“ตู่ จตุพร” ชี้ ประชาธิปไตย-เลือกตั้งนานไม่เป็นไร!!ขอแค่คนมีดวงตาเห็นธรรมถามแค่ 8 คน ชงความเห็นยุทธศาสตร์ 20 ปีถือว่าฟังเสียงประชาชนแล้วหรือ

“ตู่ จตุพร” ชี้ ประชาธิปไตย-เลือกตั้ง นานไม่เป็นไร!! ขอแค่คนมีดวงตาเห็นธรรม ถาม แค่ 8 คน ชงความเห็น ยุทธศาสตร์ 20 ปี ถือว่าฟังเสียงประชาชนแล้วหรือ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ ในหัวข้อ “ตราบนานเท่านานคือคำตอบ” โดยกล่าวว่า การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น ตราบนานเท่านานคือคำตอบ วันนี้มีการถกเถียงถึงระบบไพรมารีโหวตในกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นไปคนละทิศละทาง และสุดท้ายมีการบอกว่า อาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากขัดรัฐธรรมนูญจริงก็จะต้องร่างใหม่ นับหนึ่งใหม่ 
 

นายจตุพร กล่าวว่า หากย้อนกลับไปจะพบว่า เริ่มแรกรัฐบาลบอกว่า จะให้มีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2558 จากนั้นเลื่อนมาปี 2559 จนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกคว่ำลง จึงเลื่อนมาเป็นปี 2560 ซึ่งสุดท้ายก็เลื่อนมาปี 2561 โดยไม่ระบุวัน ที่สำคัญคือ หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็จะส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก

นายจตุพร กล่าวว่า คำถามคือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยธรรมชาติหรือมีการเตรียมการกันไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกตั้งจะใช้เวลามาก แต่ถ้าทำให้คนไทยมีดวงตาเห็นธรรมมากขึ้น ก็ถือว่าคุ้มค่า ย้ำว่าระบบไพรมารีโหวตจะเป็นปัญหาโดยเฉพาะกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก การเลียนแบบวิธีการนี้จากสหรัฐฯ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทย เพราะเป็นการลอกแค่ส่วนเดียว ทว่าองค์ประกอบอย่างอื่นไม่เหมือนกันเลย เมื่อประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภา แต่ดึงบางส่วนจากระบบประธานาธิบดีมาใช้ ย่อมจะเป็นปัญหาในอนาคต 
 

“ไพรมารีโหวตมีความเห็น 3 ทางที่ชุลมุนวุ่นวาย คนเป็นหัวเรือใหญ่ก็บอกว่าส่อขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าฟันธงตรงประเด็นขนาดนี้ ก็รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร และก็ยังเดินไปอีกทั้งที่รู้ว่าเป็นไปยากมาก ฉะนั้นตราบนานเท่านานจึงคือคำตอบ ว่าเราจะมีประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเมื่อไหร่” นายจตุพร กล่าว

ประธาน นปช. กล่าวยังกล่าวถึง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติว่า การที่รัฐบาลเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติผ่านเว็บไซต์ จากนั้นมีประชาชนออกความเห็นเพียง 8 คน จากประชากรกว่า 67 ล้านคน ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญคือประเทศไทยถึง 20 ปี แต่มีผู้แสดงความเห็นเพียง 8 คน ถือว่าเป็นการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นปัญหาย่อมจะเกิดขึ้น เพราะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ