เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นวันแรกที่โครงการเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นวันแรกที่โครงการเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องจ่ายเงินใน 72 ชั่วโมง แรก หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปแล้ว และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศ 3 ฉบับให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม

 

สำหรับกลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่ใช้สิทธิยูเซปได้มีอยู่ 6 กลุ่ม คือ


1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ


2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง


3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม


4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง


5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด


6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต


โดยหากติดต่อรับส่งผู้ป่วยผ่าน 1669 จะช่วยให้เกิดการคัดกรองที่ถูกต้องแต่แรก

ทั้งนี้ เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วจะต้องดูแลรักษา เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมง แต่ให้เรียกเก็บจากกรมธรรม์ประกันภัย หรือกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐกำหนด เช่น ค่าห้องผ่าตัดใหญ่ ชม.ละ 2,400 บาท ค่าอัลตราซาวนด์ครั้งละ 1,150 บาท ค่า MRI สมองครั้งละ 8,000 บาท ค่าลิ้นหัวใจเทียมอันละ 29,000 บาท ค่าสายยางและปอดเทียมชุดละ 80,000 บาท เป็นต้น

ส่วนการรักษาพยาบาลหลัง 72 ชั่วโมง นั้น ให้โรงพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิรับการรักษาอยู่ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบปกติ แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ ประชาชนที่มีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โทร. 0 2872 1669 หรือสายด่วน สปสช.1330.