“ปฏิวัติไม่เสียของ” ความมั่นใจของ “วิษณุ เครืองาม” 3 ปี กับบทมือกฎหมายรัฐบาล - คสช.

“ปฏิวัติไม่เสียของ” ความมั่นใจของ “วิษณุ เครืองาม” 3 ปี กับบทมือกฎหมายรัฐบาล - คสช.

เมื่อโรดแมปของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินมาถึงจุดนี้ แม้แต่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังหวั่นๆอยู่ว่า หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระเสรีแล้ว พรรคการเมืองใหญ่หน้าเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย(พท.) อันเป็นของนายทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ที่สำคัญคือนั่นจะเป็นต้นต่อของปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อมีปัญหาซ้ำรอยเก่า ย่อมหมายถึงความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ไม่สามารถป้องกันสกัดกั้นคั่วอำนาจฝ่ายตรงข้ามให้อยู่มือ แน่นอนว่าย่อมเป็นอันตรายต่อ คสช.ในวันหน้าอย่างไม่ลำบากยากเย็น

 

อย่างไรก็ตาม แม้ บิ๊กตู่ จะพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นห่วงเป็นกังวลการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงอยากให้ประชาชนตัดสินใจเลือกให้ดี มิเช่นนั้นแล้ว การเลือกตั้งจะนำไปสู่ฝันร้ายของคนไทย นั่นเป็นข้อกังวลของคนเป็นนายกฯ แต่รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล อย่างนายวิษณุ เครืองาม กลับแสดงท่าทีที่แตกต่างออกไป โดยมั่นอกมั่นใจจนเหลือคณานับ จึงบอกว่า “ผมว่า 3 ปี คสช.ไม่เสียของ ไปถามคนดูก็แล้วกัน ผมไม่อยากพูด ผมไม่อยากแสดงหนัง”

 

ทำไมรองนายกฯวิษณุ จึงไม่กังวลว่ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะเสียของ การหาคำตอบนี้ เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ

นายวิษณุ เครืองาม เป็นนักกฎหมายลำดับต้นๆของเมืองไทย เคยเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.)อยู่หลายปี ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร แม้กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เขาก็ยังร่วม ครม.ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

 

และเมื่อ บิ๊กตู่ ยึดอำนาจ เขาจึงเข้ามาช่วยงาน คสช.ภายหลังจากที่มีการตั้งครม.ในรัฐบาลชุดใหม่ 4 เดือนภายหลังยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม และถูกวางตัวให้ทำหน้าที่มือกฎหมายของรัฐบาล และที่ปรึกษากฎหมายของ คสช. มีหน้าที่ค่อยแก้ไขปัญหาและอุปสรรค์ด้วยตรายางระหว่างที่รัฐบาล-คสช.อยู่ในอำนาจ

 

3 ปีที่ผ่านมา นายวิษณุ ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เรียกว่าหาทางออกได้ทุกเรื่อง เช่น ในปีแรกของรัฐบาล ซึ่งถูกกดดันอย่างหนักจากนักกิจกรรมไทยและองค์กรระหว่างประเทศ ที่เรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ก่อนวันยึดอำนาจ ทางออกในประเด็นนี้คือ คสช.ยอมยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกจริง แต่เลือกหยิบมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาประกาศกฎเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแทนกฎอัยการศึก แม้จะถูกมองว่ามาตรา 44 นี้ เป็นกฎหมายพิเศษ แต่รัฐบาลก็อ้างได้เช่นกันว่า ก็ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

จากนั้นมาตรา 44 กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนงานของรัฐบาล ทั้งระดับนโยบายและการปฏิบัติ ครอบคลุมทุกสายงานไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ  สังคม ความมั่นคง และการเมือง เช่นในเดือนกันยายน 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เสนอเรื่องมาที่รัฐบาลให้ถอดยศนายทักษิณ ชินวัตร จาก พันตำรวจโท ซึ่งเป็นเรื่องที่คาราคาซังของคณะผู้ยึดอำนาจนานพอสมควร ท้ายที่สุดก็ได้มาตรา 44 นี่แหละช่วยสางปัญหาให้โดยง่าย

 

เมื่อครั้งจะเอาผิดโครงการรับจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพวก นายวิษณุ ได้งัด พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ขึ้นมาตั้งกระบวนการสอบสวน ประเมินตัวเลขความเสียหาย และออกคำสั่งทางปกครองให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวกชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งทำควบคู่กันไปกับคดีความในศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เดือนมีนาคม 2560 นายวิษณุ เชิญเกจิอาจารย์ด้านกฎหมาย มาถกแถลงถึงความเป็นไปได้ในการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ปข้อ ของนายทักษิณ ชินวัตร กว่า 1.6 ล้านบาท แม้ก่อนหน้านั้นกรมสรรพากร จะยืนยันว่าไม่สามารถเรียกเก็บได้จากเหตุผลและข้อกฎหมายหลายประการ แต่นายวิษณุ กลับยืนยันว่า สามารถทำได้โดย “อภินิหารของกฎหมาย” ต่อมากรมสรรพากร จึงเดินหน้าเรียกเก็บภาษขายหุ้นชินคอร์ปตามข้อสั่งการของรัฐบาล

 

แต่สิ่งสำคัญที่ทำในนายวิษณุ มั่นใจว่ารัฐประหารโดย คสช.จะไม่มีวันเสียของก็คือรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านความเห็นชอบด้วยประชามติ 16 ล้านเสียง เพราะในนั้นอัดแน่นด้วยเนื้อหาที่ฝ่ายตรงข้ามเห็นแล้วเป็นต้องร้องโหวกเหวกโวยวายกันทุกคน เพราะ 1.ระบบการเลือกตั้ง ที่สกัดกั้นการตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเดี๋ยวๆ 2.พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นรัฐบาล 3.รัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีนายกฯจากคนนอกได้ 4.หลังการเลือกตั้งจะมี ส.ว.250 คนที่ถูกคัดเลือกสรรหาเข้ามาคุมรัฐบาลอีกที

 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ออกแบบให้ยุบพรรคการเมืองได้โดยง่าย และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.กำหนดโทษสูงสุดที่จำคุก 10 ปี

 

ยังไม่ต้องพูดถึงแผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลใหม่ต้องเดินตามห้ามเฉไฉย

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงไม่แปลกที่นักกฎหมายระดับประเทศอย่างนายวิษณุ เครืองาม จะอ่านเกมออกตั้งแต่เนิ่นๆว่า ถึงอย่างไรรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็จะไม่เสียของ.