สหรัฐฯไปที่ไหน สงครามเกิดที่นั่น!! “โดนัลด์ทรัมป์” อ้างผลงานตน ทำ “กาตาร์” เจอวิกฤติหนัก ขณะที่ “ปูติน” หนุนเจรจา แก้ปัญหาบานปลาย

ซาอุดีอาระเบียและบาห์เรน ได้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์สและสั่งปิดสำนักงานภายใน 48 ชั่วโมง โดยถ้อยแถลงของสำนักงานการบินพลเรือนที่ ระบุว่าสำนักงานการบินพลเรือนแห่งซาอุดีอาระเบีย ตัดสินใจยกเลิกใบอนุญาตทั้งหมดที่ออกให้กับกาตาร์ แอร์เวย์ส และปิดสำนักงานของกาตาร์ แอร์เวย์ส ทั้งหมดในราชอาณาจักรภายใน 48 ชั่วโมง
       
ขณะที่สื่อมวลชนของบาห์เรนก็เผยแพร่ถ้อยแถลงแบบเดียวกัน บ่งชี้ว่าผู้โดยสารทั้งหมดที่ซื้อตั๋วขาเข้าและขาออกจากกาตาร์ ให้ติดต่อไปยังสำนักงานของสายการบินเพื่อขอรับเงินคืนภายใน 48 ชั่วโมงข้างหน้า      


ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี, บาห์เรน และอียิปต์ แถลงระงับเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกสู่กาตาร์ทุกเที่ยว ในตอนเช้าวันวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กาตาร์ แอร์เวย์ส ได้ประกาศระงับเที่ยวบินทุกเที่ยวที่มุ่งหน้าสู่ซาอุดีอาระเบีย, ยูเออี, บาห์เรน, อียิปต์
       

หลังจาก 5 ประเทศอาหรับ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อียิปต์, บาห์เรน และเยเมน ประกาศว่าพวกเขากำลังตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ จากคำกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนพวกหัวรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังออกคำสั่งให้ชาวกาตาร์ออกนอกประเทศภายใน 14 วันและห้ามพลเมืองของตนเองเดินทางไปยังกาตาร์ ขณะที่ซาอุดีอาระเบียสั่งปิดชายแดนติดกับกาตาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก นำเข้า อาหารของกาตาร์  ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าแถวยาวเพื่อจับจ่ายซื้ออาหารหลักไม่ว่าจะเป็น ข้าว นมและไก่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งทั่วประเทศจนสินค้าหลายอย่างหมดเกลี้ยงและชั้นวางว่างเปล่า ขณะที่แหล่งข่าวคาดว่า กาตาร์อาจเผชิญการขาดแคลนอาหารได้หากยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งทางการทูตได้ แต่อิหร่านประกาศเตรียมจัดส่งอาหารไปช่วยเหลือและจะจัดส่งทางเรือไปถึงกาตาร์ภายใน 12 ชั่วโมง
กาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆที่มีประชากรราว 2.3 ล้านคน และมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ทำให้ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ จึงต้องนำเข้าอาหารเกือบ 80% จากชาติสมาชิกในสภาความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ หรือจีซีซี ด้านธนาคารโลกระบุว่า กาตาร์นำเข้าอาหารมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2558 ซึ่งเกือบ 1 ใน 3 นำเข้าจากซาอุดีอาระเบียและยูเออี

ขณะเดียวกันซาอุดีอาระเบียยังสั่งปิดสถานีโทรทัศน์อัล-จาซีราของกาตาร์ ซึ่งซาอุดีอาระเบียมองว่ามักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย แต่ทางอัล-จาซีราอ้างว่า เป็นสำนักข่าวอิสระและเป็นกระบอกเสียงให้แก่ทุกฝ่ายในภูมิภาค

ปัจจุบัน กาตาร์นั้นเป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพอากาศใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส รวมทั้งยังกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 อีกด้วย
คำประกาศจากรัฐริมอ่าวเปอร์เซียและบริเวณใกล้เคียงเหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาไม่เพียง 1 เดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย และเรียกร้องให้บรรดาประเทศมุสลิมจัดตั้งแนวร่วมเพื่อต่อสู้คัดค้านลัทธิสุดโต่ง 
ขณะที่ล่าสุดนั้นนายโดนัลด์ทรัมป์ ได้ทวิตข้อความ ว่า ระหว่างที่เขาเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 20-21 เดือนที่แล้ว เขาได้รับการบอกเล่าว่า กาตาร์กำลังให้เงินสนับสนุนอุดมการณ์แบบรุนแรง เขายังกล่าวด้วยว่า การเยือนคราวนั้นของเกา กำลังผลิดอกออกผล  

       “ระหว่างการเยือนตะวันออกกลางของผมเมื่อเร็วๆ นี้ ผมเน้นว่าต้องไม่ให้มีการให้เงินทุนหนุนอุดมการณ์แบบรุนแรง พวกผู้นำต่างพากันชี้ไปที่กาตาร์ -นี่แหละ ดูไว้!ดีเหลือเกินการไปเยือนซาอุดีอาระเบียได้เฝ้ากษัตริย์และพูดกับ 50 ประเทศกำลังผลิดอกออกผล พวกเขาบอกว่าพวกเขาอยากใช้ไม้แข็งกับการให้เงินทุนหนุน … ลัทธิสุดโต่ง และการระบุอ้างอิงทั้งหมดกำลังชี้ไปที่กาตาร์ บางทีนี่จะเป็นการเริ่มต้นของการยุติความโหดเหี้ยมของลัทธิก่อการร้าย!”

 

นักวิเคราะห์มองว่า การที่เหล่ารัฐอาหรับเคลื่อนไหวตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ทรัมป์ไปเยือนซาอุดีอาระเบีย และร่วมประชุมสุดยอดกับพวกผู้นำรัฐอาหรับและชาติอิสลาม ทำให้การเดินทางไปของนายโดนัลด์ทรัมป์ครั้งนั้นดูมีความหมายความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
       
ทั้งนี้ระหว่างพูดปราศรัยที่กรุงริยาด นครหลวงของซาอุดีอาระเบีย ผู้นำสหรัฐฯ ได้กล่าวประณามอิหร่านว่าเป็นผู้สร้างความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลาง พร้อมกับเร่งเร้าพวกประเทศมุสลิมทั้งหลายให้แสดงตนเป็นผู้นำในการสู้รบกับกระบวนการแห่งการสร้างความรุนแรง ซึ่งเป็นคำพูดที่เวลานี้ถูกมองว่าคือสิ่งที่เพิ่มพูนกำลังใจให้เหล่าชาติริมอ่าวเปอร์เซียลงมือกระทำการต่อต้านกาตาร์

ในขณะประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินผู้นำรัสเซีย บอกกับชีค ทามิม บิน ฮาเหม็ดอัล-ทานี เจ้าผู้ปกครองกาตาร์ ระหว่างพูดคุยกันทางโทรศัพท์ในวันอังคาร ที่ 6 มิถุนายน ว่าท่าทีของรัสเซียยังคงเหมือนเดิม นั่นก็คือสถานการณ์ของวิกฤตคราวนี้ควรคลี่คลายด้วยวิถีทางทางการเมืองและการทูต ผ่านการเจรจา

 

จุดยืนดังกล่าวของผู้นำรัสเซีย สวนทางกับท่าทีของอีกหนึ่งผู้นำโลกอย่างโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ ไม่เพียงออกโรงหนุนหลังเต็มที่เท่านั้น แต่ยังอวดว่าเป็นผลงานของตนเอง ในการที่ซาอุดีอาระเบียและเหล่าพันธมิตรรัฐอาหรับ กำลังพยายามโดดเดี่ยวกาตาร์