ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก !?!? "กทม. 27 เม.ย. " 1 ปีมี2วัน"  เช็กเวลาเตรียมตัวรับมือ "อุณหภูมิสูง" (รายละเอียด)

ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก !?!? "กทม. 27 เม.ย. " 1 ปีมี2วัน" เช็กเวลาเตรียมตัวรับมือ "อุณหภูมิสูง" (รายละเอียด)

 ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากใต้สุดของประเทศไทย ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในวันที่ 5 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 12:19 น. หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่เหนือขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 27 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 12.16 น. ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในแนวตั้งฉากกรุงเทพมหานคร และวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เวลาประมาณ 12:17 น. ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับเหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 


การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ    ก็อาจส่งผลต่ออุณหภูมิได้  

        เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ประเทศที่อยู่ในบริเวณนี้จะมีวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดปีละ 2 วัน โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกันและในครั้งต่อไปดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวตั้งฉากกับกรุงเทพฯ อีกครั้งช่วงฤดูฝนในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 เวลาประมาณ 12.24 น.

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน ในช่วงวันที่ 25-27 เม.ย.และวันที่ 30 เม.ย. - 1 พ.ค. อากาศร้อนในตอนกลางวันและมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 28-29 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.


ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ทางด้านลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะนี้


 


พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้(25เม.ย.) ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้.(26เม.ย.)

ภาคเหนือ

อากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดพะเยา น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลาง

อากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร


ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
 

อ้างอิงจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และ กรมอุตุนิยมวิยา