ความจริงที่หลายคนไม่กล้าพูด!! วันวาเลนไทน์  ไม่ใช่วันเสียตัวของวัยรุ่น เพราะ วัยรุ่นมีเซ็กซ์ได้ทุกวัน

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมเคยเชื่อกันว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันเสียตัว ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกต่อไป

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แต่เดิมเคยเชื่อกันว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันเสียตัว ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกต่อไป ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาใน กทม. ประมาณ 1,250 คน พบว่า วัยรุ่นทั้งชายและหญิง มากกว่า 4 ใน 5 หรือประมาณ ร้อยละ 86 ยืนยันว่า วันวาเลนไทน์ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก บางส่วนมองว่า วันวาเลนไทน์ เป็นวันที่ผู้ปกครองจะควบคุมอย่างใกล้ชิด บางความคิดเห็นมองว่า การมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้ทุกวัน


“วัยรุ่นส่วนใหญ่เลือกใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิด ร้อยละ 89 และ ร้อยละ 75 คิดว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ขณะที่วัยรุ่นหญิง เกือบร้อยละ 90 ไม่ได้มีการคุมกำเนิดเองแต่เลือกให้ผู้ชายใช้ถุงยางอนามัย ส่วนหนึ่งไม่ใช้ยาคุม เพราะกลัวผู้ปกครองเห็น กลัวผลข้างเคียงของยา เช่น อ้วน เป็นฝ้า และยังมีวัยรุ่นประมาณ ร้อยละ 1.5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย มองว่า การคุมกำเนิดเป็นเรื่องไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังพบว่า เมื่อมีปัญหาวัยรุ่นเกินครึ่งเลือกใช้วิธีระบายกับเพื่อนมากที่สุด รองลงมา คือ พ่อแม่ และมีเพียงร้อยละ 5 เลือกที่จะปรึกษาแฟน” 
       
พ่อแม่ผู้ปกครอง ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่วัยรุ่นนึกถึงเมื่อมีปัญหา วันวาเลนไทน์จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงความรักในครอบครัว อาจใช้การพูดหรือเขียนบอกความรู้สึกรักและห่วงใย หรือเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำร่วมกัน เช่น ทำอาหารที่ลูกชอบ ลูกอาจทำอะไรที่เป็นการดูแลพ่อแม่ตอบแทนหรือรับผิดชอบตนเองให้เป็นของขวัญขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ หรือเป็นโอกาสในการขอโทษและตั้งต้นใหม่ร่วมกัน สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกตั้งแต่วัยเด็กและท่าทีของพ่อแม่ที่รับฟัง เปิดใจ พยายามเข้าใจ ยอมรับความสนใจเรื่องเพศตามวัย ไม่ด่วนตำหนิหรือตัดสินลูก ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวจะเป็นปัจจัยปกป้องที่สำคัญที่สุด ในการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงๆ ต่างๆ ในช่วงลูกวัยรุ่น

นายสิทธิศักดิ์ พนไธสงค์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจ “สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก” ในกลุ่มผู้หญิง อายุ 17 - 40 ปี จำนวน 1,608 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 27 ม.ค. - 2 ก.พ. 2560 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า “ไม่จำเป็นที่วันวาเลนไทน์ต้องแสดงความรัก เพราะสามารถทำได้ทุกวันอยู่แล้ว” เมื่อถามถึงมุมมองความรัก พบว่า 76.8% มองว่า ผู้หญิงต้องรักเดียวใจเดียว 47.9% มองว่า ผู้ชายควรเป็นผู้นำครอบครัว 43.3% มองว่า ภรรยา/คนรักที่ดีต้องเชื่อฟัง เอาอกเอาใจ 40.3% มองว่า รักต้องครอบครอง ผู้หญิงเปรียบเป็นสมบัติสามี 20.8% มองว่าผู้ชายมีอะไรกับคนรักแล้วไม่ป้องกัน แสดงถึงความไว้วางใจ และ 18.2% มองว่า การหลับนอนกับสามี/คนรัก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ขณะที่เรื่องความรุนแรง พบว่า 42.2% ถูกล่อลวง/บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และ 41.1% ถูกบังคับให้ทำแท้ง
       
     
  “ปัญหาความรุนแรงในคู่รักเกิดมาจากทัศนคติการมองความรักเป็นการใช้อำนาจ แสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และมองว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของคนรัก ล้วนมาจากทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ คนในสังคมจึงควรปรับเปลี่ยนมุมมองความรัก ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ความสำคัญกับความรัก ให้เกียรติกัน เข้าใจกัน แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรมุ่งประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในเทศกาลวาเลนไทน์ แต่ควรมีมาตรการรับมือปัญหาจากปัจจัยกระตุ้นอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรรณรงค์สร้างความรักในนิยามใหม่ ที่เน้นความเข้าใจ การเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรปรับหลักสูตรเน้นการเรียนการสอน มิติบทบาทหญิงชาย เพื่อสร้างทัศนคติตั้งแต่วัยเด็กให้เข้าใจความรักในแบบที่มีความเคารพสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ”

ผศ.ดร.ฐิยาพร กันตาธนวัฒน์ อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา เช่น โครงการคุณแม่วัยใส โครงการ Stop teen mom และโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นต้น แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศไม่ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงการและกิจกรรมรณรงค์ เกิดขึ้นจากการริเริ่มของหน่วยงานเป็นหลัก ไม่ได้มาถามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือตัววัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมากนัก ที่สำคัญ สังคมไทยมักประสบปัญหาที่ว่า แม้เรื่องเพศจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่กลับเป็นเรื่องที่สถานศึกษาให้เวลาจัดการเรียนรู้น้อยมาก ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็เน้นด้านชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และความแตกต่างระหว่างชายหญิง มากกว่าการให้ความรู้ในทางปฏิบัติ เช่น วิธีการใช้ถุงยางอนามัย วิธีคุมกำเนิด แทบจะไม่มีการสอนการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ และทักษะการต่อรอง

กิจกรรมรณรงค์ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ จึงต้องเน้นการมีส่วนร่วมของวัยรุ่นเป็นหลัก และเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะดังนี้

1. มุ่งเน้นพัฒนาการบวนการคิด เช่น การล้อมวงในจำนวนที่ไม่มาก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างเพื่อน ครู และผู้มีประสบการณ์ ในลักษณะการทำเรื่องลับให้เป็นเรื่องแจ้งแบบสุภาพ

2. มุ่งเน้นทักษะการสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น การจัดกลุ่มสนับสนุนกันและกัน รวมไปถึงการปรับความคิดเรื่องเพศไปในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม หรือกิจกรรมในรูปแบบการพัฒนาทักษะชีวิต เช่น ความสามารถในการปฏิเสธ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เสี่ยง

 

 

Sathaporn Tnews