ช้าไปนะ!!ก.พลังงาน แจงลุย “สัมปทานปิโตรเลียม”ตามข้อเสนอแนะกรรมการสิทธิฯ

ช้าไปนะ!!ก.พลังงาน แจงลุย “สัมปทานปิโตรเลียม”ตามข้อเสนอแนะกรรมการสิทธิฯ

กระทรวงพลังงาน ชี้แจงการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม ในการรายงานผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เกี่ยวกับการเดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมซึ่งร่างกฎหมายได้ผ่านความเห็นชอบของ สนช.ไปตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา รับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน ได้รายงานความคืบหน้าการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับใหม่ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) 

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งให้กระทรวงพลังงาน ศึกษาข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชนฯ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดย กระทรวงพลังงาน รายงาน ครม.ถึงการพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ดังนี้

 

1.ข้อเสนอให้มีบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระ

ทบที่เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานชี้แจงว่า ประเด็นนี้ปัจจุบันได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยในขั้นตอนการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผู้รับสัมปทานจะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่พื้นที่ รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรายงานต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)

 

2.ข้อเสนอให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเร่งสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแก่ทุกฝ่าย ด้วยการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน โดยกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า ปัจจุบันกระทรวงมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโครงการด้านพลังงานทั้งในสื่อดิจิตอล เช่น เว็บไซต์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างความเข้าใจแก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ด้วย

 

3.ข้อเสนอที่ให้เปิดเผยข้อเสียของระบบสัมปทานปิโตรเลียม และระบบอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและเข้าใจตรงกัน และควรเปิดพื้นที่สาธารณให้แก่ภาคประชาชนในการหาทางออกของปัญหาพลังงาน โดยกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมโดยทั่วไป 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสัมปทาน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลติ และระบบสัญญาจ้าง ซึ่งการจะเลือกระบบใดที่มีความเหมาสมกับประเทศนั้น จะพิจารณาจากศักยภาพปิโตรเลียมของแต่ละประเทศ 
 

กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้เปิดพื้นที่สาธารณให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น อาทิ การจัดสัมมนา “ทิศทางพลังงานไทย” ในหัวข้อ “การจัดหาเชื้อเพลิงพลังงาน” จำนวน 4 ครั้ง ใน กทม.และภูมิภาค เป็นต้น

 

กระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า ในกระบวนการจัดทำโครงการด้านปิโตรเลียมของประเทศไทย กฎหมายปิโตรเลียมที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีการดำเนินการดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีข้อเสนอมาแล้ว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ออกจากการพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเห็นควรดำเนินการเสนอกฎหมายฉบับนี้เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ. …. ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ในวาระ 2-3 ไปตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญยอมตัดมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ออกและบันทึกไว้เป็นข้อสังเกตของร่างกฎหมายฉบับนี้ 

 

สำหรับข้อสังเกตมีรายละเอียดดังนี้ “ในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการเพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบนี้ จะมีความแตกต่างจากระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือระบบอื่นใดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในการผลิตปิโตรเลียมไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด

รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน ทั้งนี้เพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป”