จัดหนักเอาผิดคนโกงภาษี ออกใบกำกับภาษีปลอม เริ่มใช้ 1 ก.ย.นี้ เผยผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" หาช่องเลี่ยงหลายราย

จัดหนักเอาผิดคนโกงภาษี ออกใบกำกับภาษีปลอม เริ่มใช้ 1 ก.ย.นี้ เผยผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" หาช่องเลี่ยงหลายราย

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การออกกฎหมายประมวลรัษฎากรในการเอาผิดทางอาญาจำคุกกับผู้ประกอบการที่ใช้ภาษีปลอมก็เพื่อไม่ต้องการหนุนให้มีคนโกง ซึ่งจากเดิมกรมสรรพากรจะลงโทษแค่เพียงให้ผู้เสียภาษีนำภาษีมาชำระให้เต็มจำนวนเท่านั้น ที่ผ่านมากรมสรรพากรยังตรวจพบว่า ผู้เสียภาษีโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังจัดทำบัญชีเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง


“ที่เราพบมากคือการใช้ใบกำกับภาษีปลอมมาเป็นรายจ่าย เพื่อให้รายได้ลดลง ยกตัวอย่าง บริษัทมีกำไร 2 ล้านบาท อยากทำบัญชีให้กำไรลดลง ก็ไปหาบิลหรือใบกำกับภาษีปลอมมาเป็นรายจ่าย เพื่อลดกำไร เมื่อเราพบ ก็ให้มาจ่ายภาษีให้ครบ แต่ต่อไป เราจะไม่อุดหนุนให้คนโกง เราจะใช้คดีอาญาเข้าไปดำเนินการเลย” นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับโทษอาญาที่กรมสรรพากรกำหนด คือ  หากพบผู้เสียภาษีใช้ใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ จะได้รับโทษจำคุกถึง 7 ปี และรวมกันไม่เกิน 20 ปี และหากพบสำนักงานบัญชีมีส่วนร่วมในเรื่องการสนับสนุนดังกล่าวก็จะต้องโทษในลักษณะเดียวกัน นอกจากจะกำหนดบทลงโทษอาญาแล้ว ขณะนี้กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการเตรียมระบบตรวจสอบ โดยจะใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงจากการเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการ เช่น การชำระเงินผ่านระบบบาร์โค้ด การชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการลงบัญชีของลูกค้าไปในตัวแล้ว ดังนั้นต่อไปสำนักงานบัญชี ก็จะไม่ต้องเรียกเอกสารของลูกค้าเพื่อมาจัดทำบัญชี
 


"กรมสรรพากรได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานบัญชีทั่วประเทศเข้ารับฟังถึงแนวทางการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง เนื่องจากพบว่าสำนักงานบัญชีมีลูกค้าที่อยู่ในความดูแลกว่า 3 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วัตถุประสงค์ที่เราเชิญสำนักงานบัญชีมาให้คำแนะนำ เพราะพบข้อมูลว่า ลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานบัญชีนั้น ยังยื่นบัญชีไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าเราจะออกมาตรการไปหลายเรื่องแล้วก็ตาม” นายประสงค์ กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า กรมสรรพากรกับสำนักงานบัญชี จะทำเป็นเหมือนตะเกียบ ที่จะช่วยคีบลูกค้าให้มีความเข้มแข็ง โดยสิ่งที่ต้องทำคือ เข้าไปแนะนำว่าความเสี่ยงมีอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็น เช่น ลงรายจ่ายไม่ถูกต้อง หรือนำมีรายจ่ายส่วนตัวเข้าไปรวมในการจัดทำบัญชีด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้กรมสรรพพากรก็หวังว่า ตรวจแล้วไม่พบความผิด