เบรก “ขวัญใจชาวบ้าน พ่อกำนัน คุณอาผู้ใหญ่” จุดเสี่ยงที่ได้ใจของ “วิทยา แก้วภราดัย”

เบรก “ขวัญใจชาวบ้าน พ่อกำนัน คุณอาผู้ใหญ่” จุดเสี่ยงที่ได้ใจของ “วิทยา แก้วภราดัย”

“ขวัญใจไก่แจ้
แม่สาวรำวงกระโปรงบานบาน
ขวัญใจชาวบ้าน
ต้องพ่อกำนัน-คุณอาผู้ใหญ่” 

ท่อนแรกและฮุกของเพลง “กำนันผู้ใหญ่บ้าน” ของวงคาราบาว ในอัลบั้ม “แจกกล้วย” ที่วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2538 เพลงนี้บอกเล่าถึงบทบาทหน้าที่กำนันผู้ใหญ่ฯอันเป็นดั่งขวัญใจชาวบ้าน โดยเพลงได้ให้กำลังใจกำนันผู้ใหญ่ฯในการทำงานไปพร้อมๆกัน

ตอนนั้นกำนันผู้ใหญ่บ้านมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี แล้วค่อยจัดเลือกตั้งใหม่ หาคนที่เป็นขวัญชาวบ้านเข้ามาเป็นตัวแทนของตัวเองด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ก่อนจะมาเปลี่ยนให้กำนันผู้ใหญ่ฯอยู่จนเกษียณอายุ 60 ปี ภายหลัง

ถือว่าใจถึงอย่างยิ่งกับข้อเสนอของนายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  ที่เปิดอก ยอมรับอย่างลูกผู้ชาย ว่าเป็นคนที่เสนอให้มีการปฎิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยตัดวาระการดำรงตำแหน่งของบรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านลง จากเกษียณอายุ 60 ปี ให้มีการเลือกตั้งใหม่ทุกๆ 5 ปี 

ที่ว่าใจถึงก็เพราะปมดังกล่าว เป็นเรื่องที่นับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการแก้กฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่ฯอยู่ยาวจนเกษียณอายุ 60 ปี ก็มีความพยายามปรับเปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งของกำนันผู้ใหญ่ฯจากฝ่ายการเมืองนักการเมืองมาโดยตลอด กระนั้นทุกครั้งที่ผ่านมา ความพยายามนี้กลับถูกพับเก็บไว้ในลิ้นชัก ไม่เคยไปได้ตลอดรอดฝั่ง

นั่นเพราะเพียงแค่เอ่ยปาก ว่าจะมีการปรับใหม่ ยกเลิกการเกษียณอายุที่ 60 ปี เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่ฯทั่วประเทศ ก็พร้อมสวมชุดราชการ ออกมารวมตัวแสดงพลังต่อต้านอย่างเข้มแข็ง นี่จึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองไม่กล้าแตะต้อง เพราะพลังของเครือข่ายกำนันผู้ใหญ่ฯนั้นเรียกว่ามีมากมายมหาศาล 

ข้อเสนอของนายวิทยา แก้วภราดัย นับว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านขนานแท้ ที่ต้องการเลือกหรือเปลี่ยนตัวแทนของตัวเองได้ด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แม้ที่ผ่านมาจะมีการประเมินกำนันผู้ใหญ่ฯตามวาระ แต่การประเมินนี้ไม่เฉียบขาดเหมือนการเลือกตั้ง 

ต้องเข้าใจว่าสังคมชนบทกับสังคมเมืองนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะสังคมชนบทนั้น ทุกบ้านทุกครอบครัวจะรู้จักมักคุ้นกันหมด ค่อนข้างมีความเห็นอกเห็นกัน หากรู้สึกว่ากำนันผู้ใหญ่ฯทำงานไม่ได้เรื่อง หรือไม่เข้าตา ด้วยความที่รู้จักมักคุ้นกันนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงาน หรือติเตียนพฤติกรรมของพ่อบ้าน ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นทางออก

ถามว่าข้อเสนอของวิทยา แก้วภราดัย เสี่ยงหรือไม่ คำตอบคือเสี่ยง ยิ่งในฐานะนักการเมืองยิ่งเสี่ยง แม้นายวิทยา จะออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เพื่อเข้าร่วมกับ กปปส.อย่างเต็มตัวเมื่อการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วก็ตาม แต่โดยภาพลักษณ์แล้ว นายวิทยา ยังถือว่าเป็นของของ ปชป.อยู่ ดังนั้น นอกจากนายวิทยา แล้ว ปชป.เอง ก็เสี่ยงไม่แพ้กัน เสี่ยงตรงที่จะเสียฐานเสียงที่เป็นกำนันผู้ใหญ่ฯไป

จึงไม่แปลกที่ นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย จะไม่กล้ายืนยันว่าการเสนอเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบต่อนายวิทยาหรือไม่ โดยกล่าวแบบแทงกั๊กว่า “สำหรับอดีตนักการเมืองที่เสนอ จะมีผลกับฐานเสียงของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่ เรื่องนี้สมาชิกกำนันผู้ใหญ่ฯกว่า 3 แสนคนและครอบครัว ใช้ดุลพินิจพิจาณากันเอง"

อย่างไรก็ตาม แม้นายวิทยาและ ปชป.จะเสียแนวร่วมที่เป็นสมาชิกกำนันผู้ใหญ่กว่า 3 แสนคนและครอบครัวไป แต่สิ่งที่ได้กลับมา ก็คือใจประชาชนทั้งประเทศ

แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่อยากให้กำนันผู้ใหญ่ฯมองใครเป็นศัตรู อยากให้คิดแบบท่อนสุดท้ายของเพลงกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ร้องว่า 

“กราบเรียนกระทรวงทบวงกรม
พวกกระผมยังก้มหน้ารับใช้
ไม่ดีให้มาโทษผู้ใหญ่
ยังไม่พอใจให้ต่อว่ากำนัน
ถึงการเมืองมีอุปสรรค
แต่ความรักในหน้าที่การงาน
แม้ใครจะมาเป็นรัฐบาล
ผู้ใหญ่กำนันก็ไม่เคยนอกใจ
แม้ใครจะมาเป็นรัฐบาล
ผู้ใหญ่กำนันก็ไม่เคยนอกใจ”