หวงแหน - เห็นด้วย…. 2 ปฏิกิริยา “หมุดคณะราษฎร” ต่อบริบทสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่

หวงแหน - เห็นด้วย…. 2 ปฏิกิริยา “หมุดคณะราษฎร” ต่อบริบทสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่

              นับแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาชูโรงประท้วงกดดันรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 เรื่อยมาจนเกิดรัฐประหาร โดย พล.อ.สนธิ บุญรัตกรินทร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 สี คือเหลืองกับแดง

 

              สีแดงแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ เชิดชูระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังต่อต้านรัฐประหารและการใช้อำนาจนอกระบบไปพร้อมๆกัน เริ่มแรกสีแดงมีฐานเป็นกลุ่มคนรากหญ้าที่ชื่นชอบลักษณะการบริหารงานแบบรวดเร็วทันใจและได้ผลของนายทักษิณ

 

              ต่อมาก็ค่อยๆพัฒนาขึ้นหลากหลายจนแยกเป็นหลายสาย ไม่ว่าจะเป็น แดงสายรักทักษิณ,แดงสายหลักการ กลุ่มนี้แม้ไม่ได้สนับสนุนนายทักษิณ แต่อยู่ข้างนายทักษิณ เพราะเห็นว่านายทักษิณยังยืนอยู่ในหลักการประชาธิปไตยที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนนอกจากนี้ยังมี แดงสายกิจกรรมคนรุ่นใหม่ กลุ่มนี้ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารักทักษิณ แต่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ชอบทหารและพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) พวกเขาแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

 

              ส่วนสีเหลืองนั้น ก็แสดงออกอย่างชัดเจนเช่นกันว่าอยู่ตรงข้ามนายทักษิณ เพราะเห็นว่าอดีตนายกฯคนแดนไกลใช้อำนาจโดยมิชอบ คดโกง เป็นผู้นำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีทางอื่นที่จะหยุดหรือยับยั้งได้นอกจากรัฐหาร ด้วยเหตุนี้ การชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อปี 2548 จึงสนับสนุนให้มีการยึดอำนาจรัฐประหาร

 

              หลังรัฐประหารปี 2549 สีเหลืองยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แม้ตอนที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศยุติบทบาทในเดือนสิงหาคม 2556 แต่สีเหลืองก็ไม่ได้หายไปไหน ทว่ายังกระจายกันอยู่ทั่วในทุกการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นในนามคนหลากสี ม็อบเกี่ยวกับพลังงาน แม้แต่การกดดันรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 สีเหลืองก็เข้าไปปนอยู่กับ กปปส.

 

              บริบทสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่เป็นไปตามวิถีแบบเลือกข้างอย่างจัดเจน ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน อีกฝ่ายจึงบอกว่า ไม่มีประโยชน์หากการเลือกตั้งนั้นได้มาซึ่งคนคดโกง ได้ผู้นำที่เห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้องเข้ามาบริหารบ้านเมือง ฝ่ายหลังจึงบอกว่า ไม่ใช่เราจะไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่เห็นควรให้ปรับปรุงหลายสิ่งที่ส่อว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยจัดการเลือกตั้ง

 

               มีหลากหลายประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฝ่ายสีแดง ซึ่งมาเรียกตัวเองภายหลังว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” แสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยู่ข้างเดียวกับผู้ก่อการ“คณะราษฎร” มีการจัดกิจกรรมรำลึกทั้ง ดนตรี ศิลปะ เสวนาวิชาการ วางดองไม้พวงมาลัย ในวันที่ 24 มิถุนายนเกือบทุกปี

 

               แม้ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะห้ามทำกิจกรรมใดๆทางการเมือง กระนั้น ก็ยังมีกิจกรรมเล็กๆอย่างการวางดองไม้ พวงมาลัย อ่านบทกวีเพื่อเป็นการรำลึก ฝั่งนี้ต่างเชิดชูสรรเสริญเยินยอ “คณะราษฎร” เสียยกใหญ่ จนดูเหมือนจะเป็นการผูกขาดความรักคณะราษฎรไปเลยก็ว่าได้

 

               จึงไม่แปลกที่เมื่อ “หมุดคณะราษฎร” อันเป็นหนึ่งในสัญญาลักษณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475ที่ปักอยู่บนถนนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถูกสลับสับเปลี่ยนอย่างมิอาจพิสูจน์ทราบร่องรอย หรือเรียกง่ายว่า “โดนขโมยไปดื้อ”ปฏิกิริยาจากบริบทสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่จึงเป็นไป 2 ลักษณะคือหวงแหน และ เห็นด้วยที่มีคนขโมยหมุดฯไป

 

               เพราะในขณะที่ฝ่ายหนึ่งวิ่งเต้นขอให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตาม “หมุดคณะราษฎร” กลับมา อีกฝ่ายจึงได้ทีตอกกลับ ว่าหมุดนั้นมีความสำคัญอย่างไร

 

             นี่เป็นปฏิกิริยาจากผลพวงความขัดแย้งทางการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งบางทีก็ไม่เกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบคณะราษฎร

/////////

เมืองขมิ้น

////////