สกัด “เหลือบ-ไร” หากินรัฐวิสาหกิจ  ครม.ตู่ออกกฎเหล็กเบรก “นักการเมือง-สนช.” เข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ประเดิม 20 แห่งก.ค.นี้

สกัด “เหลือบ-ไร” หากินรัฐวิสาหกิจ ครม.ตู่ออกกฎเหล็กเบรก “นักการเมือง-สนช.” เข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ประเดิม 20 แห่งก.ค.นี้

หลังถกเถียงและหาแนวทางในการป้องกัน “เหลือบ-ไร” เข้ามาหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจยาวนาน ล่าสุดครม.ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ ก็มีมติ ห้ามนักการเมืองรวมไปถึงสนช.เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ  โดยล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 19 ก.ย. 2560  ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ สำหรับรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ที่คณะกรรมการกำลังจะครบวาระและต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เข้าไปดำเนินการ  ทั้งนี้จากข้อมูลที่โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)  เสนอครม.ระบุว่าในเดือนก.ค.เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี จะมีบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ครบวาระการทำงานจำนวน 20 แห่ง จากรัฐวิสาหกิจของไทยทั้งหมด  56 แห่ง  โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจชุดใหม่นั้น จะต้องทำตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากครม.ในวันนี้ทั้งหมด  

“ นายกฯได้สั่งการในการประชุมว่า การแต่งตั้งบอร์ดวิสาหกิจใหม่ที่จะครบวาระในเร็วๆ นี้  จะต้องเป็นไปตามกรอบแนวทางใหม่นี้เท่านั้น  โดยกรอบแนวทางใหม่นี้จะห้ามไม่ให้สมาชิกสนช.  ข้าราชการการเมืองและรวมถึงผู้ดำรงค์ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทางการเมืองทั้งหมดเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตรงนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้นักการเมือง ฝ่ายการเมือง และผู้ไม่ประสงค์ดี เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายหรือหาประโยชน์โดยมิชอบในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

สำหรับกรอบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจใหม่นั้น จะต้องมีคุณสมบัติที่เป็นสาระสำคัญ 9 ข้อ ประกอบด้วย  1 ให้นำสมรรถนะหลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ในการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 การแต่งตั้งกรรมการอื่นที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่ง จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การณ์ ทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจนั้น 3 ห้ามมิให้แต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่น เว้นแต่กรณีมีกฎหมายกำหนดหรือกรณีรัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอยู่ 4 ไม่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงค์ตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ  5 ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อผลประโยชน์ของราชการ 6 ให้มีผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อทำเชื่อมโยงนโยบาย

จากกระทรวงเจ้าสังกัด กรณีจำเป็นสามารถแต่งตั้งเพิ่มได้ไม่เกิน 1 คน  7 ในกรณีผู้ดำรงค์ตำแหน่งจะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนต้องทำเป็นคำสั่งมอบอำนาจเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบชัดเจนและต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่  8 กรณีกำหนดให้มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้หน่วยงานนั้นแต่งตั้งบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเท่านั้น 9 ส่วนกรณีที่กฎหมายการจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ก็ให้แต่งตั้งจากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเท่าน้ัน ไม่สามารถแต่งตั้งอดีตข้าราชการเข้ามาได้ เป็นต้น

สำหรับกรรมการในคณะกรรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะครบวาระในเดือนก.ค. ประกอบด้วย  การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  องค์การตลาดเพื่อการเกษตร  เป็นต้น