4 คำถาม “บิ๊กตู่” เก้อ-แต่ได้ผล ดักทางนักการเมือง โกง-เลว ป้องกันชาติพังยับเยิน

4 คำถาม “บิ๊กตู่” เก้อ-แต่ได้ผล ดักทางนักการเมือง โกง-เลว ป้องกันชาติพังยับเยิน

4 คำถามที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝากให้พี่น้องชาวไทยได้คิดก่อนตัดสินใจเลือกตั้ง ประกอบด้วย

1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 
2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร  
3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ 
4 .ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีใด
 

4 คำถามนี้ โดยความคาดหมายแล้ว “บิ๊กตู่” ไม่ได้ต้องการคำตอบอย่างจริงจัง เพราะไม่ได้ระบุชัดว่าเมื่อประชาชนตอบข้อซักถามนี้แล้ว จะนำไปดำเนินการอย่างไร แต่เป้าประสงค์หลักก็คือต้องการให้พี่น้องชาวไทยได้คิดสักนิดก่อนการเลือกตั้ง ว่าอยากได้นักการเมืองแบบไหนเข้ามาบริหารประเทศ

ในข้อแรก “บิ๊กตู่” ถามหาธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แน่นอน คำว่าธรรมาภิบาลนี้ ย่อมจะพุ่งเป้าที่ไปรัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย(พท.) ซึ่งมีนักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดในเวลานี้ ด้วยเหตุนี้ “บิ๊กตู่” จึงถามต่อไปในข้อ 2 ว่า ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร
สำหรับข้อ 3 เป็นความกังวลของนายกฯล้วนๆที่เป็นห่วงสิ่งที่รัฐบาลและ คสช.ทำในวันนี้ เกรงอาจถูกลบทิ้งในวันหน้า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจอ้างเสียงประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย จนยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปที่รัฐบาลนี้ทำไว้ 
 
 

ส่วนข้อ 4 เป็นการบอกพี่น้องประชาชนอย่างตรงไปตรงมา อีกแง่หนึ่งก็เป็นการเหน็บแนมนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ และที่ออกมาโต้ตอบทางการเมืองไม่เว้นแต่ละวัน “บิ๊กตู่” จึงได้ถามว่า ควรหรือไม่ที่จะให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นผู้แทน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ประชาชนสนใจตอบ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างน้อย จนรู้สึกว่าเก้อพอควร แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะการที่ประชาชนไม่มาตอบ 4 คำถามของนายกฯนั้นไม่ใช่เป้าสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญคือ “บิ๊กตู่” ได้ฉุดให้คนไทยคิด วิเคราะห์ และช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แน่นอนว่า วิธีการนี้ได้ผลเป็นอย่างมาก เพราะเวลานี้ทั่วประเทศต่างคิดตาม 4 คำถาม ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ที่ดี

และยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องย้ำเรื่องเหล่านี้ให้คนไทยได้คิดมากเท่านั้น 

ต่อเรื่องดังกล่าว พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องปริมาณ หรือข้อสรุปว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ อยากให้ทุกคนนำเรื่องของบ้านเมืองไปพูดคุยกันในครอบครัวหรือที่ทำงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนประชาชนที่ยังไม่ได้ออกไปแสดงความคิดเห็น ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็จะพยายามหาช่องทางให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้สะดวกมากขึ้น