‘กองเชียร์ปู’ ควรอ่านก่อนตัดสินใจมาศาล กฎหมายหมิ่น – ละเมิดอำนาจ ถึงขั้น ‘ซังเต’

‘กองเชียร์ปู’ ควรอ่านก่อนตัดสินใจมาศาล กฎหมายหมิ่น – ละเมิดอำนาจ ถึงขั้น ‘ซังเต’

การปลุกระดมมวลชนมาให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหาย อย่างที่แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนกำลังพยายามจุดอาจไม่ง่ายเสียแล้ว
 หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาเตือนว่า อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 
“จะมาต่อต้านนอกศาลอย่างนี้ไม่ได้ ต้องดูว่าหมิ่นศาลอะไรกันหรือเปล่า เห็นว่าทางฝ่ายศาล ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมกำลังดูอยู่ พูดจาให้ร้ายอะไรต่างๆ หรือหมิ่นศาลไม่ได้นะ ผมจะบอกให้ ผมเป็นห่วงประชาชนที่ไปร่วมในวันพิจารณาคดี ต้องระวังด้วย ถ้าไปร่วมแล้วเดือดร้อนขึ้นมาผมก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรเหมือนกัน เพราะมันผิดกฎหมาย” 

 

 

 

ลำพังการให้กำลังใจธรรมดาเหมือนที่แล้วมา อาจไม่ใช่ความผิดอะไร หากแต่การปลุกระดมมามีนัยแอบแฝงซ่อนเร้น ประชาชนที่มาร่วมอาจต้องโทษต้องคดีกันได้เช่นเดียวกัน เพราะมีกฎหมายเรื่องนี้กำหนดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
โดยใน “ประมวลกฎหมายอาญา” ได้กำหนดเรื่องการ “ดูหมิ่น” และ “ละเมิดอำนาจศาล” เอาไว้หลายวรรคหลายตอน ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 198 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
 เช่นเดียวกับ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” ในมาตรา 30  ที่ก็บัญญัติเรื่องนี้เอาไว้เช่นกันว่า “ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ หรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ... ”
 นอกจากนี้ ในมาตรา 31 กฎหมายเดียวกัน ยังได้ระบุฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลว่า “ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 1.ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
2.เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
3.เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น 
4.ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54
5.ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277”
 ขณะที่มาตรา 33 กำหนดบทลงโทษไว้ว่า  "ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจสั่งลงโทษโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
 (ก) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
(ข) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การไล่ออกจากบริเวณศาลนั้นให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาหรือภายในระยะเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร เมื่อจำเป็นจะเรียกให้ตำรวจช่วยจัดการก็ได้ ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้นให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท"
กรณีการชุมนุม หรือการคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยกับศาล ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์ เคยมีผู้ถูกดำเนินคดีมาแล้วในอดีต เช่น  เหตุการณ์ที่ นางดารุณี กฤตบุญญาลัย นางสุดสงวน สุธีสร และนายพิชา วิจิตรศิลป์ นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีเพิกถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่ง วางพวงหรีดและชูป้ายข้อความ ทำให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแพ่ง ได้ยื่นฟ้องทั้ง 3 คน ฐานละเมิดอำนาจศาล

 

 

 

 ก่อนที่จะมีคำพิพากษาศาลฎีกา ให้จำคุกนางสุดสงวน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นเวลา 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ขณะที่นางดรุณีนั้นอยู่ระหว่างหลบหนี ส่วนนายพิชา เสียชีวิตก่อนมีคำพิพากษา
 ดังนั้น มวลชนที่จะเดินทางมา หากจะมาก็ต้องระมัดระวังการแสดงกิริยาหรือพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง พลาดพลั้งอาจติดคุกได้ 
 และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ “แกนนำ” ที่มักจะเอาแต่ปลุกระดมมวลชน เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่กลับไม่เคยบอกหรือให้ความรู้มวลชนตัวเองเลยว่า มีโทษเหล่านี้อยู่
 คนที่จะมาอ่านแล้วก็ชั่งใจดู คุ้มหรือไม่!!?
/////