"ทำไงดีครับ แม่ผมถูกหมากัดในห้อง x-ray ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง" ซ้ำรพ.ปัดรับผิดชอบ ฟาดเงิน 20,000 บอกให้จบเรื่อง!!

"ทำไงดีครับ แม่ผมถูกหมากัดในห้อง x-ray ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง" ซ้ำรพ.ปัดรับผิดชอบ ฟาดเงิน 20,000 บอกให้จบเรื่อง!!

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.60 สมาชิกพันทิปท่านหนึ่งได้โพสต์เรื่องราวว่าแม่ตัวเองถูกสุนัขกัดในโรงพยาบาลซึ่งเป็นห้องเอ็กซเรย์ ซ้ำยังไม่ได้รับการดูและอย่างที่ควรจะเป็นจากทางโรงพยาบาล โดยผู้โพสต์ระบุว่า...

เรื่องมีอยู่ว่า วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา คุณแม่ผมเองซึ่งป่วยด้วยอาการเจ็บหัวไหล่ทางด้านขวามือจนไม่สามารถที่จะยกมือขึ้นได้ ได้เดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแห่งหนึ่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด (ซึ่งเป็นบ้านเกิดผมเอง) เมื่อไปถึงโรงพยาบาล หลังจากพบเจ้าหน้าที่ที่จุดต่างๆ แล้ว คุณหมอก็ได้แจ้งให้คุณแม่ไปที่ห้อง x-ray เพื่อตรวจสอบว่ากล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่มีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ ก่อนที่จะทำการวินิจฉัยและรักษาในลำดับถัดไป

เมื่อคุณแม่ไปถึงห้อง x-ray มีหมาขนาดตัวใหญ่พอสมควร (ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นหมาของใคร) นอนอยู่ด้านในของห้อง x-ray และด้วยความที่คุณแม่เป็นคนกลัวหมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คุณแม่จึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ x-ray ที่ประจำอยู่ ณ ห้อง x-ray นำหมาออกไปจากห้อง โดยแจ้งอยู่หลายรอบ (ในวงเล็บหลายรอบ) แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็หาได้ไล่หมาออกไปจากห้องแต่อย่างใดไม่ ซ้ำยังแจ้งให้คุณแม่เดินเข้ามาให้ห้อง x-ray เมื่อคุณแม่เดินเข้ามาในห้อง x-ray และกำลังยื่นเอกสารส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ x-ray หมาตัวนั้นก็กัดงับเข้าที่ขาคุณแม่ (สภาพบาดแผล คือ มีแผลถลอก เขียวซ้ำ และเห็นรอยฟันหมาทุกซี่) เมื่อคุณแม่โดนหมากัด แทนที่เจ้าหน้าที่ห้อง x-ray จะรีบเข้ามาดูแลคุณแม่ แต่กลับหันหน้า (พร้อมชำเลืองตา) มายังคุณแม่ แล้วบอกกับคุณแม่ว่า หมามันก็อยู่ดีๆ ของมัน (....... เอิ่มมมมมมมมมมมมในเอิ่ม คือจะบอกว่าคุณแม่ไม่ระมัดระวังหร๊า)

ทันใดนั้นน้องชายผมที่พาคุณแม่ไปหาหมอเลยถามเจ้าหน้าที่ x-ray ว่า ทำไมพูดแบบนี้ครับ คุณแม่แจ้งให้นำหมาออกไปหลายรอบแล้วนะครับ แต่คุณไม่นำออกไปเอง ...ในขณะนั้น คุณแม่ที่โดนหมากัดก็ร้องลั่นโรงพยาบาลด้วยความเจ็บปวด แต่ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลคนใดเข้ามารับแม่ตัวไปทำการรักษาเลยแต่อย่างใด จนเวลาผ่านไปสักระยะ (น่าจะประมาณ 5 นาที... คิดดูสิครับ นี่คือเหตุเกิดในโรงพยาบาลนะครับ) จึงค่อยมีพยาบาลเข้ามาหาคุณแม่ แล้วพาคุณแม่ไปเข้ารับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (หลังจากที่ปล่อยให้คุณแม่ร้องโอดโอยอยู่นานแสนนาน...พูดแล้วจะร้องไห้ตาม...ผมรับไม่ได้อย่างแรง)
 

จากนั้นน้องชายผมก็ได้ไปทำการแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับช่วงเวลาที่ผมรับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ในขณะที่คุณแม่กับน้องชายผมอยู่กับเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ผมก็ได้ติดต่อไปที่เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงและความรับผิดชอบของโรงพยาบาลต่อกรณีดังกล่าว พร้อมกับแจ้งว่าจะใช้สิทธิในการดำเนินคดีทุกประเภท (แพ่ง อาญา ปกครอง) รวมถึงร้องเรียนเรื่องวินัยและจรรยาบรรณ พร้อมกับเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง อีกทั้งจะแจ้งให้นักข่าวเข้าไปทำข่าว เจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องไว้แล้วบอกว่าจะไปคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล (พร้อมผู้บริหารโรงพยาบาลคนอื่นๆ) ส่วนคุณแม่กับน้องชายผมพอรู้ว่าผมได้ติดต่อมาแล้ว เลยได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนว่าให้คุยเรื่องนี้กับผมโดยตรงได้เลย (เพราะคุณแม่ให้ผมเป็นตัวแทนในการดำเนินการเรื่องนี้แทนคุณแม่)

หลังจากที่เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนได้ไปคุยกับทางผู้บริหารโรงพยาบาลแล้ว ก็ได้แจ้งข้อสรุปให้ผมทราบทางโทรศัพท์ว่า ทางโรงพยาบาลจะรับผิดชอบค่าเสียหายเพียง 20,000 บาท เท่านั้น แล้วขอให้ฝ่ายเราไม่ใช้สิทธิในการดำเนินคดีและการร้องเรียนทั้งหมด ผมจึงแจ้งไปว่าผมไม่ขอรับข้อเสนอนี้ เนื่องจากผมเห็นว่าไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนไปว่า จะบินกลับบ้านในตอนเย็น (จากกรุงเทพ ไปร้อยเอ็ด) เพื่อไปเจรจากับทีมผู้บริหารโรงพยาบาลในวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560

ในวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560 เวลาประมาณ 09.40 น. ผม คุณแม่ น้องชายและน้องสะใภ้ ได้เดินทางไปถึงโรงพยาบาล (คือผมนัดกับโรงพยาบาลได้ตอน 10.00 น.) ปรากฏโรงพยาบาลได้จัดเตรียมห้องประชุมไว้รอต้อนรับเราเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเชิญบุคลากรคนสำคัญของโรงพยาบาลมามากพอสมควร (คงเกรงว่าผมจะพานักข่าวมาด้วย ซึ่งผมตัดสินใจไปแล้วว่าจะยังไม่ให้เรื่องนี้ถึงนักข่าว) หนึ่งในนั้นคือ นิติกรของสาธารณสุขจังหวัดที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของฝ่ายโรงพยาบาลที่จะทำเจรจากับฝ่ายผมกับคุณแม่ในวันนี้

การเจรจาเริ่มขึ้นอย่างเรียบง่าย สิ่งที่ผมถามส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และความรับผิดชอบของโรงพยาบาลต่อกรณีดังกล่าว รวมถึงแผนการรักษาของคุณแม่ (คือสงสารคุณแม่มากครับ คุณแม่มาเพื่อหวังจะหาย ทำไมต้องมาเพิ่มความเจ็บปวดให้คุณแม่... จะร้องไห้อีกแล้ว) ซึ่งผลการเจรจาปรากฏว่าโรงพยาบาลยังยืนยันที่จะจ่ายค่าเสียหายให้คุณแม่เพียง 20,000 บาทเท่านั้น แล้วให้ฝ่ายเราไม่ใช้สิทธิในการดำเนินคดีรวมถึงการร้องเรียนอื่นๆ ผมจึงแจ้งไปว่าถ้าจะให้เรารับเงินจำนวนดังกล่าว เราจะรับไว้เป็นเพียงแค่ค่าตกใจหรือค่าทำขวัญเท่านั้น

แต่จะให้เราสละสิทธิ์ที่เรามีตามกฎหมาย เราไม่สามารถที่จะสละสิทธิ์ดังกล่าวได้แน่นอน โรงพยาบาลจึงแจ้งว่าถ้าเลือกจะใช้สิทธิตามกฎหมาย โรงพยาบาลก็จะไม่จ่ายเงิน 20,000 บาทให้คุณแม่ (เพราะโรงพยาบาลมองว่าถ้าไหนๆ แล้วโรงพยาบาลต้องจ่ายเงินทั้งที เรื่องทุกอย่างก็ต้องจบสิ) ผมจึงบอกกับโรงพยาบาลไปว่าผมจะไม่ซีเรียสกับเงินจำนวนดังกล่าว โรงพยาบาลจะไม่จ่ายค่าตกใจหรือค่าทำขวัญให้คุณแม่ก็ไม่เป็นไร เพราะผมตั้งใจที่จะใช้สิทธิทั้งหมดที่เรามีตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนจะช้าจะเร็วหรือผลจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกระบวนของกฎหมาย นี่คือข้อสรุปที่ได้จากการเจรจา

จากข้อเท็จจริงที่ได้จากการเจรจา มีสิ่งนึงที่ผมมองว่าโรงพยาบาลยังประมาทเลินเล่อซ้ำอีก (นอกเหนือจากการที่ปล่อยให้หมาเข้าไปอยู่ในห้อง x-ray และการไม่นำหมาออกไปจากห้อง x-ray ทั้งๆ ที่คุณแม่ผมแจ้งไปแล้วหลายรอบ) คือ ช่วงต้นของการเจรจาผมถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า หมาตัวนั้นตอนนี้อยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่อยู่แล้ว ไม่รู้ไปไหน (...อันนี้จะเก็บดอกไว้ไปถามประเด็นถัดไป) แต่พอคุณหมอพูดถึงเรื่องแผนการรักษาคุณแม่ คุณหมอบอกว่าบาดแผลคุณแม่ไม่ได้ใหญ่มากนัก (เอิ่มมมมมม ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่แผลเล็กหรือใหญ่ป่ะ แต่มันอยู่ที่คุณปล่อยให้มีหมาในห้อง x-ray ของโรงพยาบาลได้ไง) ยิ่งถ้าหมาไม่ได้มีเชื้อพิษสุนัขบ้าด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าเป็นกังวลเรื่องเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

มาถึงตอนนี้ผมเลยถามกลับไปว่า แล้วจะรู้ได้ไงครับว่าหมาตัวนั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้าไหม คุณหมอบอกว่าก็ต้องนำหมาตัวนั้นมาขังไว้เพื่อดูอาการ หากหมาไม่มีอาการในระยะเฝ้าระวัง (น่าจะประมาณ 7-14 วัน) ก็แสดงว่าหมาตั้วนั้นไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า (... มาถึงตอนจะปล่อยดอกแล้วครับ) ผมเลยถามกลับไปว่า ไหนโรงพยาบาลแจ้งว่าหมาตัวนั้นไม่อยู่แล้ว ไม่รู้ไปไหน แล้วอย่างนี้จะตรวจสอบได้อย่างไรว่าหมาตัวนั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ (ทั้งๆ ที่น้องชายและคุณคุณแม่บอกผมว่า หลังจากที่หมาตัวนั้นกัดคุณแม่ มันก็ยังอยู่ในห้อง x-ray และเดินเล่นอยู่แถวนั้น จนคุณแม่กลับบ้านช่วงสี่โมงเย็น /คุณคุณแม่มาตั้งแต่ก่อนเที่ยงครับ แต่ได้คิวตอนบ่ายโมง) เอิ่มมมมมม พอมาถึงตรงนี้ผมยิ่งงงไปใหญ่ครับว่าอะไรคือความระมัดในระดับผู้มีวิชาชีพพึงมีครับ คือทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องกักตัวหมาไว้ดูอาการ แล้วมัวทำอะไรอยู่ครับทำไมไม่กักตัวมันไว้คร้าบพี่น้อง ...หื้มมมมมมมม เศร้าหนักกว่าเดิมอีกครับ

...จากนั้น ผมได้แต่นั่งคิดว่า ทำไมโรงพยาบาลปล่อยให้หมาเข้ามาอยู่ในห้อง x-ray (โรงพยาบาลบอกว่าเป็นหมาจรจัดครับ) แล้วทำไมพอคุณแม่บอกให้เจ้าหน้าที่ห้อง x-ray นำหมาออกไป เจ้าหน้าที่ถึงไม่นำหมาออกไป เพราะหมาบางตัวโดยสัญชาตญาณมันมีความดุร้ายอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว (ยิ่งถ้าเจ้าหน้าที่รู้ว่าเป็นหมาจรจัดที่ไม่เคยถูกฝึกมาเลยเจ้าหน้าที่ยิ่งต้องตระหนักได้ว่ามันน่าจะมีนิสัยดุร้ายหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่คนที่มันไม่คุ้นเคยได้ง่ายกว่าหมาที่มีเจ้าของ) เจ้าหน้าที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขนาดนั้นเลยเหรอครับ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังเพียงนิดเดียวความเสียหายก็จะไม่เกิดกับคุณแม่ (ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเลยครับ ...เผลอๆ เข้าข่ายเป็นการกระทำโดยงดเว้นหรือละเว้นเสียอีก)

ในขณะที่โรงพยาบาลบอกว่าเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลจะรู้ไหมว่าคุณแม่เจ็บปวดแค่ไหน (เพราะปกติแล้วคุณแม่ไม่ชอบมาโรงพยาบาลอยู่แล้ว เว้นแต่อาการหนักจริงๆ ซึ่งครั้งนี้คุณแม่ก็มาด้วยอาการหนักมาก ถึงขนาดที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ และที่สำคัญคุณแม่ไม่ชอบการฉีดยามากครับ) คุณแม่มาโรงพยาบาลเพื่อหวังจะทุเลาจากอาการที่เป็นอยู่ ทำไมต้องมาเพิ่มความเจ็บปวดให้คุณแม่ เพียงเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลด้วย มิหนำซ้ำ คุณแม่ต้องมาทนเข้ารับการฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทีละ 2 เข็ม (จิ้มหัวไหล่ซ้ายที จิ้มหัวไล่ขวาที) จำนวน 4 ครั้ง แล้วคุณแม่จะทนทุกข์ทรมานมากแค่ไหน

ถึงตรงนี้ ผมพูดเลยครับ ถ้าคุณแม่โดนหมากัดตรงพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล เช่น ที่จอดรถ ทางเดิน บริเวณนั่งรอตรวจ เป็นต้น ผมกับคุณแม่ รวมถึงครอบครัวผมจะไม่เสียใจเลยครับ แต่นี้คุณแม่โดยหมากัดในห้อง x-ray ...มันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะรับได้จริงๆ ครับ

***จากที่เล่ามาทั้งหมด ทุกท่านมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างครับ ผมต้องการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้สังคมครับ***