ย้อนอดีต.... “วิบากกรรม” ผู้นำไทย   ล้วนจากไปพร้อม... “รอยแผล”

ย้อนอดีต.... “วิบากกรรม” ผู้นำไทย ล้วนจากไปพร้อม... “รอยแผล”

ขึ้นชื่อว่าได้เป็นนายกฯไม่ว่าจะได้อำนาจจากฉันทามติหรือได้อำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน   หรือได้อำนาจมาจากการปฏิวัติทำรัฐประหาร  แต่เมื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศเป็นผู้บริหารสูงสุดบนตึกไทยคู่ฟ้า ณ ทำเนียบรัฐบาล  ทุกทางเข้าล้วนโรยด้วยกลีบกุหลาบรอยยิ้มและเสียงชื่นชมสรรเสริญ  แต่ทางออกทางกลับบ้านของนายกฯของผู้นำประเทศส่วนใหญ่ล้วนเต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนาม ใครไม่เป็นเคยเป็นนายกฯไม่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของประเทศอาจเข้าไม่ถึงอาจฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่ประโยคสำนวนไทยที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” นั้นเป็นจริงและได้รับการพิสูจน์มาแล้วนับไม่ถ้วน

 อดีตก่อนผันตัวมารับอาชีพนักการเมืองหรือก่อนจะจับผลัดจับผลูก้าวมาเป็นนายกฯ  ผู้นำหลายคนเคยมีเส้นทางชีวิตเส้นทางการงานสดใสไร้รอยด่างพร้อยก่อนเข้าสู่ถนนการเมือง บางคนเป็นนักธุรกิจประสบความสำเร็นชนิดที่ธุรกิจเป็นหมื่นๆล้าน  บางคนเป็นผู้กว้างขวางยิ่งใหญ่บารมีแผ่ไพศาลระดับชาติ  บางคนเป็นผู้รับเหมารับงานเป็นหลักหลายพันล้าน  บางคนเป็นนายทหารระดับสูงเป็นสุดยอดผู้นำของกองทัพ  บางคนเป็นอดีตข้าราชการซี 11 เป็นถึงผู้พิพากษาสูงสุดถึงปลัดกระทรวง ฯลฯ  แต่ทุกคนทุกชื่อที่ว่าเมื่อมาเป็นนายกฯและเดินจากไป  ทุกคนล้วนเจ็บล้วนมีรอยแผลใหญ่บ้างเล็กบ้างแต่ก็เกิดรอยเหวอะหวะลึกตื้นไม่ต่างกันแล้วแต่กรรมที่ทำ   ลองไปดูลองไปไล่เรียงรายชื่อผู้นำประเทศไทยพร้อมรอยแผลรอยด่างที่เกิดขึ้นหลังพ้นจากตำแหน่งสร.1

เริ่มจาก “ หลงจู๊เติ้ง ” นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกฯคนที่ 21 อยู่ในตำแหน่ง 501 วัน ตั้งแต่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง  25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539  อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย  ถูกโจมตีว่าบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพ โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจมื่อพ.ศ. 2539 ในหลายเรื่อง  แต่ไฮไลต์คือการโดนขุนพลฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ใช้กระดาษแผ่นเดียวโจมตีเรื่องสัญชาติบิดาพาดพิงว่านายบรรหารไม่ได้เป็นคนไทย

 จากนั้นนายบรรหารถูกบีบให้ลาออก ที่สุดทนแรงกดดันไม่ไหวจึงประกาศยุบสภา   “บิ๊กจิ๋ว หวานเจี๊ยบ” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯคนที่ 22 อยู่ในตำแหน่ง 349 วัน ตั้งแต่  25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ถึง 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540  อดีตผบ.ทบ.และอดีตผบ.ทหารสูงสุดก่อนลาออกจากราชการมาตั้งพรรคความหวังใหม่  ถูกโจมตีเรื่องลอยตัวค่าเงินบาทเป็นเหตุให้เกิดฟองสบู่แตกจนนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 40  หรือ  “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ภายหลังถูกคนชั้นกลางออกมาประท้วงชุมนุมขับไล่กันยาวเหยียดบนถนนสีลมที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง  “บิ๊กแม้ว นายใหญ่ดาวเทียม” นายทักษิณ ชินวัตร นายกฯคนที่ 23 อยู่ในตำแหน่ง 2 สมัย 2,048 วัน  ตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ถึง 11  มีนาคม พ.ศ. 2548  และ  11 มีนาคม พ.ศ. 2548 ถึง 19 กันยายน พ.ศ. 2549

อดีตเจ้าพ่อธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่อย่างชินคอปเปอเรชั่นส์และเครือข่าย ถูกโจมตีและโดนกล่าวหาในหลายเรื่อง อาทิ ซุกหุ้น แก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการขายหุ้นของตัวเองและครอบครัว  เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ประพฤติมิชอบกรณีขายที่ดินย่านรัชดา  เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร รวมถึงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง แทรกแซงองค์กรอิสสระและระบบราชการที่สุดถูก

“บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.นำคณะนายทหารภายใต้ชื่อคมช.เข้ารัฐประหารยึดอำนาจระหว่างอยู่ต่างประเทศ   มาถึง “บิ๊กแอ้ด หมวกแดง”

 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯคนที่ 24  อยู่ในตำแหน่ง 485 วัน  ตั้งแต่ 1ตุลาคม พ.ศ. 2549 ถึง 29 มกราคม พ.ศ.2551  อดีตผบ.ทบ. ผบ.ทหารสูงสุด และองคมนตรีถูกโจมตีเรื่องการรุกที่ป่าสงวนเขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา  โดนนปช.และพรรคเพื่อไทยนำมาขยายเป็นประเด็นในการรุกไล่ในช่วงที่เป็นนายกฯ

สุดท้ายคืนที่ดินทั้งหมดให้กับทางการหลังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชี้ว่าเป็นที่ป่าสงวน   ต่อด้วย “ลุงหมัก ชิมไปบ่นไป” นายสมัคร สุนทรเวชน นายกฯคนที่ 25 อยู่ในตำแหน่ง 223 วัน  ตั้งแต่ 29 มกราคม พ.ศ.2551 ถึง 9 กันยายน พ.ศ.2551  อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทยและหัวหน้าพรรคพลังประชาชน  ถูกโจมตีว่ากระทำการต้องห้ามอันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ กรณีรับเงินค่าจ้างในการเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ รายการ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ที่สุดก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนด้วยเสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 จากการกระทำอันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญทำให้ความเป็นนายกฯสิ้นสุดลง   

จากนั้นเป็นกรณี “นายกฯสมชาย” นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯคนที่ 26 อยู่ในตำแหน่ง 75 วัน ตั้งแต่ 18 กันยายน พ.ศ.2551 ถึง 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 อดีตผู้พิพากษาศาลหลายตำแหน่ง อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงแรงงาน อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชาชน  ถูกโจมตีเรื่องการบริหารงานเป็นนายกฯคนเดียวที่ไม่ได้เข้ามาทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเพราะโดนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมชุมนุม พ้นสภาพจาการเป็นนายกฯหลังพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคและตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี   มาถึง “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชชาชีวะ นายกฯคนที่ 27 อยู่ในตำแหน่ง 961 วัน ตั้งแต่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถึง 5 สิงหาคม พ.ศ.2554  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ถูกโจมตีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บล้มตายของคนเสื้อแดงและนปช.ระหว่างการชุมนุมใหญ่เมษายน พ.ศ.2552

รวมถึงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553  ถูกโจมตีว่าหนีทหารไม่ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ทนแรงกกดดันจากการชุมนุมขับไล่ไม่ไหวที่สุดจึงประกาศยุบสภาพ.ศ.2554 ก่อนพ่านแพ้การเลือกตั้งในเวลาต่อมา  ปิดท้ายที่ “นายกฯหญิงประวัติศาสตร์” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯคนที่ 28 อยู่ในตำแหน่ง 1,006 วัน ตั้งแต่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554 ถึง 7 พฤษภาคม พ.ศ.2557 อดีตปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 พรรคพลังประชาชน เป็นนายกฯหญิงประวัติศาสตร์คนแรกของไทย ถูกโจมตีเรื่องความสามารถในการบริหารประเทศ

 โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าเป็นนอมินีเป็นหุ่นเชิดของพี่ชาย รวมถึงการแก้ปัญหาอุทกภัยบกพร่องจนเกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ  และการสร้างความเสียหายมหาศาลจากนโยบายรับจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศเสียงบประมาณหลายแสนล้านบาท

ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประท้วงด้วยมวลชนหลายแสนคนยาวนานนับเดือนก่อนตัดสินใจยุบสภา และพ้นสภาพจากการเป็นนายกฯรักษาการหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มีความผิดกรณีย้ายเลขาฯสมช.