยู่ในขบวนการรัฐประหาร เป็นนักการเมืองด้วยวิธีรัฐประหาร ถามว่าการปรองดองจะสำเร็จได้หรือถ้าคนที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งคนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ทั้งนี้ ที่นายสุเทพออกมาระบุว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรม ไม่เซ็นเอ็มโอยูเพื่อปรองดองนั้น แล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้แค่ไหน

นายวรชัยกล่าวอีกว่า มองว่ารัฐบาลควรดึงคนกลาง เช่น นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมือง เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาและร่วมกันหาทางออก ตนมองว่าสิ่งสำคัญของการปรองดองไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการสร้างจิตสำนึก โดยเฉพาะนายทหารนักการเมืองบางคนให้รู้จักเคารพกติกาของประเทศ หากอยากมีอำนาจ อยากเข้ามาบริหารประเทศ ขอให้มาลงเลือกตั้ง เลิกคิดทำรัฐประหารได้แล้ว ซึ่งตนอยากเสนอให้ทางนายทหารและกองทัพมาเซ็นเอ็มโอยูด้วย ว่าจะไม่ทำรัฐประหารอีก

ปรองดองกับนักการเมืองถึงทางตันแค่ให้ทหารเซ็น Mou ไม่รัฐประหารก็ชัดแล้ว (รายละเอียด)

ส่วนแกนนำสำคัญอีกคนหนึ่งทางฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ได้กล่าวโจมตีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถึงเรื่องการเซ็นสัญา Mou นั่นก็คือ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. ออกมาประกาศ จะไม่เซ็นเอ็มโอยูที่เกี่ยวข้องกับการยุติความขัดแย้งว่า ไม่เหนือความคาดหมาย ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอันเป็นต้นเหตุทำให้ประชาชนทุกข์ยาก เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ มาจากปัญหาชัตดาวน์ประเทศ ชัตดาวน์ระบบราชการ ก่อจลาจลขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเหมือนไม่มีขื่อไม่มีแป ซึ่งถ้าจะปรองดองจริง การชัตดาวน์หรือการก่อจลาจลลักษณะนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก การปรองดองมีมากกว่าการเซ็นเอ็มโอยู การปรองดองมีมากกว่าการนิรโทษกรรม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งต้องดูภาพใหญ่ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งว่า มาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม 2 มาตรฐาน การไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน การไม่เคารพหลักนิติธรรม ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย การรัฐประหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือสมคบคิดกันสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจหรือไม่ การปรองดองต้องค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้เสียก่อน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีเฉพาะนักการเมืองจริงหรือ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันมองภาพใหญ่

ทั้งนี้ การปฏิบัติการไอโอเรื่องปรองดอง ต้องการสื่อว่าคนขัดแย้งคือนักการเมืองหรือไม่ แล้วที่จริงคู่ขัดแย้งมีมากกว่านั้นหรือไม่ สมาชิกส่วนใหญ่กปปส.ก็อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ แต่พรรคเพื่อไทย มองว่าการปรองดองจะต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง และต้องมองภาพใหญ่เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้เสียก่อน ซึ่งถ้าหากว่าสามารถปรองดองได้ประเทศชาติสงบ เดินหน้าพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นได้ คงไม่มีใครไปไปขัดขวาง

โดยเอกสิทธิ์ สำนักข่าวทีนิวส์