ตามไปดู!คนชัยนาทจัดขบวนชุมชนเขียนแผนแก้จนได้จริง

ตามไปดู!คนชัยนาทจัดขบวนชุมชนเขียนแผนแก้จนได้จริง

ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาทมีการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาความยากจนภาคประชาชนและพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนเริ่มตั้งแต่ปี 2540 โดยมีแนวทางหลักในการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและ ขับเคลื่อนงานผ่านกลไกจังหวัด โดยใช้ชื่อว่า  คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท ( คปอ.จ.ชัยนาท ) มีเป้าหมายหลักให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง กำหนดอนาคตตนเอง  “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี สุขภาพดี หนี้ลด ”  มียุทธศาสตร์สำคัญในการเคลื่อนงานดังนี้ 

ยุทธศาสตร์ที่ 1     พัฒนาศักยภาพแกนนำ(พัฒนาคน)

ยุทธศาสตร์ที่ 2     การพัฒนาระบบข้อมูล

ยุทธศาสตร์ที่ 3     พัฒนาพื้นที่รูปธรรม 

ยุทธศาสตร์ที่ 4     การสื่อสารสู่สาธารณะ

ยุทธศาสตร์ที่ 5     การแก้หนี้


ดร. จรรยา  กลัดล้อม    ประธานคณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท  กล่าวว่า การพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาทนั้น เริ่มจากปี 2540  จนกระทั้งมาถึงปี งบประมาณ 2560  จังหวัดเน้นการพัฒนาพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ที่  3  ด้านการพัฒนาพื้นที่รูปธรรม  โดยยึดแนวทางการพัฒนาตำบลให้เข้มแข็งเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะทำงานฯ มีแนวคิดร่วมกันว่าตำบลจะมีความเข้มแข็งได้นั้น ต้องมีกลไกที่เข้มแข็ง และมีแผนพัฒนาที่ชัดเจนและมีส่วนร่วมของชุมชน  และที่สำคัญต้องสามารถผลักดัน             

      แผนพัฒนาให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคี ที่ให้การหนุนเสริมพื้นที่ได้  และเนื่องจากการสรุปบทเรียนการทำงานของปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีหน่วยงานที่ให้การหนุนเสริมเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาตำบล  คณะทำงานฯ จึงเสนอแผนการปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่หนุนเสริม  เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, พัฒนาชุมชน  ในการพัฒนาและปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาตำบลในพื้นที่เป้าหมาย 13 พื้นที่  และคาดหวังในการที่จะพัฒนาแผนของขบวนชุมชนให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคี ได้ โดยรูปธรรมการขับเคลื่อนงานนี้ จังหวัดจะนำไปเป็นต้นแบบแก่พื้นที่คงเหลือต่อไป 

           กลไกในการขับเคลื่อนงาน  มีองค์ประกอบของกลไกที่เป็นคณะทำงานของจังหวัดชัยนาท   ประกอบด้วย  คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท , คณะทำงานระดับตำบล , หน่วยงาน ภาคีที่ให้การหนุนเสริม เช่น  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาชุมชน  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนโดยสำนักงานภาคกลาง   โดยส่วนของสถาบันฯ  จะมีบทบาทในการหนุนเสริมให้เกิดกลไกระดับภาคในการกำหนดทิศทาง เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่จัดการตนเองระดับตำบล,จังหวัด และมอบหมายเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติการเป็นคณะทำงานฯขับเคลื่อนงาน ซึ่งคณะทำงานฯ ก็จะมีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมเชื่อมโยงกลไกระดับจังหวัด  กำหนดเป้าหมาย และพัฒนาพื้นที่ตำบล, ร่วมออกแบบกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล,  สร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมเพื่อพัฒนาแกนนำ,ร่วมปฏิบัติการเรียนรู้  เติมเทคนิค วิธีการตามขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล, ประสานเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนกับหน่วยงานภาคีให้สามารถบูรณการแผนพัฒนาร่วมกัน,แก้ไขข้อติดขัดให้พื้นที่ตำบลสามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการที่กำหนดร่วมกัน , เชื่อมโยงให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับกลุ่มจังหวัด ( นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ) 

ตามไปดู!คนชัยนาทจัดขบวนชุมชนเขียนแผนแก้จนได้จริง

 

ตามไปดู!คนชัยนาทจัดขบวนชุมชนเขียนแผนแก้จนได้จริง

     กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล   ตามที่คณะทำงานฯ ได้ออกแบบร่วมกันในการขับเคลื่อนงานมี รายละเอียดขั้นตอนดังนี้ 

1. คณะทำงานฯ ร่วมกำหนดเป้าหมาย   ออกแบบกระบวน  ผลลัพธ์ การจัดทำแผนพัฒนาตำบล พร้อมคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย

2. ประชุมสร้างความเข้าใจพื้นที่ ถึงเป้าหมาย แนวทางการพัฒนาพื้นที่จัดการตนเอง ,กำหนดพื้นที่เรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล,จัดทำแผนปฏิบัติการระดับตำบล

3. พัฒนาศักยภาพทีมทำงานและพื้นที่ตำบลผ่านเวทีเรียนรู้  โดยแบ่งออกเป็น   2  ลักษณะ  คือ การพัฒนาแกนนำระดับจังหวัด มีเวทีอบรมพัฒนาเติมเต็มกระบวนการวิเคราะห์และจัดทำแผนพัฒนาตำบล  และ  การพัฒนาแกนนำท่ามกลางการปฏิบัติการจริง  โดยมีเวทีเรียนรู้  3  พื้นที่ แยกตามบริบทพื้นที่ใกล้เคียงกัน  เนื้อหาคือการปฏิบัติการตามกระบวนการจัดทำแผนที่ออกแบบร่วมกัน    มีเวทีสรุปผลเรียนรู้แลกเปลี่ยนหลังปฏิบัติการเพื่อสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนงาน   

4. ปฏิบัติการตามขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนา  ประกอบด้วย 

     4.1 การสร้างความเข้าใจเป้าหมาย  ทีมทำงานในระดับตำบล พร้อมออกแบบแนวทางการขับเคลื่อนงาน กำหนดแผนปฏิบัติการ 

    4.2  ประชุมสร้างความเข้าใจเป้าหมาย แนวทางการขับเคลื่อนกับพื้นที่เป้าหมาย ภาคี ที่หนุนเสริม เช่น พัฒนาสังคมฯ พัฒนาชุมชน  ท้องถิ่นจังหวัด  องค์การบริหารส่วนตำบล

     4.3. เปิดเวทีวิเคราะห์ตำบล  ซึ่งในเวทีมีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภารกิจของหน่วยงานภาคี และเปิดตัวสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานในพื้นที่  “รู้เขารู้เรา ” ร่วมถึง สร้างความเข้าใจ/กำหนดเป้าหมาย ขั้นตอน  กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้สภาฯ เป็นเวทีกลางในระดับตำบล  มีองค์ประกอบของทุกภาคส่วน เช่น  แกนนำสภาฯ  ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคีพัฒนาในพื้นที่ ร่วมกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการ กำหนดบทบาท/หน้าที่  กำหนดแผนการเคลื่อนงานในตำบล

   4.4 จัดกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบลอย่างมีส่วนร่วมในตำบล

       - จัดทำข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐาน บริบทตำบล  ข้อมูลการวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง  โอกาส  อุปสรรค ข้อมูลกลุ่มองค์กร  กลไกการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ตำบล ฯลฯ 

       - ยกร่างแผนพัฒนา  ทีมทำงานชุดเล็กของตำบลนำข้อมูลที่ได้ และผลที่ได้จากการวิเคราะห์ รวมถึงแผนพัฒนาที่ชุมชนอยากแก้ไข มายกร่างเป็นแผนพัฒนา 

       - เปิดเวทีประชาคมแผนระดับหมู่บ้าน/ตำบล  

         - เติมเต็มแผนพัฒนา/จัดทำรูปเล่ม
  4.5. เปิดเวที เชื่อมโยง/นำเสนอแผนต่อหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง  เป็นการเปิดเวที “ถาดร่วม”  เพื่อนำเสนอแผนพัฒนาที่ขบวนชุมชนในระดับตำบลได้จัดทำ    เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนเติมเต็ม พร้อมยื่นเสนอแผนเพื่อบรรจุในแผนพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4.6. ติดตามแผนการเชื่อมโยง/ประเมินผล

 5. สรุปผลการขับเคลื่อนตามกระบวนการจัดทำแผนระดับจังหวัด 
          
    ผอ.สมบัติ  คุ้มชนะ คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท  แกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนงาน เล่าถึงการทำงานและผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากการขับเคลื่อนงานตามกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล  คือ แกนนำได้เรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบลอย่างมีส่วนร่วม, ได้เรียนรู้เทคนิคการยื่นเสนอแผนต่อหน่วยงานภาคี มีการสรุปบทเรียนเติมเต็มกันและกันระหว่างทีมทำงาน สุดท้ายเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดร่วมกันของจังหวัด คือ ได้แผนพัฒนาระดับตำบล มีรูปธรรมการเคลื่อนงานที่ชัดเจน เป็นต้นแบบให้กับตำบลอื่น ๆ ในจังหวัดได้ แผนสามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับท้องถิ่นบางตำบลเสนอขอรับงบกับ พมจ.ได้ และ จังหวัดจะนำแผนดังกล่าวรวบรวมสู่กระบวนการพัฒนาแผนระดับจังหวัดเป็นการเดินหน้าพัฒนาขบวนให้เป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับกับหน่วยงานภาคีภาครัฐ สร้างความภาคภูมิใจให้กับขบวนภาคประชาชน   จุดสำคัญที่ทำให้กระบวนการนี้สำเร็จที่เห็นชัดเลย คือ ปีนี้เราเชื่อมโยงกับภาคีตั้งแต่ขาขึ้น หมายถึงชวนมาร่วมคิด  ร่วมทำตั้งแต่เริ่มกระบวนการ  ดังนั้นแผนเราเลยได้รับการยอมรับและสามารถผลักดันเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาของท้องถิ่นได้   อย่างไรก็ดีกระบวนการที่เรียนรู้นี้ยังมีข้ออ่อนที่เราพบ เช่น ในระดับพื้นที่เราพบว่า ชุมชนไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่ค่อยให้ความคิดเห็น ส่วนใหญ่มักนั่งฟัง  หรือข้อเสนอในการจัดทำแผนยังเป็นแผนปัจเจกไม่ค่อยมองภาพรวมในระดับตำบล  ในแต่ละพื้นที่มีความยากง่ายในการดำเนินการตามกระบวนการไม่เท่ากัน ส่วนในระดับจังหวัดกับทีมทำงานพบว่าเราต้องพัฒนาทีมเพื่อมาหนุนเสริมกำลังระดับจังหวัดให้มากขึ้น ซึ่งเราก็ดำเนินการอยู่แต่อาจต้องให้เวลากับคนรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์ในการเดินเวทีหนุนเสริมพี่น้องระดับตำบล  เทคนิควิธีการการพูดคุยกับชาวบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญที่ยังคงต้องเติมเต็ม 

            ดร.จรรยา  กล่าวช่วงท้ายว่า  การจัดทำแผนพัฒนาไม่ใช่เรื่องยากหากได้ทีมงานและพื้นที่ที่มีความตั้งใจจริงจังหวัดชัยนาทโชคดีที่ปีนี้ได้ทีมทำงานที่มีความมุ่งมั่น รวมถึงพื้นที่ที่มีความตั้งใจ และกำหนดทิศทางในการเดินงานร่วมกับภาคีตั้งแต่แรกทำให้ทุกตำบลได้รับการขานรับที่ดีจากท้องถิ่น แผนงานหลายแผนสามารถบรรจุอยู่ในแผนของท้องถิ่น    ในส่วนของจังหวัดแผนงานหลายด้านได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐ  เช่น  ได้รับการหนุนเสริมในการพัฒนาศักยภาพขบวนฯ จากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,ได้รับงบยุทธศาสตร์จังหวัดเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของขบวนชุมชน  ทั้งนี้จังหวัดเองก็ใช้เทคนิคเดียวกันคือ “ร่วมคิด  ร่วมทำ ” เป็นผลให้ขบวนจังหวัดเองก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากหน่วยงาน ซึ่งเป็นกำลังใจที่ดีให้กับขบวนได้ขับเคลื่อนงานต่อไป

 

ตามไปดู!คนชัยนาทจัดขบวนชุมชนเขียนแผนแก้จนได้จริง

 

ตามไปดู!คนชัยนาทจัดขบวนชุมชนเขียนแผนแก้จนได้จริง