เช็คข้อเสนอ “ปรองดอง”ก่อนทำสัญญาประชาคม

เช็คข้อเสนอ “ปรองดอง”ก่อนทำสัญญาประชาคม

กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่นำโดย บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินมาอีกก้าวสำคัญหลังจากที่ได้รับฟังความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเมืองในประเทศไทยจากทุกพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

กระบวนการนี้เป็นไปตามแนวทางที่ พล.อ.ประวิตร วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยกระบวนการเริ่มจากการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง กลุ่มการเมือง ฯลฯ เข้าร่วมพูดคุยหาทางออก จากนั้นจะเข้าสู่การหาข้อสรุปร่วมกัน ก่อนทำสัญญาประชาคมเพื่อยุติปัญหา

ทั้งหมดนี้มีความคืบหน้า โดยในวันที่ 26 เมษายน นี้ บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองจะเชิญบรรดาพรรคการเมืองทั้งน้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย(พท.) พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ฯลฯ กลุ่มการเมืองทั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กปปส. .(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ฯลฯ รวมแล้วกว่า 200 คน เข้ามาตรวจสอบข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ได้เสนอแนะไปแล้วก่อนหน้านั้น

ย้อนกลับไปดูข้อเสนอแนะจากฝ่ายการเมือง ที่ผ่านมามีข้อเสนอค่อนข้างหลากหลาย เริ่มจากพรรคเพื่อไทย(พท.) เสนอคณะกรรมการปรองดอง6 ข้อ ต่อคณะกรรมการปรองดองในวันที่ 8 มีนาคม มีสาระสำคัญที่ข้อ 2.ซึ่งเสนอว่า “สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือการให้อภัย และผู้ที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องเลิกคิดหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ต้องไม่ย่ำยีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งอีกต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อของความขัดแย้งต้องปรับจิตใจตนเอง โดยยอมรับการให้อภัยต่อผู้ที่กระทำต่อตน นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ นั่นคือการนำการให้อภัยไปสู่การปฏิบัติต่อไป”ข้อ 3.ค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อการยอมรับและนำไปสู่การแก้ปัญหานอกจากนี้พรรคเพื่อไทย(พท.) ยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระขึ้นมาดำเนินการเรื่องปรองดอง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคนำทีมเข้าให้ข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาสรุปข้อเสนอมีสาระสำคัญ เช่น 1.การปฏิรูปพรรคการเมือง โดยขจัดนายทุนที่เข้ามาครอบงำพรรคซึ่งจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน 2.รัฐบาลต้องมีขอบเขตในการใช้อำนาจ ไม่ก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรอิสระ 3.ปรับปรุงองค์กรอิสระให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.พัฒนาระบบเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ 4.ปรับปรุงระบบราชการให้มีความโปร่งใส ฯลฯ

ขณะที่ นปช. เสนอ11 ประเด็น ในวันที่ 15 มีนาคมเช่น 1.เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 เนื่องจากเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย3. ยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกิดจากคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ยังมีผลใช้อยู่ 4.กระบวนการร่างกฎหมาย การบังคับใช้ ควรอยู่บนหลักนิติธรรม ความเท่าเทียม และสอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนยอมรับในกระบวนการยุติธรรม5.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำฯลฯ

กปปส. เสนอ 5 ด้าน ในวันที่ 17 มีนาคม

1. การปฏิรูปการเมือง ต้องทำการเมืองให้เป็นของประชาชนคนไทย และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธ์ ยุติธรรม

2.การปฏิรูปกระบวนการแก้ปัญหาป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งคดีทุจริตจะต้องไม่มีอายุความ รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

3.การแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบราชการ  ที่ต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้จังหวัดเป็นนิติบุคล

4.การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะการศึกษารัฐต้องส่งเสริมการศึกษาในระดับอาชีวะ ปวช. และ ปวส. ให้ฟรี พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองและคุณธรรม ตั้งแต่เด็กเล็ก

5.การส่งเสริมอาชีพยกระดับรายได้ประชาชน

ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอจากพรรคการเมืองใหญ่และกลุ่มการเมืองหลัก ซึ่งยังมีอีกหลากหลายข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการปรองดองต้องนำมาประมวลผลและหารือกับทุกฝ่าย หากเห็นชอบร่วมกันก็จะเข้าสู่การทำสัญญาประชาคม เพื่อยุติปัญหา