จริงหรือไม่!!! หากใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนตก จะทำให้เกิดฟ้าผ่า ที่นี่มีคำตอบ

เคยสงสัยกันไหมว่าเวลาที่ใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนตกนั้น จะทำให้เกิดฟ้าผ่าจริงหรือเปล่า

“ฝนตกอย่าใช้โทรศัพท์มือถือนะ เดี๋ยวฟ้าผ่า” คำพูดนี้ใครหลายๆคนคงได้ยินกันเวลาที่ฝนตก แต่เคยสงสัยกันไหมว่าเวลาที่ฝนตกนั้น ถ้าเราใช้โทรศัพท์มือถือนั้นฟ้าจะผ่าจริงหรือเปล่า ซึ่ง ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายใต้เมฆฝนฟ้าคะนอง  ซึ่งเมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ก็จะมีลมและเกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของหยดน้ำ และน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ  ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้า ประจุลบจะเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกสิ่งที่อยู่ ภายใต้ก้อนเมฆเป็นประจุบวกได้ทั้งหมด พร้อมทั้งดึงดูดให้ประจุบวกวิ่งขึ้นมาหาประจุลบได้ จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆแตกตัว ประจุลบจะวิ่งลงมาด้านล่างและบรรจบกับประจุบวกที่วิ่งขึ้นมา เกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด  ฉะนั้นจะเห็นว่าทุกบริเวณที่ฝนตกมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ  ฯลฯ และจุดที่สูงในบริเวณนั้นๆ  เช่น ต้นไม้  อาคารสูง  

 

จริงหรือไม่!!! หากใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนตก จะทำให้เกิดฟ้าผ่า ที่นี่มีคำตอบ

ในส่วนของมนุษย์ไม่เพียงได้รับอันตรายนอกจากการถูกฟ้าผ่าโดยตรง แต่ยังมีฟ้าผ่าประเภทอื่นๆที่ทำอันตรายได้ อาทิ ฟ้าแลบด้านข้าง คือ การที่กระแสไฟฟ้า “กระโดด” เข้าสู่ตัวคนทางด้านข้าง ในกรณีที่หลบอยู่ใต้บริเวณที่ถูกฟ้าผ่า เช่น ต้นไม้ หรือโครงไม้ของเพิงที่เปิดด้านใดด้านหนึ่ง และกรณีที่พบได้มาก คือ กระแสวิ่งตามพื้น (Ground current) เกิดจากแรงดันไฟฟ้าช่วงเก้า (Step voltage) เพราะจุดที่ถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้ายังสามารถวิ่งออกไปยังบริเวณโดยรอบ เช่น จากลำต้นลงมาที่โคนต้นไม้และกระจายออกไปตามพื้นดินที่มีน้ำเจิ่งนอง ซึ่งหากกระแสวิ่งผ่านเข้าสู่ตัวคน อาจได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิต
 

จริงหรือไม่!!! หากใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนตก จะทำให้เกิดฟ้าผ่า ที่นี่มีคำตอบ

ส่วนกรณีของโลหะและโทรศัพท์มือถือ ไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้าได้แน่นอน เพราะโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำได้  พร้อมกันนี้ยังมีรายงานว่าการใช้โทรศัพท์อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่า อาจจะมีผลเหนี่ยวนำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจร และเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้  เป็นผลข้างเคียงแต่ไม่ใช่สื่อล่อให้ฟ้าผ่า แต่เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ประชาชนควรปิดโทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะฝนตกฟ้าคะนอง นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในจุดเสี่ยง เช่น ที่โล่งแจ้ง สระน้ำ และอื่นๆ และเมื่อหลบเข้าภายในตัวอาคารแล้ว ก็ควรงดการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งทีวี อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์แบบมีสาย เพราะหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่อุปกรณ์นอกอาคาร อาจจะได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าวิ่งมาตามสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ได้

 

จริงหรือไม่!!! หากใช้โทรศัพท์มือถือตอนฝนตก จะทำให้เกิดฟ้าผ่า ที่นี่มีคำตอบ

 

ขอบคุณข้อมูล สวทช.