จุดเด่นข้อดี !!!! "สมชาย" แถลงชัดเคลีย ทุกข้อสงสัย ร่างพ.ร.บ.  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... (รายละเอียด)

จุดเด่นข้อดี !!!! "สมชาย" แถลงชัดเคลีย ทุกข้อสงสัย ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... (รายละเอียด)

คำแถลง นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... แถลงว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ปรากฏในอารัมภบท ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ต้องการให้มีกลไกป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาดและยังเป็นบทบัญญัติที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่ว่าต้องให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและและรับผิดชอบต่อประชาชน ​

 

จุดเด่นข้อดี !!!! "สมชาย" แถลงชัดเคลีย ทุกข้อสงสัย ร่างพ.ร.บ.  ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... (รายละเอียด)

โดยตัวอย่างของจุดเด่นหรือข้อดีของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เช่น


​๑. กำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้เป็นการเฉพาะให้มีความเหมาะสมตามลักษณะและประเภทของคดี
​๒. มีการใช้ระบบไต่สวน เพื่อให้ศาลทำหน้าที่ค้นหาความจริงของคดี อันจะเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย (รวมถึงจำเลย) ค้นหาและพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏต่อสังคมและประชาชน
​๓. กำหนดกระบวนการขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในกรณีที่มีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย
​๔. กำหนดกระบวนการอุทธรณ์ เพื่อเป็นการประกันสิทธิให้แก่จำเลยในคดี ให้สามารถ
ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่ให้ความเป็นธรรมกับจำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม เพราะไม่ได้ยึดโยงกับหลักที่ว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ แต่ให้เป็นสิทธิของคู่ความที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาขององค์คณะในชั้นต้นได้ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดองค์คณะที่ทำหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ให้กระทำโดยผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน ทำให้คู่ความมีหลักประกันว่าองค์คณะที่พิจารณาอุทธรณ์เป็น คนละองค์คณะที่พิจารณาคดีในชั้นต้น เพียงแต่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์เท่านั้น


​ในชั้นนี้ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับผลทางกฎหมายและประเด็นที่มีการให้ความสนใจ ดังนี้
​๑. การพิจารณาคดีอาญาโดยไม่มีตัวจำเลยหรือที่เรียกกันว่าพิจารณาคดีลับหลังจำเลย 
ไม่สอดคล้องกับความเป็นสากล เห็นว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แม้จะกำหนดว่า “ในคดีอาญา บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าตน”  แต่หลักดังกล่าวก็มีข้อยกเว้น คือ ในกรณีที่จำเลยหลบหนี กล่าวคือ 
ถ้ากฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเป็นผู้เลือก แต่จำเลยปฏิเสธที่จะใช้สิทธิดังกล่าวเอง เช่น ไม่ยอมมาศาล หรือหลบหนีคดีไปเอง การพิจารณาลับหลังจำเลยก็สามารถกระทำได้ ถ้าหากได้มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและความผิดที่ถูกกล่าวหา
และกระบวนพิจารณาให้จำเลยทราบอย่างชัดเจนแล้ว มีการเปิดโอกาสให้จำเลยมีทนายความมาต่อสู้
คดีแทน รวมถึงเปิดโอกาสให้จำเลยได้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ หากจำเลยมีความประสงค์ 
ซึ่งหลักการดังกล่าวก็ได้มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าประเทศอื่น ๆ ก็มีการนำหลักการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยมาใช้ด้วย เช่น ประเทศฝรั่งเศส

   ​๒. สำหรับมาตรา ๒๔/๑ โดยผลทางกฎหมายแล้ว เมื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่หลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี กฎหมายกำหนด
มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีหรือจำเลยหลบหนีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ส่วนกรณี
มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ กฎหมายมิให้นำเรื่องอายุความลงโทษตามมาตรา ๙๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ ดังนั้น หากผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยแล้วแต่กรณี หลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดี หรือหลบหนีไปหลังศาล
มีคำพิพากษา ไม่ว่าจะหลบหนีไปนานเท่าใด ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นโทษจำคุกนั้นในอนาคต
​๓. ผลทางกฎหมายของมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ สามารถแยกพิจารณาได้ ดังนี้
​​- มาตรา ๒๕ เป็นการวางหลักว่าการฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยหลักต้องมีตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาล ดังนั้น โดยหลักแล้วโจทก์ต้องนำตัวจำเลยมาฟ้องต่อศาล
​- มาตรา ๒๖ เป็นข้อยกเว้นของมาตรา ๒๕ ในการฟ้องคดีโดยไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหา
มาศาล เพื่อไม่ให้คดีเกิดปัญหาติดขัด แต่อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินการตามมาตรา ๒๖ ได้ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การที่ได้เคยมีการออกหมายจับไว้แล้ว มีพฤติการณ์ที่ว่าจำเลยประวิงคดี หรือไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันควร
​- ถ้าศาลรับฟ้องไว้โดยไม่มีตัวจำเลยแล้ว หากจะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยยังต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ กล่าวคือ ศาลจะต้องออกหมายเรียก ออกหมายจับ และเมื่อออกหมายจับแล้วไม่ได้
ตัวจำเลยมาภายใน ๓ เดือน ศาลจึงจะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ได้ตัดสิทธิที่จำเลยจะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีก่อนมีคำพิพากษา หรือจะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตน
​๔. สำหรับประเด็นเรื่องบทเฉพาะกาล มาตรา ๖๗ มีผลทางกฎหมายว่า คดีใดที่ยื่นฟ้องไว้ก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ หากคดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล กระบวนการที่จะดำเนินการต่อไปก็ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการใดที่ได้ทำไปก่อนแล้วย่อมไม่เสียไป ดังนั้น บรรดาคดีที่ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วย่อมจะไม่ได้รับผลจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลย่อมนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไปใช้บังคับ
​ในท้ายนี้ขอยืนยันว่า เป้าหมาย คือ การให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ทุกฝ่าย เพราะกฎหมายนี้บังคับใช้กับนักการเมืองทุกคน และเพื่อให้ข่าวตรงกัน ป้องกันการบิดเบือน