"ไม่เอาเลือกตั้งแบบเดิม" บิ๊กตู่ จุดยืนหนักแน่น ตีกรอบเปลี่ยนโฉมการเมือง ป้องกันปฏิวัติ "เสียของ"

"ไม่เอาเลือกตั้งแบบเดิม" บิ๊กตู่ จุดยืนหนักแน่น ตีกรอบเปลี่ยนโฉมการเมือง ป้องกันปฏิวัติ "เสียของ"

             สิ่งสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ตัดสินใจยึดอำนาจรัฐประหาร รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือต้องการระงับยับยั้งความรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่สิ่งสำคัญเมื่อรัฐประหาาสำเร็จ คือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นอีก

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ประยุทธ์รัฐประหาร

 

             จึงไม่แปลกที่หลังรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จะมีแนวคิดปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในทุกด้าน โดยตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ขึ้นมาประมวล วิเคราะห์ปัญหาของประเทศในแต่ละด้าน พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างถูกต้องเหมาะสม 

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

              มีข้อเสนอจาก สปท.หลายประการที่ดูจะขัดใจผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอที่ฝ่ายการเมืองหรือนักการเมืองไม่กล้าแตะต้อง อาทิ การเสนอลดวาระการดำรงตำแหน่งของกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน จากที่เกษียณอายุ 60 ปี เปลี่ยนเป็นวาระละ 5 ปี , เสนอกฏหมายเพื่อควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน , เสนอกฏหมายความมั่นคงไซเบอร์ เป็นต้น 

 

               ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็เปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ ผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้จัดการร่างจนแล้วเสร็จและผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถึง 16 ล้านเสียง

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

               เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในด้านการเมือง ที่กำหนดระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่จะได้แค่รัฐบาลผสมเท่านั้น นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังเปิดกว้างให้สามารถมีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกได้ เป็นสัญญาณว่า ถ้าหลังเลือกตั้งการเมืองยังไม่เรียบร้อย ก็มีโอกาสที่จะได้นายกฯคนนอก ซึ่งจะมาจากกองทัพหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบแน่

 

               งานนี้เห็นทีฝ่ายการเมืองคงต้องปรับตัวเสียยกใหญ่ เพราะนอกจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแล้ว กรธ.ยังกำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆเพื่อคุมเข้มนักการเมืองในกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ดูเหมือนจะจงใจให้พรรคการเมืองตั้งขึ้นยาก แต่การยุบพรรคการเมืองนั้นทำได้ง่าย พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.  ที่กำหนดโทษร้ายแรงถึงจำคุก 10 ปี เป็นต้น

             กฏเกณฑ์เหล่านี้ถูกมองว่าเขียนขึ้นเพื่อปราบพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย(พท.) ซึ่งเป็นดั่งตัวแทนของ "ทักษิณ ชินวัตร" เพราะหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในปลายปี 2561 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แน่นอน แม้จะมีการวางกฏเกณฑ์เพื่อป้องกันการบริหารงานตามอำเภอใจ แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลใหม่จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขสิ่งที่ คสช.วางไว้ได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง การปฏิวัติครั้งนี้ ย่อมจะเสียของ ไม่ต่างจากรัฐประหารครั้งท่ีผ่านมา

 

            นี่เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ห่วงกังวล ว่าหากเลือกตั้งแล้วได้คนกลุ่มเดิม อันหมายถึงพรรคเพื่อไทย เข้ามาบริหารบ้านเมือง นั่นย่อมจะหลีกเลี่ยงวังวนปัญหาการเมืองแบบเดิมๆไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเส้นทางสู่การเลือกตั้งเริ่มชัดขึ้นทุกขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องกล่าวย้ำทำความเข้าใจบ่อยๆ 

 

            โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ถ้าเลือกตั้งกันแบบนั้น ผมถามว่าได้อะไรกลับมา นี่คือสิ่งที่ผมกังวล เพราะผมห่วงประเทศไทย ไม่ได้ห่วงประชาธิปไตย เพราะยังไงประชาธิปไตยก็ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องมันเป็นอย่างไร การเลือกตั้งที่ได้คนมีปัญหาเข้ามา จะทำอย่างไรกับเขา ผมเข้าใจว่าการเลือกตั้งคงไม่ต่างจากของเดิมเท่าไร"


             เป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งช่วงนี้ยิ่งต้องย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นเพราะต้องการการเมืองที่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่กังวลคือทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะหมายความว่า การปฏิวัติครั้งนี้"เสียของ"
///
เมืองขมิ้น
///