ประตูส.ส. “บิ๊กตู่” ปิด แต่เก้าอี้ “นายกฯ” เปิดอ้า

ประตูส.ส. “บิ๊กตู่” ปิด แต่เก้าอี้ “นายกฯ” เปิดอ้า

เอาเป็นว่า ถึงตรงนี้แล้ว สิ่งที่นักการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยตะโกนเย้วๆ ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงสมัครส.ส.ในการเลือกตั้งคราวหน้า ไม่ได้รับการตอบรับ 
เพราะในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุว่า "เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้" โดยมาตรา 263 วรรคเจ็ดนี้ ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลมกับคณะรัฐมนตรี, ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 264, 265 และ 266
โดยในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้จะครบ 90 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศใช้

เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงจะไม่มีชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต ยกเว้นฟ้าถล่ม ดินทลาย “บิ๊กตู่” ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ภายใน 2 วันนี้ 
ซึ่งโอกาสเป็นไปได้มีอยู่ 0.01 เพราะงานปฏิรูปประเทศ การเดินตามยุทธศาสตร์ประกาศ ยังกองคาอยู่เป็นพะเนิน ไม่ปล่อย “ทิ้งไว้กลางทาง” ให้ “เสียของ” แน่
แต่แม้จะไม่ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งส.ส. แต่ประตูสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” ก็ไม่ได้ปิดตาย โอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองยังมีอยู่ และมีกว้างเสียด้วย
เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เปิดประตูทิ้งเอาไว้กรณีไม่สามารถหารายชื่อบุคคลจากบัญชีพรรคการเมือง การจะเสนอยกเว้นรายชื่อจากบัญชีพรรคการเมือง ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ประกอบด้วยส.ส.และส.ว.  จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียงในการเข้าชื่อ ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะเฉพาะเสียงส.ว. ก็ปาเข้า 250 เสียงเข้าไปแล้วที่จะทำให้การยกเว้นบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเกิดขึ้น

พอถึงขั้นตอนเสนอรายชื่อคนนอก แม้ส.ว.จะไม่สามารถเสนอรายชื่อได้ แต่ส.ว.นี่แหละตัวแปรสำคัญว่า จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะมีสิทธิร่วมโหวตได้
อย่าลืมว่า ส.ว. 250 คนในปีแรกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคสช. ดังนั้น ไม่ต้องเดากันให้เสียเวลาว่า สภาสูงจะสนับสนุนใคร ต่อให้ส.ส.จะเสนอชื่อต่างๆ นานามา แต่ถ้าส.ว.ไม่เอาด้วยกับชื่อนั้น คะแนนก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนๆ นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ยกเว้นส.ส.เสนอชื่อคนที่ส.ว. โอเคเซย์เยส ซึ่งก็เป็นคนที่คุณก็รู้ว่าใคร นั่นแหละถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยเหตุฉะนี้ ต่อให้ “บิ๊กตู่” ไม่ได้ลงส.ส. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่กลับมาเป็นายกรัฐมนตรีแล้ว
เช่นเดียวกันกับคณะรัฐมนตรี และคสช.ในปัจจุบัน ที่หลายคนมีกระแสข่าวจะลงเล่นการเมือง โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ หรือ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็หมดสิทธิ์ลงสมัครส.ส.แล้วเช่นกัน  
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อหมดสิทธิ์ลงส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว จะหายหน้าหายตาไปเลย เพราะคณะรัฐมนตรี และคสช.บางคนที่ถึงตอนนั้นอาจเกษียณอายุราชการไปแล้ว สามารถถูกดึงมาเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดหน้าได้ทั้งนั้น หรือแม้แต่การได้เป็นส.ว.ชุดแรก 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งหัวหน้าคสช. 

 


เขียนโดย อุปนิกขิต