ไขข้องข้องใจ ค่าปรับกฎหมายจราจรสุดเข้ม จ่ายแล้วเงินไปอยู่ตรงไหน

ติดตามข้อมูลได้ที่ www.tnews.co.th

 ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เตรียมถูกใช้เข้ม ปมกันคนห้ามนั่งแค็บ-หลังกระบะ เจอปรับ 2 พัน เช็ก พ.ร.บ.จราจร พบผู้จับกุมได้ส่วนแบ่ง 570 บาท 

          จากกรณีที่ประชาชนกำลังหนาว ๆ ร้อน ๆ หลังคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้มาตรา 44 เรื่องกฎการใช้รถกระบะว่า ห้ามรถกระบะมีแค็บบรรทุกคนเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เช่นเดียวกับกรณีไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ที่มีโทษปรับ 500 บาท ซึ่งกำลังถูกกวดขันให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในขณะนี้นั้น
          ประเด็นดังกล่าว ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าช่วงเทศกาลที่มีการสัญจรเยอะ ๆ ก็อาจจะทำให้มีหลายกลุ่มเกิดความเดือดร้อนได้ ตามมาซึ่งความจริงที่ว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น น่าจะได้ค่าปรับจากผู้ที่ทำผิดกฎเหล่านี้ไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า เงินที่ได้จากการเก็บค่าปรับนั้น จะถูกแบ่งไปให้ส่วนใดบ้าง 
 

สำหรับกรณีนี้ ตามกฎหมายแล้วอยู่ในประเภทค่าปรับจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งหลักเกณฑ์การนำเงินส่งหน่วยการเงินที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ สามารถแยกคิดคำนวณได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
    
          1. หลังจากได้ค่าปรับแล้ว เงินที่ได้มาจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน โดย 50 เปอร์เซ็นต์แรกจะถูกนำส่งกรุงเทพมหานคร ส่วนกรณีต่างจังหวัดค่าปรับส่วนนี้จะถูกส่งเข้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          2. จากนั้น ค่าปรับที่ถูกหักเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จะถูกหัก 5 เปอร์เซ็นต์ ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

          3. เงินที่เหลือจาก 2 ข้อด้านบน จะถูกนำมาจัดสรรสำหรับเป็นรางวัลผู้จับกุมและผู้สนับสนุนงานจราจร ในอัตรา 60 : 40 โดย ผู้จับกุมจะได้ส่วนแบ่งในอัตราร้อยละ 60  ส่วนผู้สนับสนุนจะได้ร้อยละ 40 ตามลำดับ

 ยกตัวอย่าง : หากถูกปรับข้อหานั่งท้ายกระบะ เป็นเงิน 2,000 บาท เงิน 1,000 บาท จะถูกส่งให้จังหวัด จึงเหลืออีก 1,000 บาท หัก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายได้แผ่นดิน 50 บาท เหลือ 950 บาท เป็นเงินรางวัลจราจร ซึ่งผู้จับกุมจะได้ส่วนแบ่ง 60 เปอร์เซ็นต์จาก 950 เท่ากับ 570 บาท และแบ่งให้ผู้สนับสนุนงานจราจร 40 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 380 บาท 

          อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวเป็นแค่หลักเกณฑ์การนำเงินส่งหน่วยการเงินที่เกี่ยวข้องของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เท่านั้น ซึ่งผู้ที่ใช้รถใช้ถนนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจไม่ให้เป็นผู้ทำผิดกฎหมายอยู่เสมอ เพราะยังมีโทษปรับข้อหาอื่น ๆ  อีกมาก ไม่ว่าจาก พร.บ. ฉบับนี้ หรือ พ.ร.บ.อื่น ๆ