รายการทีนิวส์ สด ลึก จริงวันนี้(28/06/60)รายงานข่าวต่างประเทศกรณีสหรัฐฯ ถอนชื่อเมียนมา ออกจากบัญชีดำใช้ทหารเด็ก

     เร็กซ์เวย์นทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีแผนจะถอนชื่ออิรักและเมียนมาออกจากบัญชีดำประเทศที่ใช้ทหารเด็ก โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้อำนาจคัดค้านผลการประเมินของเจ้าหน้าที่กระทรวงว่าด้วยเรื่องการใช้ทหารเด็กในอิรักและเมียนมา และยังปฏิเสธคำแนะนำของนักการทูตอาวุโสในเอเชียและตะวันออกกลางซึ่งต้องการให้ทั้ง 2 ประเทศถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 3 คนยืนยันการตัดสินใจของรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งขัดต่อแนวทางปฏิบัติของกระทรวงด้านการขึ้นบัญชีดำประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และยังก่อให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาล โดนัลด์ทรัมป์ เห็นผลประโยชน์ด้านการทูตและความมั่นคงสำคัญมากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ยิ่งไปกว่านั้น ทิลเลอร์สัน ยังไม่สนใจข้อเสนอภายในกระทรวงการต่างประเทศที่ขอให้เพิ่มอัฟกานิสถานเข้าไปในบัญชีดำด้วย

    เจ้าหน้าที่ท่านคนหนึ่งอธิบายว่า การตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากแรงกดดันของเพนตากอนที่ต้องการขจัดอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือกองทัพอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นมือเป็นเท้าให้สหรัฐฯ ในการต่อสู้กับนักรบอิสลามิสต์

    กองทัพต่างชาติที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะเผชิญมาตรการคว่ำบาตร เช่น ห้ามรับความช่วยเหลือ การฝึกฝน และอาวุธจากสหรัฐฯ เว้นเสียแต่ว่าทำเนียบขาวจะออกคำสั่งยกเว้นให้

    ด้านเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนต่างตกใจกับแผนถอดอิรักและเมียนมาพ้นบัญชีดำ และคาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่จะเผยแพร่ในวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2560         

  ภายใต้กฎหมายป้องกันการใช้ทหารเด็ก ปี 2008 รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องพิสูจน์จนมั่นใจว่า ประเทศนั้นๆ ไม่มีการรับสมัคร เกณฑ์ หรือใช้วิธีอื่นใดก็ตามในการดึงเยาวชนมาเป็นทหารเด็กก่อนที่จะถอนรายชื่อออกจากบัญชีดำ และฟื้นฟูความช่วยเหลือ ซึ่งสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีทีมนักวิจัยที่ช่วยกำหนดนโยบายในเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงฝ่ายกฎหมายและสำนักงานการทูตสหรัฐฯ ทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง ต่างสรุปตรงกันว่า หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งบอกว่าอิรักและเมียนมาสมควรถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป

    องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ เตือนว่า การถอดเมียนมาออกจากบัญชีดำนั้นเร็วเกินไป อีกทั้งยังเป็นการทรยศหักหลังเยาวชนที่ถูกละเมิดสิทธิ และใช้แรงงานเยี่ยงทาส


           การตัดสินใจเช่นนี้ยังจะส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องขัดแย้งกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งยังคงขึ้นบัญชีดำกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีก 7 กลุ่ม โทษฐานเกณฑ์เด็กมาจับอาวุธสู้รบ

    เมียนมาซึ่งมีพรมแดนติดทั้งจีนและอินเดียถือเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ ในยามที่จีนกำลังสยายอิทธิพลและผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านของตน ในส่วนของอิรักแม้จะถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำเมื่อปี 2016 แต่ยังคงได้รับความช่วยเหลือจากวอชิงตันอย่างไม่ขาดสาย ทั้งในด้านการการฝึกฝนและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

         สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเมียนมา กับ สหรัฐฯ ครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทางผลประโยชน์กันอย่างชัดเจน เนื่องจาก ขณะนี้เอง สหรัฐฯ ได้เสียงรังวัด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทั้งหมดให้กับจีน ไปเรียบร้อยแล้ว เริ่มตั้งแต่ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  รัฐบาลกัมพูชาบอกให้หน่วยช่วยเหลือของกองทัพเรือสหรัฐฯเดินทางออกนอกประเทศทันที     กัมพูชาไปไกลว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการกระชับความสัมพันธ์กับจีน และตีตัวออกห่างสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์รับหน้าที่เป็นผู้นำสหรัฐฯ แม้ว่าสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเคยแสดงความชื่นชมต่อนายโดนัลด์ทรัมป์ ความสัมพันธ์ตึงเครียดจากการที่สหรัฐฯวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาแก้ไขกฎหมายเพื่อคุกคามฝ่ายค้าน และรัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องให้สหรัฐฯยกเลิกหนี้สิน 500 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ยุคสงครามในคริสต์ทศวรรษ 1970


    กัมพูชาประกาศระงับการซ้อมรบร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ที่กำหนดจะมีขึ้นในเดือน มิถุนายน โดยอ้างเหตุผลธุระยุ่งต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และเมื่อปีที่แล้วกองทัพเรือจีนร่วมฝึกซ้อมกับกองทัพกัมพูชาเป็นครั้งแรก เหล่าทัพกัมพูชาได้รับความช่วยเหลือจากจีนเป็นจำนวนมาก ทั้งการฝึกอบรมและอุปกรณ์

        คาร์ล ธาเยอร์ นักวิเคราะห์ความมั่นคงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และอาจารย์พิเศษวิทยาป้องกันประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า     การลดความสัมพันธ์ทางทหารกับกัมพูชา ถือเป็นความเสื่อมถอยสำหรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค แต่สำหรับฮุน เซน ท้ายที่สุดก็จะเป็นผู้สูญเสียเช่นกัน เพราะจะทำให้กัมพูชาต้องพึ่งพาจีนฝ่ายเดียวมากขึ้น

    ในขณะที่กับทางฟิลิปปินส์เอง จากที่เคยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ก็เอาใจออกห่างไปเข้าข้างจีนอย่างชัดเจน หลายครั้งผู้นำฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต วิจารณ์สหรัฐฯ แบบสาดเสีย เทเสีย พร้อมกับมีการยกเลิกพันธสัญญาต่าง ๆ จำนวนมาก ที่เคยทำร่วมกัน รวมถึงการซ้อมรบร่วมในหลาย ๆ ภารกิจ และการลาดตระเวนร่วมในทะเลจีนใต้ก็ถูกยกเลิกเช่นเดียวกัน เหตุการณ์เหล่านั้นยังไม่รวม ถึง ไทย ที่เริ่มจะมีระยะห่างจากสหรัฐฯมากยิ่งขึ้นภายใต้การนำของรัฐบาล คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ดังนั้นเวลานี้ สหรัฐฯ ถือว่าเข้าตาจนในภูมิภาคแห่งนี้แล้ว ก็มีเมียนมา ที่สหรัฐฯ พอจะเข้าไปแทรกได้บ้าง แต่กระนั้นก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าการยื่นเงือนไขถอนออกจากบัญชีดำ การใช้ทหารเด็ก เป็นเรื่องที่เมียนมาเองก็ได้ประโยชน์มากพอ ดังนั้น ดีลนี้ ก็น่าจะจบลงด้วยการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย