"จาตุรนต์ ฉายแสง" อัด รบ.ออก พรก.แรงงานต่างด้าว ยิ่งซ้ำเติมปัญหา แนะเปิดเวทีฟังความเห็นทุกฝ่าย ช่วยหาทางออกร่วมกัน

"จาตุรนต์ ฉายแสง" อัด รบ.ออก พรก.แรงงานต่างด้าว ยิ่งซ้ำเติมปัญหา แนะเปิดเวทีฟังความเห็นทุกฝ่าย ช่วยหาทางออกร่วมกัน

(30 มิ.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์การออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ว่า 

"การออกพ.ร.ก.จัดหางานแรงงานต่างด้าวฯนี้ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและสภาพความเป็นจริงของประเทศที่ต้องอาศัยพึ่งพึงแรงงานต่างด้าวที่มีส่วนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมานาน  สวนทางกับโครงการความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและยังขัดแย้งกับการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย

การออกพ.ร.ก.นี้ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเทคนิคกฎหมายหรือปัญหาในภาคปฏิบัติ แต่เป็นความผิดพลาดระดับยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
 


ที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนของไทยเรามองเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการอาศัยแรงงานต่างด้าว จึงมีการนำเข้าสู่ระบบและมีกฎระเบียบรองรับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังเป็นแบบครึ่งๆกลางๆ  มีการดำเนินการอย่างลูบหน้าปะจมูก ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทำผิดกฎหมายและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความยุ่งยากในการจะปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทำให้เป็นช่องทางในการทำมาหากินของเจ้าหน้าที่และเป็นต้นทุนสูงสำหรับผู้ประกอบการกว่าที่ควรจะเป็น 

ขณะที่การมีแรงงานไม่ถูกกฎหมายจำนวนมากก็ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจ ทั้งยังเน้นแต่แรงงานฝีมือต่ำราคาถูก แต่กีดกันแรงงานฝีมือหรือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม สภาพอย่างนี้ดำรงอยู่มานานแล้วและปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายหลายล้านคน

การออก พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกมาเหมือนกับคสช.และรัฐบาลนี้ไม่รับรู้หรือเข้าใจปัญหาและทิศทางของประเทศเลยแม้แต่น้อย นอกจากจะไม่แก้ปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีตแล้ว ยังจะซ้ำเติมปัญหาให้หนักกว่าเดิมอย่างร้ายแรงอีกด้วย


หากมีการดำเนินการเคร่งครัดตามกฎหมายนี้ จะมีผลทำให้แรงงานต่างด้าวนับล้านๆคนต้องอพยพออกจากประเทศไทยทันที ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางทั่วประเทศล้มระเนระนาดกันไปหมด จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยเป็นแสนล้านและประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้วจะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้น 

แต่ถ้ามีการผ่อนปรนแบบให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบ การมีบทลงโทษหนักและสภาพไร้ทิศทางหรือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจะทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นขนานใหญ่ เท่ากับเป็นการสร้างช่องทางทำมาหากินให้กับเจ้าหน้าที่บนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว

ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่า การที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.นี้อาจต้องการเอาใจสหรัฐหรืออวดอ้างต่อต่างประเทศว่ามีการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวให้ก้าวหน้าทันสมัยนั้น กรณีนี้จะมีผลตรงกันข้าม ด้วยระบบการบังคับใช้กฎหมายที่จุกจิกยุ่งยาก แต่บทลงโทษหนักมากอย่างนี้ แรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ต่อไปจะยิ่งถูกเอารัดเอาเปรียบและอยู่ในสภาพพลเมืองชั้นสามชั้นสี่ ถูกละเมิดสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นปัญหาของสังคมที่สำคัญมากด้วย

ทางออกในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การผ่อนปรนชั่วคราวและใช้ดุลพินิจตามใจชอบของเจ้าหน้าที่ แต่ควรเปิดเวทีรับฟังผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ภาคธุรกิจทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ นายจ้าง รวมทั้งแรงงานต่างด้าวเองด้วย เพื่อทบทวน ยกเลิกพ.ร.ก.นี้เสีย  แล้วยกร่างกฎหมายใหม่โดยมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าและเข้าปัญหาที่เป็นจริง 

ทั้งนี้ควรรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด  อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ซึ่งอาจจะเสียหายมากกว่าที่ใครจะคาดคิด"