กางปฏิทิน 4 ขั้น !?!? นับถอยหลังเลือกตั้ง 19 เดือน ...เช็คความพร้อมพรรคการเมืองกับสัญญาณปลดล็อคจาก คสช.

กางปฏิทิน 4 ขั้น !?!? นับถอยหลังเลือกตั้ง 19 เดือน ...เช็คความพร้อมพรรคการเมืองกับสัญญาณปลดล็อคจาก คสช.

การเลือกตั้งชัดเจนขึ้นหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เมษายน หลังจากคลุมเครือ ขาดความชัดเจนมาโดยตลอดนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ปฏิทินสู่การเลือกตั้งหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ประกอบด้วย

1.กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ ในเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน ทั้งนี้ กรธ.สามารถทยอยส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาทีละฉบับได้

2.สนช.พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ทั้ง 10 ฉบับ แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน

(2.1) เมื่อ สนช.พิจารณาแล้ว ก็ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณา หากไม่เห็นด้วย ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ก่อนส่งนายกฯทูลเกล้าฯ

3.เข้าสู่ขั้นตอนการโปรดเกล้าฯและประกาศใช้ภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน

5.เข้าสู่การจัดการเลือกตั้ง 150 วัน หรือ 5 เดือน

เมื่อนำ 8 เดือน มากบวกกับ 2 เดือน 4 เดือน และ 5 เดือน ผลลับคือ มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 19 เดือนนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วกว่า 19 เดือนได้ หาก กรธ.เร่งจัดทำกฎหลายลูก โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. กกต.และพรรคการเมือง เพราะหาก กรธ.ส่งเร็ว สนช. ก็จะพิจารณาได้เร็ว

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นช้ากว่า 19 เดือนได้ หาก สนช.ตีตกกฎหมายลูก ซึ่งกรณีนี้ ไม่มีบทบัญญัติรองรับ จึงต้องอนุโลมด้วยการให้เขียนใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกต่อไป

สำหรับความพร้อมของพรรคการเมือง วันนี้ทุกพรรคต่างเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเลือกตั้ง โดยรอ คสช.ปลดล็อค ให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพื่อที่จะประชุม วางแผนเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ปี 2561 นี้

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย(พท.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเวลาเลือกตั้งให้คนไทย เพราะเป็นเวลาที่ทุกคนคอยกันมานานแล้ว

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) บอกว่า การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ การหาบุคคลากรใหม่ๆ การเตรียมนโยบาย ปชป. ได้ดำเนินการมาโดยตลอด จึงความมีพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ปชป.เป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่ไม่เหมือนใคร เป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต และผลประโยชน์ของประชาชน เรามีความพร้อมจากประสบการณ์ทั้งในทางที่ดี และไม่ดี เพื่อนำพาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายหลักๆ 4 นโยบาย จะเสนอต่อประชาชน เชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เราอยากนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดแก่ประชาชน นำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้ และจับต้องได้โดยเร็ว นอกจากนี้ยังจะส่งผู้สมัครเลือกตั้งในทุกเขตด้วย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะเปิดทางให้พรรคการเมืองสามารถเตรียมความพร้อมลงสนามเลือกตั้งได้เมื่อใด แม้วันนี้จะยังไม่มีสัญญาณดังกล่าว แต่คาดว่า หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 ก็คงจะได้เวลาปลดปล่อยนักการเมือง